27 เม.ย. 2022 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เลือกตั้งด้วยเทคโนโลยี เข้าคูหาไม่ต้องใช้ปากกาแล้ว
1
เพื่อให้เข้ากับกระแสของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ Tech By True Digital จะพาไปทำความรู้จักการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลือกตั้ง ที่หลาย ๆ ประเทศรวมถึงไทยเองนำมาใช้ เพื่อยกระดับการเลือกตั้งด้วยเทคโนโลยีให้มีความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และโปร่งใส เรียกได้ว่าทำให้เราเข้าคูหาแบบไม่ต้องใช้ปากกาอีกแล้ว
4
E-voting หรือระบบการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ คือการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการลงคะแนนและนับคะแนนในการเลือกตั้ง ทดแทนบัตรลงคะแนน เพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการเลือกตั้ง ตั้งแต่การลดต้นทุนการผลิตบัตรเลือกตั้ง เพิ่มความสะดวกในการลงคะแนน ลดการลงคะแนนที่ไม่ถูกต้องหรือบัตรเสีย นับคะแนนได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง ทำให้สามารถทราบผลการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็ว และช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ในกระบวนการเลือกตั้งอีกด้วย โดยมีประเทศที่ใช้ E-voting อาทิ อินเดีย เอสโตเนีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และนอร์เวย์ เป็นต้น
5
การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ 1) การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเครื่องเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่หน่วยเลือกตั้ง และ 2) การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ทางไกล หรือการลงคะแนนผ่านอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า i-voting
1
  • 1) การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเครื่องเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่หน่วยเลือกตั้ง
เป็นการลงคะแนนผ่านเครื่องเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting Machine หรือ EVM) ในหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเครื่องดังกล่าวยังใช้ในการลงคะแนนและนับคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกด้วย
อินเดีย เป็นตัวอย่างประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้เครื่องเลือกตั้ง EVM ในการเลือกตั้ง โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1977 ในการเลือกตั้งท้องถิ่น และใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปทั้งประเทศเมื่อปี 2004 โดยเครื่อง EVM จะตั้งอยู่ที่หน่วยเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนด้วยการกดปุ่ม ซึ่งอินเดียได้เพิ่มความโปร่งใสและตรวจสอบได้ให้กับเครื่อง EVM ด้วยเครื่องพิมพ์ผลการเลือกตั้งด้วยกระดาษ หรือ Voter Verifiable Paper Audit Trial (VVPAT) ที่เชื่อมระบบเข้ากับเครื่อง EVM เพื่อให้ผู้ลงคะแนนสามารถตรวจสอบได้ว่าผลโหวตของตนถูกต้องตามที่ลงคะแนนไปหรือไม่
โดยเมื่อมีการลงคะแนน สลิปจะถูกพิมพ์บนเครื่องพิมพ์ VVPAT ที่มีหมายเลขประจำเครื่อง ชื่อและสัญลักษณ์ของผู้สมัครที่ถูกลงคะแนน และปรากฏผ่านหน้าจอเป็นเวลา 7 วินาที สำหรับให้ผู้ลงคะแนนตรวจสอบว่าถูกต้องตรงตามที่โหวตไป หลังจากนั้น สลิปนี้จะตกลงไปอยู่ในกล่องที่ปิดมิดชิดของ VVPAT เพื่อใช้ในการนับคะแนน
1
--- เครื่อง VVPAT ที่ติดตั้งกับเครื่องเลือกตั้ง EVM ของอินเดีย --- ที่มา: https://www.thenewsminute.com/
ในปี 2019 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของอินเดียและถือเป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดในโลกเพราะมีผู้มีสิทธิออกเสียงถึง 900 ล้านคน มีหน่วยเลือกตั้งถึง 1 ล้านแห่ง และต้องแบ่งการเลือกตั้งออกเป็น 39 วัน แต่นับผลเลือกตั้งในวันเดียวกัน ผลปรากฏว่า การนับสลิป VVPAT ตรงกับการลงคะแนนแบบ 100% และยังสร้างสถิติไม่มีบัตรเสียแม้แต่ใบเดียว ทั้งยังสามารถประหยัดเวลาการนับคะแนนจากเดิมที่ใช้เวลา 30-40 วัน เหลือเพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เครื่อง EVM ในการเลือกตั้ง
1
ไทย ประเทศไทยเองก็มีเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งเช่นกัน โดยถูกเรียกว่า Thai Voting Machine ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและเตรียมความพร้อมภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีความเห็นว่า เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาการวินิจฉัยบัตรดี บัตรเสียที่มักถูกร้องเรียนมาบ่อยครั้ง ลดการใช้กระดาษสำหรับพิมพ์บัตรเลือกตั้ง และลดงบประมาณในการเลือกตั้งได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำ Thai Voting Machine ไปทดสอบการใช้งานในการเลือกตั้งตามหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และการเลือกตั้งภายในของพรรคการเมือง ซึ่งได้มีการพัฒนาเครื่องเลือกตั้งนี้เป็นรุ่นที่ 4 แล้ว แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการกับการเลือกตั้งระดับชาติ
1
ปัจจุบัน Thai Voting Machine ที่ถูกรับรองและจดลิขสิทธิ์โดย กกต. นั้นเป็นรุ่นที่ 4 ที่ถูกกำหนดว่าต้องคงไว้ซึ่งเสมือนการเลือกตั้งลักษณะเดิม ต้องมีลักษณะเหมือนบัตรเลือกตั้ง กล่องใส่คะแนนเลือกตั้งและสามารถรวมผลคะแนนเลือกตั้งได้ ทั้งแบบนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งหรือนับคะแนนที่เขตเลือกตั้ง
--- เครื่องลงคะแนนเลือก Thai Voting Machine รุ่นที่ 4 --- ที่มา: https://www.nong-namsai.go.th/
  • 2) การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ทางไกล หรือการลงคะแนนผ่านอินเทอร์เน็ต (i-voting) เป็นการลงคะแนนเสียงทางอินเทอร์เน็ตจากที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมายังหน่วยเลือกตั้ง
เอสโตเนีย ถือเป็นประเทศตัวอย่างของการเลือกตั้งแบบ i-voting ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ในการจัดการเลือกตั้งอีกด้วย เอสโตเนียใช้วิธีการลงคะแนนการเลือกตั้งแบบ i-voting มาตั้งแต่ปี 2005 และมีการปรับปรุงระบบให้สะดวกและง่ายต่อผู้ใช้สิทธิมาโดยตลอด
--- วิดีโอสอนการลงคะแนนเลือกตั้งแบบ i-voting ของเอสโตเนีย --- ที่มา: https://e-estonia.com/solutions/e-governance/e-democracy/
ระบบการลงคะแนนเลือกตั้งของเอสโตเนียล่าสุดที่ใช้เมื่อปี 2019 อนุญาตให้ผู้ลงคะแนนสามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์จากที่ไหนก็ได้เพื่อใช้สิทธิลงคะแนน และสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของเอสโตเนียกำหนด โดยการลงคะแนนนั้นทำโดยเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งบนเว็บไซต์เลือกตั้ง ด้วยบัตรประจำตัวประชาชนหรือรหัสเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ผ่านการรับรอง เข้ามายืนยันตัวตนในระบบ เมื่อลงคะแนนแล้ว ข้อมูลจะถูกเข้ารหัส (Encrypted) ไว้ และถูกจัดส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์รวมคะแนน ทุก ๆ ครั้งที่มีคะแนนเข้ามาในระบบ จะมีการประทับเวลา (Time Stamp) เอาไว้ด้วย
1
และเนื่องจากเอสโตเนียอนุญาตให้ผู้ลงคะแนนเปลี่ยนแปลงการลงคะแนนของตัวเองได้บ่อยเท่าที่ต้องการจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งจริง ระบบก็จะอัปเดตการลงคะแนนเสียงให้ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง และประทับเวลาทุกครั้งเมื่อคะแนนถูกส่งเข้ามายังระบบ เพื่อยืนยันว่าคะแนนถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์แล้ว จัดเก็บไว้บนระบบบล็อกเชนเพื่อทำหน้าที่พิสูจน์การมีอยู่จริงของบัตรลงคะแนนนั้น ๆ (Proof of Existence) โดยระบบยังออกแบบให้ผู้ใช้สิทธิสามารถตรวจสอบการลงคะแนนของตัวเองได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตนเองใช้ในการลงคะแนนไม่มีมัลแวร์ฝังตัวอยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการบล็อกการลงคะแนนได้
