Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Think Trade Think DITP
•
ติดตาม
6 พ.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
แนวโน้มเศรษฐกิจอิหร่านในปีงบประมาณใหม่ ปีเปอร์เซีย 1401
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา อิหร่านประสบกับปัญหาเศรษฐกิจมาโดยตลอด โดยเฉพาะปี 2011 ที่อิหร่านโดนคว่ำบาตรด้านน้ำมันและการทำธุรกรรมทางการเงิน ทำให้อิหร่านเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจซบเซาอย่างรุนแรงที่สุด ซึ่งส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอิหร่านขยายตัวติดลบที่ร้อยละ 3.1 (ไม่รวมรายได้จากน้ำมันดิบ) ต่ำสุดในประวัติศาสตร์หลังการปฏิวัติอิสลาม ต่อมาในปี 2021 อิหร่านประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงสุดที่เฉลี่ยร้อยละ 43 ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 70
ทั้งๆที่ในปี 2015 ได้มีการลงนามในแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วมว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน หรือ JCPOA ระหว่างอิหร่านกับประเทศภาคี P+5 แล้วก็ตาม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นประกายแห่งความหวังทางเศรษฐกิจและสังคมของอิหร่านที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความรุ่งเรืองที่ยั่งยืนก็ตามแต่ความหวังดังกล่าวก็ดับลงเมื่อในปี 2018 สหรัฐฯ ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ฯ อีกครั้ง ทำให้อิหร่านต้องเข้าสู่โหมดของการคว่ำบาตรและประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจอีกครั้ง เนื่องจากการถอนตัวของการลงทุนจากต่างประเทศและการขาดรายได้ที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศโดยรวม
จากเดิมที่อิหร่านมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 12.5 และมีอัตราเงินเฟ้อเพียงเลขหลักเดียวในช่วงปี 2015-17 อิหร่านต้องประสบกับความตึงเครียดทางเศรษฐกิจอีกครั้งซึ่งส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน การคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจอิหร่านประสบภาวะถดถอย อัตราเงินเฟ้อขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เกิดการโละคนงานและปัญหาการว่างงานทั่วประเทศ ค่าเงินเรียลลดลงกว่า 4 เท่า ในขณะที่รายได้จากการส่งออกน้ำมันที่คิดเป็นอัตราส่วนกว่าร้อยละ 40 ของ GDP ลดลง ตลอดจนปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาเป็นลูกโซ่ ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจากพรรคการเมืองใดของอิหร่านที่ได้เข้ามาบริหารประเทศก็ไม่สามารถขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ให้สิ้นลงได้
อย่างไรก็ตาม ความหวังเดียวที่กุมชะตาเศรษฐกิจอิหร่าน ในช่วงต่อจากนี้ไปคือผลสรุปของการเจรจารื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์ฯ ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ที่กำลังดำเนินไปอยู่ในปัจจุบันผ่านตัวแทนกลุ่มประเทศพันธภาคี P+5 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งไม่ว่าผลลัพธ์ออกมาเช่นใดจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของอิหร่านในอนาคตต่อไป
ดังนั้น ในปี 2022 หรือปีเปอร์เซีย 1401 ที่เริ่มขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2022 เป็นต้นไปนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจจากหลายๆ สำนักจึงให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจอิหร่านจะมีการเติบโตในแดนบวกที่มากกว่าศูนย์เล็กน้อย จำนวนประชากรที่ยากจนเพิ่มจะขึ้นอีก 5 เท่าตัว และดัชนีราคาสินค้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่ากำลังซื้อของประชาชนจะลดลง ในขณะเดียวกัน หากการเจรจาฯ ประสบผลสำเร็จเศรษฐกิจอิหร่านก็จะกลับมาผงาดอีกครั้งด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ซึ่งจะทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจของอิหร่านดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น
World Economic Forum ได้วิเคราะห์ปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจที่อิหร่านกำลังเผชิญอยู่และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข คือ
1) การว่างงาน
2) การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน
3) ความสิ้นหวังในอนาคตของประชากรในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน
4) ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะยาว
5) ปัญหาวิกฤติทางทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่ง ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนและจำเป็นต้องระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ ที่ 7 ซึ่งจะประกาศใช้ระหว่างปี 2022-2026
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศอิหร่านขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคือปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การเติบโตของรายได้จากการขายน้ำมันและฉีดเข้าสู่ภาคการบริโภคแทนการลงทุน ความไม่สมดุลของอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร และการให้ความสำคัญกับนายหน้าแทนภาคการผลิตควบคู่ไปกับการจัดการทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสมในแง่ของเวลาและเงื่อนไข รวมทั้งการขาดการมองการณ์ไกลของรัฐบาล เป็นต้น
จากผลของการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ฯ ที่ยังไม่สิ้นสุด และอิหร่านยังไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กร FATF รวมทั้ง การที่รัฐบาลยกเลิกการอุดหนุนอัตราแลกเปลี่ยนในอัตรา Favor Rate เพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นพื้นฐาน เช่น ข้าว น้ำมัน นมผง เนย ฯลฯ ตลอดจนการประกาศใช้มาตรการปรับขึ้นภาษีสินค้าต่างๆ มากมาย เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การคาดการณ์ว่า ในปี 2022 หรือปีเปอร์เซีย 1401 นี้ อิหร่านจะยังคงประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นปีที่ 4 หลังการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ กำลังซื้อของผู้บริโภคจะลดลงไปอีก อัตราเงินเฟ้อยังคงดำเนินต่อไปและเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเชื่อว่าในช่วงแรกของปีงบประมาณ 1401 อิหร่านยังคงประสบกับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ร้อยละ 40 หรืออาจสูงกว่านี้
การยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในอัตราอุดหนุน 1 เหรียญสหรัฐฯ ในอัตรา 42,000 เรียล ส่งผลให้ราคาสินค้าที่จำเป็นพื้นฐานส่วนใหญ่ในอิหร่านขยับตัวสูงขึ้นระหว่าง 100-400 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สินค้าจำเป็นบางรายการถูกตัดออกจากตะกร้าความต้องการประจำวันของผู้บริโภคหรือมีอัตราการบริโภคลง เช่น เนื้อสัตว์ ข้าว และไข่ เป็นต้น ในขณะเดียวกันช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยก็ขยายห่างยิ่งขึ้นไป ผลสำเร็จของการเจรจารื้อฟื้น โครงการนิวเคลียร์อิหร่านจึงเป็นความหวังที่ทุกๆฝ่ายกำลังจับตามองในปัจจุบัน
เยี่ยมชม
ditp.go.th
แนวโน้มเศรษฐกิจอิหร่านในปีงบประมาณใหม่ ปีเปอร์เซีย 1401
แนวโน้มเศรษฐกิจอิหร่านในปีงบประมาณใหม่ ปีเปอร์เซีย 1401
อิหร่าน
เศรษฐกิจ
แนวโน้ม
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย