23 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ “ขนมไทย” เกี่ยวข้องอย่างไรกับเศรษฐกิจและวิถีชีวิตคนไทย
หลังจากศิลปินสาวชาวไทย “มิลลิ” ได้ทำการโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีการแสดงระดับโลกที่สหรัฐฯ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กระแส “ขนมไทย” ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากอีกครั้งหนึ่ง
5
ซึ่งพอมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราก็จะเห็นได้ว่า ขนมไทยได้แทรกอยู่ในวัฒนธรรมไทยและวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างเนิ่นนานแล้ว
📌 ขนมไทยยุคแรกเริ่ม
หนึ่งในหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรชิ้นแรกๆ ที่บันทึกความเกี่ยวข้องของวิถีชีวิตคนไทยกับขนมไทย ปรากฎอยู่ในจารึกไตรภูมิพระร่วง ที่มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง “ขนมต้ม” มีใจความว่า
“กาลวันหนึ่งพระองค์จึงให้หาเข้าหนมต้มได้ 16,000 ลูก พระองค์จึงถอดแหวนพระธำรงวงหนึ่งออกจากพระกรแห่งพระองค์ พระองค์จึงใส่เข้าในเข้าหนมนั้น”
ซึ่งเมื่อสืบย้อนอายุไปเชื่อกันว่า งานเขียนไตรภูมิพระร่วงนี้พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงประพันธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 ที่แม้ต้นฉบับดั้งเดิมไม่มีตกถอดมาถึงรุ่นปัจจุบันแล้ว แต่ก็ยังมีต้นฉบับที่พระมหาช่วยวัดปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ได้ต้นฉบับมาจากเพชรบุรี จึงจารไว้ในใบลาน 30 ผูก เมื่อปีพ.ศ. 2321
นอกจาก “ขนมต้ม” ข้างต้น อ้างอิงจากหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในศิลาจารึกโบราณ ยังมีชื่อขนมไทยปรากฏอยู่อีก 4 อย่างด้วยกัน นั่นคือ
  • 1.
    ไข่กบ (หมายถึงเม็ดแมงลัก)
  • 2.
    นกปล่อย (หมายถึงลอดช่อง)
  • 3.
    บัวลอย (หมายถึงข้าวตอก)
  • 4.
    และ อ้ายตื้อ (หมายถึงข้าวเหนียว)
ซึ่งทั้งหมดข้างต้น สะท้อนถึงส่วนประกอบที่สำคัญของขนมไทยโบราณที่มีเพียง 3 อย่าง คือ ข้าวหรือแป้ง น้ำตาล และ มะพร้าว (ซึ่งก็นำมาทำกะทิด้วย)
นอกจากนี้ วัตถุดิบข้างต้นยังมีส่วนสำคัญของ “ที่มาของคำว่าขนมด้วย” เพราะเชื่อกันว่า คำดั้งเดิมของคำว่าขนม คือ “ข้าวหนม” ที่แปลว่าข้าวหวาน พอพูดเร็วๆ เข้าก็กลายมาเป็นคำว่าขนมอย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน
📌 ยุคทองของขนมไทย
ยุคทองของขนมไทยเกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ในช่วงปีพ.ศ. 2199 – 2231) ที่หลายคนจะรู้เพียงว่า ยุคนี้เป็นหนึ่งใน “ยุคทองของวรรณกรรมไทย” เท่านั้น
แต่แท้จริงแล้ว ในยุคนี้ก็เป็น “ยุคทองของขนมไทย” ด้วย ซึ่งเหตุผลสำคัญมาจากการเปิดรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศผ่านการค้าขาย ที่ในยุคสมัยของพระองค์นี่เอง เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่อาณาจักรอยุธยามีความรุ่งโรจน์ทางด้านการค้า
และเป็นช่วงที่อยุธยาก้าวขึ้นเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดในโลกกว่า 1,000,000 คน ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นตัวเลขประชากรที่มหาศาลมาก
การเปิดรับชาวต่างชาติในยุคสมัยนั้น ยังรวมถึงการเปิดรับข้าราชบริพารที่เป็นชาวต่างขาติด้วย ซึ่งคนที่สำคัญในยุคนี้ ก็คือ พระยาวิไชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ที่ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญในราชสำนัก ถึงขั้นเป็นสมุหนายก
และก็เป็นคุณหญิง ภริยาของพระยาวิไชเยนทร์ อย่าง “ท้าวทองกีบม้า” นี่เอง ที่เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาขนมไทยขึ้นไปอีกขั้น
โดยท้าวทองกีบม้า หรือ มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา (มักจะถูกเรียกสั้นๆ ว่ามารี กีมาร์) มีเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น มีหลักฐานบันทึกกันไว้ว่า เป็นคนที่ช่วยนำความรู้การทำอาหารแบบโปรตุเกส เข้ามาเสริมเข้าไปในตำรับขนมหวานชาววัง
และก็มีการเพิ่มวัตถุดิบสำคัญ คือ ไข่ เข้าไปประกอบกับ 3 วัตถุดิบหลักเดิมของขนมไทย โดยขนมที่เชื่อว่า ท้าวทองกีบม้าเป็นผู้ช่วยพัฒนาขึ้นมาก็มักจะมีส่วนผสมของไข่นั่นเอง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองโปร่ง หม้อแกง เป็นต้น
แต่ก็มีกระแสคัดค้านเช่นกันที่บอกว่า ท้าวทองกีบม้าไม่ใช่ผู้แรกที่นำวิธีการทำขนมของโปรตุเกสมาเผยแพร่ราชสำนัก แต่กรรมวิธีเหล่านี้ถูกนำเข้ามากับลูกเรือชาวโปรตุเกส ที่เป็นชาติตะวันตกแรกที่ติดต่อกับสยามก่อนหน้าแล้ว
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าวิธีการทำขนมที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ จะถูกส่งต่อมาด้วยวิธีใด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปิดประทศค้าขายและรับวัฒนธรรมจากชาวต่างชาติมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาขนมไทยในสมัยนั้น
📌 ขนมไทยและประเพณี
ขนมไทยมีบทบาทต่อประเพณีและวิถีชีวิตของคนไทยไม่น้อย สะท้อนผ่านงานประเพณีและงานเขียนทั้งของราชวงศ์และปุถุชนคนธรรมดาที่ก็มีการนำขนมเข้ามาใช้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่ถูกบันทึกไว้ในช่วงรัตนโกสินทร์
 
เช่นในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี พระเจ้าน้องยาเธอในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) กล่าวไว้ว่า มีการจัดสำหรับของหวานด้วยเมื่อตอนเลี้ยงพระสงฆ์ 2,000 รูป เมื่อครั้งงานสมโภชพระแก้วมรกต
แล้วในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ก็มีพระราชนิพนธ์ “กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน” บรรยายถึงขนมไทยว่าเลิศรสเพียงใด ยกตัวอย่างบางช่วงตอน เช่น
สังขยาหน้าตั้งไข ข้าวเหนียวใส่สีโศกแสดง
เป็นนัยไม่เคลือบแคลง แจ้งว่าเจ้าเศร้าโศกเหลือ
ซ่าหริ่มลิ้มหวานล้ำ แทรกใส่น้ำกะทิเจือ
วิตกอกแห้งเครือ ได้เสพย์หริ่มพิมเสนโรย
ลำเจียกชื่อขนม นึกโฉมฉมหอมชวนโชย
ไกลกลิ่นดิ้นแดโดย โหยไห้หาบุหงางาม
กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีตำรา “แม่ครัวหัวป่าก์” ตำรากับข้าวเล่มแรกของไทยออกมา โดยคณะแม่ครัวหัวป่าก์นี้ ก็เป็นชื่อพระราชทานจากตัวพระองค์เองที่ทรงพอพระทัยในฝีมือการทำกับข้าวของแม่ครัวกลุ่มนี้อย่างมาก
ล่วงเลยมาในยุคปัจจุบัน แม้ความนิยมในขนมไทยอาจจะไม่ได้มากเหมือนแต่ก่อน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ ผู้บริโภคมีทางเลือกด้านขนมหลากหลาย และไม่มีช่องทางการโปรโมทขนมไทยเท่าที่ควร
แต่ขนมไทยก็ยังมีส่วนสำคัญกับประเพณีอย่างมีนัยสำคัญ
เช่น ประเพณีสารทเดือนสิบทางภาคใต้ ที่เป็นประเพณีแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ก็จะมีการจัดเครื่องขนมหวานด้วย ขนมที่เลือกใช้ก็เป็นความเฉพาะตัวของคนภาคใต้ เช่น ขนมพอง ขนมลา ขนมไข่ปลา เป็นต้น
และก็มียังมีความเชื่อเรื่องขนมมงคล ที่มักจะนำมาใช้ในงานแต่งงานของคู่บ่าวสาว 9 ชนิด ได้แก่
  • ทองหยิบ หมายถึง หยิบความร่ำรวย
  • ทองหยอด หมายถึง รับสินทรัพย์เงินทอง
  • ฝอยทอง หมายถึง ห่วงใยแสนพิเศษที่ยาวนานของความสัมพันธ์
  • เม็ดขนุน หมายถึง “หนุน” นำซึ่งกันและกัน
  • ทองเอก หมายถึง ความรุ่งเรืองในอาชีพการงาน เลื่อนขั้น และประสบความสำเร็จในธุรกิจ
  • ดาราทอง หมายถึง สวยงาม สถานอันสูงส่ง และการมีชื่อเสียง
  • ถ้วยฟู หมายถึง “ความฟูฟ่อง” หรือ การเจริญเติบโต
  • ขนมชั้น หมายถึง การเลื่อนชั้น หรือ ความก้าวหน้าขึ้นไปเป็นระดับๆ
แต่จากการปลุกกระแสขึ้นมาอีกครั้งโดยมิลลิ ก็จุดประกายความหวังที่อาจจะทำให้ขนมไทยกลับมาอยู่ในความนิยมบริโภคหลักอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแต่อยู่ตามงานประเพณีเป็นสำคัญเหมือนตอนนี้ และก็อาจจะไปไกลจนกลายเป็นที่นิยมกับทั่วโลกมากกว่าที่เป็นอยู่ตรงนี้ก็ได้ หากทุกคนที่เกี่ยวข้องสนับสนุนอย่างเหมาะสมต่อไป
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา