3 พ.ค. 2022 เวลา 22:03 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ประเทศไทยควรมีอุตสาหกรรมไหนเพื่อแข่งกับต่างประเทศ
พอดีไปเจอคำถามนี้ในหมวดเศรษฐกิจ เลยคิดถึงบทความที่เคยเขียนแสดงความเห็นไว้เมื่อประมาณสองปีก่อน (4 มี.ค. 63) ที่เป็นอีกมุมมองนึงครับ
เศรษฐกิจไทยจะโตอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับจีนและเวียดนาม
ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า เศรษฐกิจเราจะโตได้อย่างไร และจะอยู่ตรงไหนใน world economy ภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญคือ จีนผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและบริการเกือบทุกอย่างได้ดีและถูกกว่าเรา และ เวียดนามเริ่มผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและบริการที่ดีเทียบเท่าเราแต่ราคาถูกกว่าเราเป็นจำนวนมากขึ้น
ถ้ามองในภาพรวม การเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ปัจจัย คือ ปัจจัยทุนมนุษย์ ปัจจัยทุนกายภาพ และปัจจัยวัตถุดิบ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ และถ้ามองแยกลงไปอีกระดับหนึ่ง ก็ลงไปที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ 3 ภาคการผลิตหลัก คือ เกษตร (agriculture) อุตสาหกรรม (manufacturing) บริการ (services) ซึ่งแต่ละภาคการผลิตก็มีปัจจัยการผลิตเป็นของตนเองได้แก่ ปัจจัยทุนมนุษย์ ปัจจัยทุนกายภาพ เป็นปัจจัยการผลิตขั้นต้น และปัจจัยวัตถุดิบเป็นปัจจัยการผลิตขั้นกลาง อาจจะมีการโยกย้ายระหว่างกันของปัจจัยทุนมนุษย์ทั้งแบบตามฤดูกาลหรือแบบถาวร แต่ในขณะเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ละภาคการผลิตมีปัจจัยการผลิตเป็นของตัวเอง
ถ้าดูตามทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ที่แท้จริงต่อหัวของประชาชนจะเติบโตได้ก็ต่อเมื่อ เศรษฐกิจของประเทศโตมากกว่าการเติบโตของประชากร ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าจีดีพีที่แท้จริง (หักการเติบโตของระดับราคา) เติบโตเฉลี่ยปีละ 3.3% ในขณะที่ประชากรเติบโตเฉลี่ยปีละ 0.4% ดังนั้นรายได้ต่อหัวที่แท้จริงเติบโตปีละ 2.9% โดยในปี 2018 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูล รายได้ที่แท้จริงต่อหัวโตประมาณ 3.8% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดี แต่ตัวเลขที่ผ่านมาคืออดีต ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปในโลกปัจจุบันและอนาคตเมื่อในปัจจุบันจีนผลิตเกือบทุกอย่างได้ดีและถูกกว่าเรา ในขณะที่เวียดนามเริ่มผลิตสินค้าและบริการที่ดีเทียบเท่าเราแต่ถูกกว่าเรามากขึ้น ซึ่งหากเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ถ้าเราไม่เริ่มคิด เราอาจจะพบว่า ไม่เหลืออะไรไว้ให้เราผลิต เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็น่าคิดว่าประเทศไทยควรจะผลิตอะไรขายชาวโลก เพื่อที่จะอยู่รอดต่อไปในอนาคต
เริ่มจากภาคเกษตรพืช ในปี 2018 ถ้าดูจากตำแหน่งของไทยในปัจจุบัน ไทยส่งออกข้าวได้มูลค่าถึง 5.6 พันล้าน USD เป็นอันดับสองของโลกรองจากอินเดียที่ได้ 7.4 และนำเวียดนามซึ่งได้เพียง 2.2 ค่อนข้างมาก ส่งออกยางธรรมชาติได้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกกินส่วนแบ่งประมาณหนึ่งในสามของปริมาณยางธรรมชาติที่ค้าขายในตลาดโลก ส่งออกมันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งกินส่วนแบ่งถึง 67% ของปริมาณการค้าขายมันสำปะหลังในตลาดโลก ทิ้งห่างกัมพูชาซึ่งเป็นที่สองแต่มีส่วนแบ่งเพียง 15% แบบไม่เห็นฝุ่น ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับสองของโลกกินส่วนแบ่งตลาด 12% รองจากบราซิลซึ่งเป็นที่หนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาด 29% แต่ก็มากกว่าฝรั่งเศสที่เป็นที่สามประมาณ 2 เท่า
ในด้านผลไม้ เราก็ส่งออกทุเรียนและมังคุดมากเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น ในด้านเกษตร เราคงจะผลิตสินค้าเหล่านี้ขายได้ไปอีกนาน แต่ แม้จะขายได้ รายได้ของเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นน้ำยกเว้นผลไม้ก็ไม่ได้ดีไปด้วย เพราะราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดขึ้นกับตลาดโลกที่ไม่แน่นอนและมีความผันผวนสูง และยังขึ้นอยู่กับลมฟ้าอากาศที่ยากจะควบคุม เราจึงไม่สามารถยกระดับรายได้ของเกษตรกรได้หากยังมีวิธีการผลิตอย่างที่เป็นอยู่ คำถามก็คือ แล้วจะทำอย่างไรเกษตรกรจึงจะมีรายได้ที่แท้จริงมากขึ้นและยั่งยืนขึ้น ไม่อยู่บนความเสี่ยงทั้งจากระดับราคาและสภาพดินฟ้าอากาศมากเกินไป
ที่มา: ลงทุนแมน
เพื่อตอบคำถามนี้ หากย้อนกลับไปที่ทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เราสามารถทำให้รายได้ที่แท้จริงต่อหัวของเกษตรกรเพิ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เกษตรกร 1 ครอบครัวต้องมีผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือได้ราคาโดยเปรียบเทียบกับสินค้าที่ต้องซื้อมากินมาใช้ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากราคาเป็นสิ่งที่ผันผวนและควบคุมได้ยากมาก ดังนั้นถ้าตั้งเป้าว่าต้องมีผลผลิตเพิ่มขึ้นและไม่ขึ้นอยู่กับลมฟ้าอากาศมากนัก ก็ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการทำเกษตร
และแน่นอนว่าสิ่งที่จำเป็นอย่างมากนอกจากความรู้และทักษะในด้านการผลิตแล้ว เงินทุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงและทักษะด้านการตลาดเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นในด้านการเกษตร รัฐบาลต้องเตรียมบุคลากรด้านการเกษตรของประเทศให้เป็นเกษตรกรสมัยใหม่ ไม่ใช่เกษตรแบบเดิม และต้องเตรียมเงินทุนและทักษะด้านการตลาดให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้จำนวนเกษตรกรลดลงจากเดิม เพราะเป็นการเกษตรที่ต้องใช้ทุน ใช้ความรู้ ทักษะ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรจะมากขึ้นทั้งจากผลผลิตที่มีคุณภาพดีขึ้น และจากจำนวนคนที่น้อยลง
ด้านการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ถ้าดูภาพรวม เราจะพบว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยและหลายประเทศในโลกลดลงไปเมื่อเทียบกับจีนก็คือ จีนผลิตสินค้าเดียวกันได้เป็นจำนวนมากกว่าประเทศอื่นโดยอาศัยฐานผู้บริโภคในประเทศของตน ส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาดทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของจีนลดลงมากจนต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ และสามารถนำสินค้าตัวเดียวกันที่ผลิตจากโรงงานเดียวกันมาคัดเกรดขายโดยของเกรดดีขายแพง ของเกรดต่ำขายถูก ซึ่งเมื่อคิดราคาเฉลี่ยแล้วยังมีกำไร หากประเทศไทยจะสู้จีนได้ ก็คงมีอยู่ไม่กี่ทาง
ทางหนึ่งคือใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าสินค้าจีนชนิดเดียวกัน หรือทางที่สองได้คุณภาพที่ดีกว่าหากราคาเมื่อรวมค่าขนส่งจากจีนแล้ว เท่ากัน
เพื่อให้ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอยู่รอด รัฐบาลจะต้องเตรียมทรัพยากรมนุษย์และเงินทุนให้กับภาคการผลิตในการ transform โรงงานผลิตสินค้าเดิมให้มีกระบวนการผลิตที่ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติ ใช้สมองกล และนำศาสตร์ของการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เข้ามาช่วยทั้งในด้านการผลิต การจัดการ และการตลาด ซึ่งในด้านเงินทุนนั้น ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะภาคเอกชนจะช่วยตัวเองได้ระดับหนึ่งและสามารถระดมเพิ่มหากต้องการได้ในเวลาไม่นาน หากนำเสนอผลการวิเคราะห์ให้เห็นและเชื่อได้ว่าการ transform นั้นจะทำให้ต้นทุนลดลง และ/หรือ คุณภาพดีขึ้น ที่ในที่สุดจะมีผลตอบแทนเพียงพอในการนำมาชำระหนี้ได้
แต่ในด้านทรัพยากรมนุษย์นั้น หากรัฐบาลไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะได้ทัน ก็ต้องแก้กฎเกณฑ์ให้มีการนำเข้าทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้และทักษะจากต่างประเทศให้เข้ามาช่วยกัน transform โรงงานได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งสำหรับโรงงานขนาดใหญ่นั้น ไม่น่าห่วงนัก เพราะมีกำลังมากพอที่จะดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาช่วยได้โดยง่าย แต่โรงงานขนาดกลางและเล็กที่ไม่มีกำลังคนเพียงพอ รัฐบาลอาจต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้การ transform เกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น ส่วนโรงงานใหม่นั้น ไม่น่ามีปัญหา เพราะเค้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ตั้งแต่แรก
ทั้งนี้ การอนุญาตให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์เข้ามาร่วม transform โรงงานนั้นจะมีข้อดีคือ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ (ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วง 3-5 ปี นับจากวันเริ่มต้น) คนกลุ่มนี้จะย้ายออกจากประเทศไปทำ transformation ให้กับประเทศอื่นต่อไป ซึ่งกรณีนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ system integrator ของไทยเองด้วย แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดต่อคือ พนักงานโรงงานส่วนหนึ่งต้องถูกให้ออกจากงานเพราะเมื่อโรงงานเป็นระบบอัตโนมัติและใช้สมองกลมากขึ้นแล้ว การใช้แรงงานแบบเดิมจะลดลง แรงงานที่คงเหลืออยู่จะเป็นแรงงานที่มีความรู้ ทักษะ ที่เหมาะกับเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจะมีจำนวนน้อยลงกว่าเดิม ทำให้รายได้เฉลี่ยของคนทำงานในภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจะมากขึ้นทั้งจากผลผลิตที่มีคุณภาพดีขึ้น และจากจำนวนคนที่น้อยลง เช่นเดียวกับภาคเกษตรกรรม
สุดท้ายคือภาคบริการ ในเศรษฐกิจ 1.0 ภาคบริการต้องมาเกิดขึ้นในขอบเขตประเทศไทย แต่ในโลก 4.0 แบบปัจจุบันงานบริการที่มีต่อคนในประเทศจำนวนมากเกิดขึ้นที่ต่างประเทศ เช่น ค่าส่งของ ค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าซอฟท์แวร์ ภาพยนตร์ หรือแม้แต่ค่าเรียนคอร์สออนไลน์กับต่างประเทศ แต่ที่สำคัญมากสำหรับภาคบริการก็คือการเป็นภาคการผลิตที่รองรับคนทำงานที่ไหลออกจากภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ในการวิเคราะห์จึงต้องลงรายละเอียดย่อยลงไปมากกว่าที่จะดูภาพการผลิตในภาคบริการแบบรวมๆ ซึ่งหากวางแผนไม่ดี แรงงานจำนวนหนึ่ง หรือจำนวนมาก อาจต้องไหลออกไปทำงานต่างประเทศหากภาคบริการของไทยมีตำแหน่งงานไม่เพียงพอที่จะรองรับ
เริ่มจากภาคบริการของรัฐที่เป็นหน่วยงานราชการทั้งหมดยกเว้นการศึกษา สาธารณสุข และหน่วยงานความมั่นคง รัฐบาลทุกรัฐบาลมีนโยบายรัฐบาล 4.0 ซึ่งถ้าเป็น 4.0 จริง จำนวนคนต้องลดลง หรืออย่างน้อยต้องไม่เพิ่มขึ้นแต่ได้งานมากขึ้น แม้ในปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มไปแบบนั้น แต่ในที่สุด ด้วยข้อจำกัดของการขาดดุลงบประมาณ ทำให้รัฐบาลต้องลดขนาดและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบราชการอย่างเลี่ยงไม่ได้
