24 เม.ย. 2022 เวลา 17:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การพัฒนาขนส่งสาธารณะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทย
ที่มา : Asian Development Bank
บทนำ
ระบบขนส่งสาธารณะ คือ บริการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารที่ประชาชนสามารถใช้บริการได้ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบนดิน รถโดยสาร รถเมล์ เป็นต้น ระบบ การขนส่งสาธารณะส่วนใหญ่ให้บริการโดยมีการกำหนดเส้นทางและตารางเวลาของการให้บริการ ที่แน่นอน (รัตนาภรณ์ บุญมี. 2561: 5)
ความสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะ คือ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มีความสะดวกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่ระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึงในพื้นที่ต่างๆจะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่นั้นๆทำให้มีการจ้างงาน ส่งผลให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะระบบขนส่งสาธารณะเป็นตัวเชื่อมตัวภาคธุรกิจกับแรงงาน
ในปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะในไทยยังมีการกระจุกตัวแค่ในเมืองหลวงของประเทศ คือ กรุงเทพมหานคร โดยในแต่ละพื้นที่ของกรุงเทพมหานครมีระบบขนส่งสาธารณะให้บริการในจุดต่างๆทั่วจังหวัด แต่ในจังหวัดอื่นๆของประเทศไทยนั้นแทบจะไม่มีให้บริการ
จึงทำให้ในจังหวัดอื่นๆนั้นมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจน้อยกว่าในกรุงเทพมหานคร เป็นอย่างมาก จึงเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และการเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างจังหวัดมาในกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก
ปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทย
1. ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ
ในปัจจุบันระบบบริการขนส่งสาธารณะมีให้บริการแค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็น รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึง แท็กซี่ และ วินมอเตอร์ไซค์ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการของโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดที่ในปัจจุบันยังไม่มีจังหวัดใดในประเทศไทยมีรถไฟฟ้า หรือแม้แต่รถโดยสารประจำทางที่เป็นระบบให้บริการในพื้นที่ การไม่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเจริญแบบกระจุกตัวแค่ในพื้นที่เมืองหลวง แม้เมืองเศรษฐกิจในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ถึงแม้จะมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง
ตั้งแต่ปี 58 แต่จะสามารถเปิดให้บริการในปี 71 ซึ่งใช้เวลาในการทำโครงการ 13 ปี ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานและล่าช้ามาก
2. ระบบบริการที่ไม่เป็นมาตรฐาน
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมีระบบขนส่งสารธารณะให้บริการในกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมากแต่ระบบขนส่งสาธารณะที่มียังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่ เพราะมีปัญหาในเรื่องของระบบให้บริการ เช่น การไม่ตรงเวลา สภาพรถโดยสารที่ไม่ได้มาตรฐาน และการแออัดของคนในช่วงเวลาเร่งด่วน ส่งผลให้คนส่วนใหญ่เลือกใช้รถส่วนตัวในการสัญจร ก่อให้เกิด การติดขัดของจราจรและมลพิษบนท้องถนน
2.1 ปํญหาในเรื่องของการไม่ตรงต่อเวลา ในปัจจุบัน โดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางที่ไม่มีเวลาการเดินรถที่แน่ชัด และการติดขัดของจราจรทำให้การใช้บริการรถโดยสารประจำทางเกิดค่าเสียโอกาส เช่น การใช้ระยะเวลาที่นาน
เพราะจราจรติดขัด รวมถึงความไม่ปลอดภัยเนื่องจากการแข่งขันแย่งผู้โดยสาร เป็นต้น คนส่วนใหญ่เลยเลือกไม่ใช่บริการ
2.2 สภาพรถโดยสารประจำทางที่ไม่ได้มาตรฐาน แม้ในปัจจุบันมีการปรับปรุงเป็นรถแบบใหม่บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่รถที่ยังให้บริการส่วนใหญ่เป็นรถเก่าที่ดูไม่สะอาด และทำให้เกิดควันในท้องถนน
2.3 การแออัดของคนในช่วงเร่งด่วน ปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระบบที่ออกแบบมาไม่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ชั่วโมงเร่งด่วน เช่น การเดินเที่ยวรถที่น้อย หรือ มีระยะห่างกันเกินไป ทำให้เกิดการแออัดของคน
ที่มา : วิจัยกรุงศรี
3. ราคา
ในปัจจุบันแม้ในกรุงเทพมหานคร มีการบริการขนส่งสาธารณะในพื้นต่างๆ แต่ ราคาการให้บริการมีราคาที่ค่อนข้างแพงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของประชาชน โดยเฉพาะราคารถไฟฟ้า BTS MRT และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพ (PPP-adjusted) ราคาของการขนส่งสาธารณะไทยถือว่ามีราคาที่สูงกว่า ประเทศอื่นๆ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น แต่การขนส่งสาธารณะถือเป็นสินค้าจำเป็นต่อประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ประชาชนกลับไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ทุกคน เพราะราคาที่สูง
ที่มา : Property Today
แนวทางแก้ไข
1. ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ
รัฐบาลควรมีโครงการในการขยายการให้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อยากสะดวก ไม่เพียงแค่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่นั้นๆมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามมา ไม่กระจุกตัวแค่ในกรุงเทพมหานคร ทำให้มีการกระจายรายได้ของประชาชนทั่วประเทศ และเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นตามลำดับ
