29 เม.ย. 2022 เวลา 02:00 • สิ่งแวดล้อม
14 ตัวสุดท้าย โลมาอิรวดีในแหล่งน้ำจืดไทยเสี่ยงสูญพันธุ์
‘โลมาอิรวดี’ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด
ใช้ชีวิตอยู่ทั่วไปตามแนวชายฝั่งทะเล จากเอเชียใต้จรดตะวันออกเฉียงใต้
ในประเทศไทยกระจายตัวอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
นับจำนวนได้ร่วมๆ ร้อยตัว
สถานะค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
แต่ที่น่าหวั่นวิตกที่สุดคือประชากรโลมาอิรวดีในแหล่งน้ำจืด
ปัจจุบันเหลือเพียง 14 ตัว อาศัยอยู่แถบทะเลสาบสงขลา
ในอดีตเคยมีมาก แต่จำนวนก็ลดลงอย่างรวดเร็ว
ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่า 16 ปีที่ผ่านมา เราสูญเสียโลมาอิรวดีไปทั้งสิ้น 94 ตัว
โดยตลอดทศวรรษที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตของโลมาอยู่ที่ 4 - 5 ตัวต่อปี
สาเหตุหลักมาจากการทำประมงที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลังปี 2000
โลมาส่วนใหญ่ประสบเคราะห์กรรมจากเครื่องมือจับปลา เช่น อวน ในฐานะสิ่งแปลกปลอมใหม่ที่พวกมันไม่เคยรู้จักมาก่อน และไม่รู้ว่าจะเอาตัวรอดจากสิ่งนี้ได้อย่างไร
ขณะเดียวกัน การทำประมงที่เติบโตมากขึ้นก็ได้แย่งชิงอาหารไปจากโลมา
กุ้ง ปลา หอย ที่เคยมากมีกินกันอิ่มท้องก็ไม่สมบูรณ์เหมือนอย่างที่เป็น
ด้วยจำนวนที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ยังทำให้โลมาเกิดภาวะเลือดชิด จากการผสมพันธุ์กันในวงจำกัด
รวมถึงสาเหตุอื่นๆ จากอุบัติเหตุ ชนใบพัดเรือ และการเพิ่มขึ้นของตะกอนที่ถูกชะล้างมาจากบกจนเกินพอดี ทำให้ที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลง
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล คาดการณ์ว่าหากอัตราการตายต่อปียังเฉลี่ยเท่าเดิม อนาคตของสายพันธุ์นี้คงไม่พ้นจบที่การสูญพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญและนักอนุรักษ์ ดร.ธรณ์ เชื่อว่าเรายังมีหวัง
จากภัยคุกคามที่มี ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลเสนอว่า
เครื่องมือประมง - คงไม่มีอะไรดีไปกว่าพูดคุยกับพี่น้อง ขอร้องให้ลดการจับในพื้นที่ทับซ้อนกับโลมา หาทางช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทน
เลือดชิด - เชื่อว่าอาจมีความเป็นไปได้ในการอยู่รอด ขอเพียงยืดเวลาให้พวกเธอไม่ตายหมดในวันนี้
ทะเลสาบตื้น - ด้วยอัตรานี้ เรายังพูดถึงหลายสิบปี ก่อนที่โลมาจะอยู่ไม่ได้จริงๆ เมื่อถึงวันนั้น อาจมีหนทางแก้ไข
อาหารน้อยลง - กรมทะเลร่วมกับหลายหน่วยงาน เริ่มทำซั้งเพื่อเพิ่มปลาให้โลมา ขอเพียงแค่พี่น้องเข้าใจ ไม่เข้าไปรบกวนมากเกินไป
มากไปกว่านั้น คือการยกสถานะโลมาอิรวดีให้เป็นสัตว์สงวน
การผลักดันให้เป็นสัตว์สงวน จะส่งผลในการบริหารจัดการเป็นพิเศษ ดังเช่นที่เราเคยเห็นจากกรณีวาฬบรูด้า เต่ามะเฟือง ฉลามวาฬ
อนาคตจะสำเร็จหรือไม่ยังไม่มีใครทราบ
แต่เราหวังอยากให้ผลนั้นสำเร็จดังที่นักอนุรักษ์ตั้งใจ
#IsLIFE #Extinction #IrrawaddyDolphin
อ้างอิง
Thon.thamrongnawasawat : https://shorturl.asia/SQGMT
Thon.thamrongnawasawat : https://shorturl.asia/tyITj
Thon.thamrongnawasawat : https://shorturl.asia/pPLMl
Photo : Vatcharavee Sriprasertsil via inaturalist.org
โฆษณา