2
--- i-voting ของเอสโตเนีย --- ที่มา: https://www.europarl.europa.eu/
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่อนุญาตให้ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้หลากหลายวิธีมาก บางรัฐอนุญาตให้ผู้มีสิทธิเฉพาะกลุ่มลงคะแนนผ่านอิเล็กทรอนิกส์แบบที่ไม่ต้องไปหน่วยเลือกตั้ง อาทิ ลงคะแนนผ่าน แฟ็กซ์ อีเมล หรือเว็บพอร์ทัล ตามที่ Uniformed and Overseas Citizens Absentee Voting Act (UOCAVA) กำหนด บางรัฐ เช่น West Virginia ในปี 2018 ให้ผู้ลงคะแนนที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ใช้โทรศัพท์มือถือลงคะแนนผ่านแอปพลิเคชัน Follow My Vote ที่มีเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามารองรับระบบการลงคะแนน
--- วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งของ Follow My Vote --- ที่มา: https://followmyvote.com/
ในขณะเดียวกัน การลงคะแนนเลือกตั้งผ่านเครื่อง EVM ที่ถูกใช้ในหน่วยเลือกตั้งของสหรัฐฯ มานานเกือบ 20 ปี ก็ยังพบปัญหาร้องเรียนจากผู้ใช้สิทธิอยู่บ่อยครั้ง อาทิ เครื่องขัดข้อง หรือความไม่มั่นใจว่าอาจจะถูกเจาะระบบ จนคะแนนที่เลือกถูดบิดเบือน โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 มีประชาชนที่ต่อแถวรอลงคะแนนหลายชั่วโมง เหตุจากเครื่อง EVM ขัดข้อง หน้าจอทัชสกรีนไม่รองรับการใช้งาน จนเปลี่ยนใจไม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสหรัฐฯ ยังไม่มีระบบ VVPAT แบบที่อินเดียใช้เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้
--- เครื่องเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ สหรัฐอเมริกา --- ที่มา: https://abcnews.go.com/
การเลือกตั้งโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยแม้จะมีข้อดี อาทิ การลดบัตรเสีย ลดการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ลดระยะเวลาในการนับคะแนนและเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการนับคะแนน แต่ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงและข้อถกเถียงถึงผลเสีย อาทิ การให้บริการด้านโทรคมนาคมหรืออินเทอร์เน็ตที่ไม่เพียงพอในการรองรับระบบ การสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องที่ไม่เพียงพอกับภาคประชาชน รวมไปถึงทัศนคติเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อาจส่งผลถึงการยอมรับผลคะแนนจากวิธีการเลือกตั้งดังกล่าว เป็นต้น
แม้การเลือกตั้งแบบอิเล็กทอนิกส์เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ แต่ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และที่ยังคงต้องนำมาทบทวนและปรับปรุงให้เหมาะสมกับการเลือกตั้งของแต่ละแห่งต่อไป เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยยกระดับการเลือกตั้งได้ แต่การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเลือกตั้งของแต่ละประเทศนั้น ย่อมมีเงื่อนไขและความต้องการที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการเลือกตั้ง กระบวนการและระบบการเลือกตั้ง ความรู้ทางเทคโนโลยีของผู้จัดการเลือกตั้ง ไปจนถึงความพร้อมของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเอง
เทคโนโลยีอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลไกการเลือกตั้ง และอาจยังไม่ใช่คำตอบเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของการเลือกตั้งได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในการนำมาปรับใช้จึงต้องอาศัยวิธีการและบริบทแวดล้อมประกอบกัน เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งแบบดั้งเดิมหรือแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิที่ถูกโหวตไปจะเป็นคะแนนที่ถูกนับอย่างถูกต้องและโปร่งใสอย่างแท้จริง
#EVoting #iVoting #ElectronicsElection #การเลือกตั้ง #เลือกตั้ง #TechByTrueDigital
โฆษณา