2. ยกระดับมาตรฐานการบริการ
ยกระดับการบริการในด้านของ การตรงต่อเวลา ซึ่งจะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถกำหนดเวลาเดินทางได้อย่างแม่นยำ และมาตรฐานในเรื่องของรถโดยสารที่ใช้โดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางที่จะต้องมีความสะอาด ปลอดภัย และปล่อยควันบนท้องถนนน้อยลง
3. ปรับราคาค่าบริการ
รัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือเรื่องราคาของระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะราคาของรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน ที่มีราคาสูง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพทำให้ประชาชนทุกคนไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ เพราะถ้าหากประชาชนต้องการระบบขนส่งที่รวดเร็วกว่ารถโดยสารประจำทางจะต้องจ่ายแพงกว่า 1-3 เท่าเพื่อให้ได้รับบริการ โดยรัฐบาลควรใช้กลไกลราคาเข้ามาช่วยในการตั้งราคาของค่าบริการ เพราะในปัจจุบันมีตลาดการบริการขนส่งสาธารณะเป็นแบบผูกขาดทำให้สามารถตั้งราคาเหนือราคาดุลยภาพ ซึ่งหากใช้กลไกราคาเข้ามาช่วยในการตั้งราคาค่าบริการ ก็จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
ผลด้านบวกจากการแก้ไขระบบขนส่งสาธารณะ
1.เศรษฐกิจมีการขยายตัว
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวทำให้หน่วยธุรกิจเริ่มมีการกระจายมาสู่พื้นที่ต่างๆมากขึ้นจากเคยกระจุกตัวแค่ในเมืองหลวงซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และทำให้คนในประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้ได้ นอกจากนี้การที่ขยายบริการมาสู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดจะยังสามารถช่วยลดหนี้ครัวเรือนได้อีกด้วย เนื่องจากการเดินทางของคนในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ใช้รถส่วนตัว ซึ่งจะต้องซื้อด้วยเงินของตนเอง ซึ่งทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนขึ้น หากคนในพื้นที่ต่างจังหวัดมีการบริการขนส่งสาธารณะก็จะช่วยลดการใช้รถส่วนตัวและลดหนี้สินครัวเรือน โดยการมีรายได้เพิ่มและหนี้สินที่ลดลงของคนในประเทศนั้นจะช่วยทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจจะดีขึ้นตามลำดับ
2. การบริหารท้องถิ่นจะมีการแก้ไขปัญหาต่างๆเป็นรูปธรรมมากขึ้น
เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่างจังหวัดจะต้องอาศัยคนในพื้นที่จัดการปัญหาดังกล่าว เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งจะส่งผลให้คนในพื้นที่มีการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบมากขึ้น เกิดการพัฒนาจากเมืองเล็กไปสู่เมืองใหญ่ เพราะลดการกระจุกอำนาจที่เมืองใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระจายอำนาจและเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น
3. ลดปัญหาการจราจรติดขัดและมลพิษ
การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหลวงและพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างเป็นระบบนั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในระยะยาวได้ เนื่องจากประชาชนสามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวกซึ่งจะทำให้คนใช้รถส่วนตัวลดลง ส่งผลให้การจราจรติดขัดน้อยลง พอรถบนท้องถนนน้อยลงจะส่งผลให้มลพิษบนท้องถนนลดลงตามลำดับ
ข้อเสนอแนะ
รัฐบาลควรมีการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อให้หลายฝ่ายประสานงานและดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัดที่โครงสร้างพื้นฐานไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร โดยโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
เรื่อง: ปณิดา พรานพนัส
งานประจำรายวิชาเศรษฐกิจรายประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
#economics #transportation #Thailand
References
ภานุพงศ์ รัชธร, ปธานิน บุตตะมาศ. (2021). การศึกษาความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล. Journal of Transportation and Logistics No.13 Volume 1 June 2020 – May 2021. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2565
รัตนาภรณ์ บุญมี. (2561). การวิเคราะห์เปรียบเทียบระดับ การเข้าถึงของระบบขนส่งสาธารณะปัจจุบันและแผนแม่บทอนาคตในอำเภอเมืองพิษณุโลก. วิทยานิพนธ์. วท.บ. (วิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม). พิษณุโลก บัญฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร. อัดสำเนา
ไทยรัฐ ออนไลน์. (2565). รู้ก่อนใคร! อัปเดตระบบขนส่งทางรางทั่วไทย. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2565, จาก https://www.thairath.co.th/news/local/2283500
Piyanuch Sathapongpakdee. (2562). แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2562-2564: บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2565, จาก https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/logistics/mass-rapid-transit-operators/IO/io-mass-rapid-transit-operators-20
s.benjarong. (ไม่ระบุ). เช็คราคาค่าโดยสาร รถไฟฟ้า เทียบประเทศอื่น. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2565, จาก https://www.propertytoday.in.th/rising/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2
Statista Research Department. (2020). Public transportation – statistics & facts. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2565, จาก https://www.statista.com/topics/2994/public-transportation/#dossierKeyfigures
โฆษณา