ภาคการศึกษา ปัจจุบันประมาณ 90% เป็นหน่วยงานรัฐ ถ้าไม่ปรับตัว จะถูก disrupt โดยการศึกษาสมัยใหม่ในออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาหลังมัธยม และที่จริง ผู้ประกอบการในโลกยุคใหม่ที่ไม่ต้องการวุฒิการศึกษาจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้นักศึกษาน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้นหากภาคการศึกษายังคงรูปแบบเดิม ภาคการศึกษาแบบในระบบก็จะหดตัวลงเรื่อย ๆ แต่เนื่องจากเป็นการหดตัวจากฝั่งดีมานด์ ในขณะที่ฝั่งซัพพลายไม่ลดลงมาก แม้จะเอาพนักงานราชการออกได้ แต่ข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยจะไม่ถูกเอาออก ทำให้รายได้ต่อหัวของภาคการผลิตนี้ไม่สะท้อน productivity ของการผลิต ซึ่งในที่สุดจะไปกดไม่ให้รายได้ต่อหัวสูงขึ้นมาก
ที่มา: Insider
ภาคสาธารณสุข ทั้งของรัฐและเอกชน คงเป็นหน่วยงานเพียงไม่กี่กลุ่มงานที่ต้องการคนเพิ่มขึ้นในทุกระดับตั้งแต่แพทย์ไปจนถึงผู้ช่วยพยาบาล และผู้ที่มีทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องการมากขึ้นทั้งจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศและจากนโยบายที่ให้ไทยเป็น medical hub แต่การผลิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรระดับวิชาชีพในกลุ่มนี้ต้องใช้เวลานาน ทางออกในระยะสั้นคือการนำเข้าบุคลากรเหล่านี้จากต่างประเทศ
ภาคความมั่นคง ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าต้องการให้กองทัพและหน่วยงานความมั่นคงของไทยมีโครงสร้างและประสิทธิภาพอย่างไร
ในฝั่งเอกชน นอกจากภาคการศึกษาและสาธารณสุขที่ได้กล่าวรวมกันไปกับภาครัฐบาลแล้ว ภาคเอกชนจำนวนมากก็ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
เริ่มจากภาคก่อสร้าง เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะหายากมากขึ้น ภาคก่อสร้างจึงต้องปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่เน้นเครื่องจักรมากกว่าแรงงาน ซึ่งคนทำงานในภาคการผลิตนี้ที่เป็นคนไทยอาจไม่น้อยลง หรือแม้แต่อาจเพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะในการทำงานร่วมกับเครื่องจักรแทนการทำงานโดยใช้แรงคน ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนทำงานในภาคก่อสร้างสูงขึ้นกว่าปัจจุบันมาก
ภาคค้าส่ง ค้าปลีก แม้ว่าการมีตลาดออนไลน์ข้ามชาติเช่น Lazada Shopee Alibaba Ebay และอื่น ๆ เข้ามามีบทบาทในตลาดค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากจีนแทนการค้าขายแบบเดิมมากขึ้น และดึงค่าการเป็นตลาดออกจากประเทศเป็นจำนวนมาก แต่หากมองในแง่ของการกระจายรายได้ ตลาดออนไลน์กลุ่มนี้ก็ช่วยให้คนไทยจำนวนมากเข้ามามีธุรกิจและมีรายได้จากการค้าขายออนไลน์ มองในอีกมุมหนึ่งตลาดเหล่านี้จึงช่วยให้เกิดการจ้างงาน (รวมจ้างตัวเอง) ให้กับคนในวัยทำงานและนอกวัยทำงานเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เมื่อก่อนกระจุกอยู่กับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และห้างสรรพสินค้า การส่งเสริมการทำตลาดออนไลน์จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะรองรับคนทำงานที่ย้ายออกจากการผลิตภาคการเกษตรและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม
และนอกจากการตลาดออนไลน์จะช่วยให้คนกลุ่มหนึ่งค้าขายกับคนในประเทศได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้การค้าขายกับต่างประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วย ด้วยกลไกนี้ คน 1 คน สามารถทำตัวเป็นสิงคโปร์ (นายหน้า) ที่รับของจากผู้ผลิตในประเทศหนึ่งไปขายให้กับผู้ซื้อที่อยู่ในอีกประเทศหนึ่งได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก
ภาคการซ่อมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะมีจำนวนการใช้ลดลงเรื่อยๆ ตามการเข้ามาทดแทนของรถไฟฟ้า รถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะกลายเป็นสินค้าสะสมสำหรับคนมีเงิน แต่ไม่รองรับจำนวนคนที่มากแบบเดิม ส่วนการซ่อมรถไฟฟ้าทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์จะง่ายกว่ารถน้ำมันเชื้อเพลิงค่อนข้างมาก ทำให้ความต้องการใช้คนเพื่อการซ่อมรถไฟฟ้าจะไม่เพิ่มขึ้นหรืออาจจะน้อยลงเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ใช้เชื้อเพลิง
ภาคการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เราจะเห็นช่างซ่อมเหล่านี้ลดลงเรื่อยๆ เพราะความต้องการซ่อมลดลง เนื่องจากราคาสินค้าจะลดลงเรื่อย ๆ จนความต้องการซ่อม ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ซึ่งภาคการศึกษาต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย
การให้บริการที่พัก เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและการมีแอพพลิเคชั่น ทำให้เกิดการให้บริการที่พักแบบ sharing economy ที่ทำให้ปัจเจกบุคคลที่ไม่ต้องมีทุนจำนวนมากเข้ามาทำธุรกิจเป็นผู้ให้บริการที่พักแข่งกับโรงแรมในรูปแบบเดิมได้ การมีโอกาสเช่นนี้ จะช่วยให้คนกลุ่มหนึ่งที่ต้องออกจากการผลิตภาคเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมมีทางเลือกมากขึ้น ถ้ามองในแง่นี้ ภาครัฐควรหาทางสนับสนุนส่งเสริมโดยรักษามาตรฐานเรื่องความสะดวก สะอาด และปลอดภัย แทนการตั้งกฎที่เป็นกำแพงเพื่อทำให้ธุรกิจที่พักแบบเดิมไม่ได้รับผลกระทบ การให้บริการภายใต้ platform sharing economy นี้ยังใช้ในการขยายไปยังบริการอื่น ๆ ได้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหมายถึงโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ (ให้กับตัวเอง) ของคนที่ไหลออกจากภาคเกษตรและภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้เป็นจำนวนมาก
ที่มา: Salika
การให้บริการร้านอาหาร จะขึ้นลงตามรายได้ต่อหัวของประชากร ขนาดของเศรษฐกิจโดยรวม และจำนวนครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในเมือง ณ เวลานั้น ๆ (given: ขนาดของครัวเรือนเป็นครัวเรือนขนาดเล็ก 1-3 คน ซึ่งไม่คุ้มกับการทำอาหารกินเอง) การทำกิจการขายอาหารจึงเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน และไม่สามารถนำมาส่งเสริมเพื่อให้เกิดการ absorb การมีงานทำของคนเป็นจำนวนมากได้
การให้บริการด้านข้อมูลและสื่อสารโทรคมนาคม ยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่า มีความต้องการคนทำงานด้านนี้เพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือประมาณเดิม เพราะถ้าความต้องการใช้บริการของประชาชนเพิ่มขึ้น ก็จะต้องการคนทำงานด้านนี้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีจะทำให้ความต้องการแรงงานลดลง ขึ้นอยู่กับผลกระทบจากด้านไหนมากกว่ากัน
การให้บริการด้านการเงิน fintech จะทำให้ความต้องการแรงงานของภาคการผลิตนี้ลดลง ดังจะเห็นได้ว่าหลายธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารต่างลดกำลังคนและหันไปใช้ e-banking และ fintech รูปแบบอื่น ในการให้บริการลูกค้าแทน โบรกเกอร์จำนวนมากหันไปใช้ robot trading แทน trader ที่เป็นคนมากขึ้น แต่เมื่อยอดขาดต่อหัวคนทำงานสูงขึ้น คนที่ยังเอาตัวรอดอยู่ในระบบได้จะมีรายได้ที่สูงขึ้นและค่าเฉลี่ยของรายได้ต่อหัวคนทำงานก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
การให้บริการด้านวิชาชีพ เช่น นักกฎหมาย นักบัญชี วิศวกรรม สถาปนิก ที่ปรึกษาธุรกิจ ฯลฯ งานต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่น่าจะยังคงเกิดขึ้นในประเทศไทยเพื่อให้บริการแก่ธุรกิจของไทยและเติบโตตามเศรษฐกิจ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบมาใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ความต้องการคนทำงานในสาขานี้จะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ
เชื่อมโยงกับการที่โรงงานและธุรกิจต้องถูกบีบให้ transform ตัวเองทำให้ความต้องการกลุ่มงานที่ถูกเรียกว่า system integrator จะมีมากขึ้นอย่างมากดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในช่วงที่กล่าวถึงการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ทำให้อาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนี้ทั้ง hardware, software, AI, blockchain เป็นที่ต้องการ แต่เนื่องจากการพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาเช่นเดียวกับทักษะวิชาชีพอื่น ๆ ในระยะสั้น อาจต้องมีการนำเข้าคนทำงานด้านนี้จากต่างประเทศ และเมื่อการ transform ถึงจุดอิ่มตัว คนทำงานในด้านนี้สามารถผันตัวเองออกไปรับงานในต่างประเทศที่ก้าวตามหลังประเทศเราได้
ที่มา: IndiaMART
การผลิตคนในด้านนี้ หากเสริมด้วยการส่งเสริมให้เกิดบริษัทด้าน SI มากขึ้น อาจช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถสร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศให้กับประเทศได้ในอนาคต เปรียบได้กับยุคที่ประเทศกำลังก้าวจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบในช่วงทศวรรษ 90 และ 2000 ซึ่งในช่วงนั้นวิศวกรถูกผลิตออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ด้วยนโยบายการส่งเสริมธุรกิจ engineering company ในช่วงนั้นไม่ดีพอ ทำให้เราไม่สามารถมีบริษัท engineering company ใหญ่ๆ ได้เหมือนอย่างเช่นประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ใต้หวัน และจีน ที่เปลี่ยนจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม และเมื่อในประเทศอิ่มตัว ก็เกิด engineering company ออกไปรับงานในประเทศอื่นทั่วโลก
สุดท้าย งานด้านศิลปะ บันเทิง และ recreation ระบบเศรษฐกิจที่เป็น creative economy จะต้องการคนทำงานด้านนี้มากขึ้น แต่ถ้าต้องการหาเงินตราเข้าประเทศ ก็ต้องแข่งขันกับประเทศอื่นในการรับ order ที่มาจากประเทศผู้ซื้อบริการด้านนี้ขนาดใหญ่ รัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการที่ไม่แพ้ประเทศอื่น และมีนโยบายด้านการผลิตกำลังคนที่ทำงานในด้านนี้ที่มีทักษะมาตรฐานสากลที่มากพอ งานในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มงานที่รองรับคนทำงานได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน ปัญหาอยู่ที่ประเทศจะผลิตคนกลุ่มนี้ได้มากเพียงพอหรือไม่ และนโยบายดีเพียงพอที่จะทำให้ order ไหลเข้ามาประเทศไทยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่
ที่มา: UNCTAD
ทั้งหมดนี้คือความน่าจะเป็นของทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค 10 ปีนับจากนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศไทยได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมให้แก่จีนไปแล้วอย่างสมบูรณ์และกำลังจะสูญเสียให้กับเวียดนามในไม่ช้า หากไม่มีนโยบายและมาตรการที่ดีพอ แต่ถึงจะเสียความสามารถในการแข่งขันไปหลายอย่าง โดยอาศัยความเป็นจริงที่ว่า ไม่ว่าประเทศไหนจะเก่งแค่ไหน แต่ด้วยข้อจำกัดที่ไม่ว่าประเทศใดในโลกล้วนแล้วแต่มีทรัพยากรทั้งคนและทุนจำกัด ไม่เว้นแม้แต่จีนและอินเดียที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แต่ก็มีจำกัด ด้วยข้อจำกัดนี้ทำให้ทุกประเทศต้องเลือกผลิตในสิ่งที่ตัวเองได้เปรียบที่สุดจนกระทั่งเต็มศักยภาพของทรัพยากร แล้วเหลือบางอย่างไว้ให้กับประเทศอื่น เช่นไทย ผลิตในส่วนที่เค้าตัดสินใจไม่ผลิต ทำให้ไทยยังพอจะมีที่ยืน ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติที่เป็นที่มาของคำว่า ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบนั่นเอง
โฆษณา