24 เม.ย. 2022 เวลา 06:30 • ประวัติศาสตร์
อาหารเช้าสองสหัสวรรษ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
หลังจากที่เมื่อคืนได้เจอเพื่อนเพื่อคุยธุระการงานกันดึกไปหน่อย เช้าวันอาทิตย์แบบวันนี้จึงรู้สึกพะอืดพะอมท้องไส้ปั่นป่วนไปหมด สิ่งแรกที่สมองสั่งจึงเป็นประโยคสั้นๆว่า ร่างกายต้องการโจ๊ก และต้องเป็นโจ๊กร้อนๆมาแก้อาการอย่างด่วน ไม่อย่างนั้นคงหัวจะปวดไปทั้งวัน แล้วทำไมต้องเป็นโจ๊กล่ะ อาจเป็นเพราะความเคยชินที่พวกเราเคยกินกันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นโจ๊กหมู ไก่ เนื้อ ทะเล เอาเป็นว่าคนไทยน้อยคนนักที่จะไม่เคยกินโจ๊ก
แม้โจ๊กจะดูคล้ายข้าวต้มเครื่องแบบไทยๆ แต่ก็ไม่ใช่ เพราะมันคนละแบบกันเลย แล้วโจ๊กเข้ามาอยู่ในวิถีของพวกเราตั้งแต่ตอนไหนกัน เดาว่าน่าจะมาพร้อมชนเชื้อสายจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับคนไทยมาหลายร้อยปี เราก็รู้กันอยู่แล้วใช่ไหมว่า โจ๊กมีที่มาจากตำรับอาหารจีน ที่แม้จะดูเป็นอาหารเมนูง่ายๆหากินได้ทั่วไป แต่โจ๊กกลับมีที่มาและพัฒนาการต่อเนื่องยาวนานมาอย่างน้อยสองพันกว่าปี
ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ก็มีเค้าความให้ตามได้ ในตำราโบราณฉบับหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า ผู้ที่ทำอาหารที่เราเรียกทุกวันนี้ว่าโจ๊กก็คือ ฉินซื่อหวังตี้ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ในแบบสำเนียงเรียกที่คนไทยคุ้นเคย จากการเป็นกษัตริย์ครองรัฐฉิน พระองค์ได้ร่วมรณรงค์สงครามรวบรวมแผ่นดินหลายรัฐให้เป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จึงนับว่าพระองค์ทรงเป็นราชาธิราชพระองค์แรกของชาวจีน (คนไทยออกเสียงคำเรียก “ฉิน” ว่า “จีน”) เรียกง่ายๆว่าทรงเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งจีนนั่นเอง
นับเป็นเวลาที่ยาวนานย้อนหลังไปถึงสองพันกว่าปีนับจากปัจจุบัน เทียบเวลาแล้วก็ร่วมยุคกับพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิแห่งชมพูทวีป ซึ่งเป็นผู้ที่ส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเชีย นับเป็นช่วงเวลาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วประมาณสามร้อยกว่าปี เอาให้ชัดไปอีกก็คือก่อนพระเยซูศาสดาของชาวคริสต์จะประสูติถึงสองร้อยกว่าปี ในช่วงเวลานั้นอาหารประเภทโจ๊กได้เกิดขึ้นมาแล้วในแผ่นดินจีน โดยจิ๋นซีฮ่องเต้ได้ทรงปรุงอาหารประเภทโจ๊กด้วยการใส่ข้าวฟ่างเป็นส่วนผสม และใช้วิธีการต้มข้าวด้วยน้ำจำนวนมากกว่าการหุงข้าวแบบปกติทั่วไป
ซึ่งประวัติศาสตร์กว่าสองพันปีของจีนและโจ๊กก็พัฒนาร่วมกันมาตลอด จนถึงสมัยราชวงศ์ชิงที่มีชาวแมนจูเป็นผู้ปกครองแผ่นดินจีน ในแผ่นดินรัชสมัยของฮ่องเต้หย่งเจิ้น (ค.ศ. 1722 - 1735) มีเหตุการณ์ความเดือดร้อนจากภัยแล้งครั้งใหญ่ พระองค์ทรงบัญชาให้มีการแจกจ่ายอาหารเพื่อช่วยเหลือราษฎร ซึ่งอาหารนั้นก็คือโจ๊ก แต่แล้วก็เกิดการคอรัปชั่นขึ้นโดยการโกงข้าวและใส่น้ำลงไปมากๆแทน ทำให้โจ๊กนั้นเจือจางเกินไป เมื่อพระองค์ทรงทราบความจึงได้บัญญัติเกี่ยวกับการต้มโจ๊กว่า ต้องมีความข้นมากพอจนปักตะเกียบลงไปแล้วตะเกียบตั้งตรงไม่ล้ม นั้นจึงเรียกว่าโจ๊กที่ถูกต้อง
โจ๊ก ไม่ใช่อาหารที่ปรุงง่ายเหมือนรูปลักษณ์หน้าตา แต่ต้องใช่ศิลปะในการทำอาหาร เคยมีนักปราชญ์สมัยราชวงศ์ชิงนามว่า หยวน เม่ย (Yuan Mei) กล่าวไว้ว่า “โจ๊กที่มีน้ำมากเกินไปและข้าวที่น้อยเกินไปไม่จัดว่าเป็นโจ๊กที่เยี่ยมยอด โจ๊กที่มีข้าวมากเกินไปและน้ำน้อยไปก็ไม่จัดว่าเป็นโจ๊กที่เยี่ยมยอดได้เหมือนกัน” การทำโจ๊กจึงต้องใช้ความสมดุลจากการปรุงที่ใส่ใจไม่น้อยกว่าการทำอาหารอื่นๆ ปัจจุบันโจ๊กเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากทางตอนใต้ของจีน ชาวจีนในมณฑลกวางตุ้งได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปรุงโจ๊กเป็นพิเศษ ซึ่งโจ๊กสูตรฮ่องกงก็รับสืบต่อมาจากสไตล์กวางตุ้งนี่เอง
ปัจจุบันโจ๊กเป็นเมนูอาหารประจำถิ่นของหลากหลายชาติที่มีคนจีนอพยพไปอาศัยอยู่ทำมาหากิน โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีร้านโจ๊กมากมาย จนแทบจะถือว่าเป็นอาหารไทยไปแล้ว หลายๆคนมักจะมีร้านโจ๊กเจ้าประจำที่ติดอกติดใจ กินมาตั้งแต่จำความได้จนถึงปัจจุบัน ร้านโจ๊กเก่าแก่หลายร้านก็ได้รับการยอมรับมีตราการันตีมาติดร้าน เชื่อว่าหลายๆท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้ก็น่าจะมีเหมือนกัน ลองแนะนำกันดูหน่อยเป็นไร เผื่อใครใกล้ตรงไหนจะได้ไปลองลิ้มชิมรสอาหารเช้าที่มีมายาวนานถึงสองสหัสวรรษ รำลึกประวัติศาสตร์ของอาหารด้วยการกินกันดูสักที…
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
[Credit-ที่มา]…
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
[Credit-ภาพ]…
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
#สาระนอกจาน #saranokchan #sidedish #โจ๊ก
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตาม สาระนอกจาน ได้ที่ :
โฆษณา