6 พ.ค. 2022 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
เป็นหนี้จนถูกดำเนินคดี ข้อจำกัดด้านกฎหมายไทย และแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน
หนี้ครัวเรือนเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน และต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหาใหญ่ใกล้ตัวที่อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ
เมื่อวิเคราะห์แล้วจะเห็นได้ว่าสาเหตุที่สำคัญของหนี้ครัวเรือนเกิดจาก 2 ฝั่ง คือ ฝั่งครัวเรือน ที่จำเป็นต้องจับจ่ายใช้สอยแต่ไม่พร้อมด้านการเงิน ครัวเรือนบางส่วนไม่มีความรู้ทางการเงินและสินเชื่อ รวมถึงขาดการวางแผนทางการเงิน ในขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการทางการเงินก็แข่งขันกันให้สินเชื่อ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายผ่านการตลาดที่จูงใจ ทำให้ประชาชนเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น หรืออาจได้รับสินเชื่อเกินความจำเป็น
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ในระดับต่ำทำให้แรงจูงใจในการออมลดลง ครัวเรือนจึงตัดสินใจก่อหนี้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การเป็นหนี้ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้นั้นไม่น่ากังวล แต่หากก่อหนี้จนล้นพ้นตัว จะนำมาสู่วังวนของปัญหาหนี้ที่ยากต่อการแก้ไข และนำไปสู่การถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในที่สุด
ข้อจำกัดทางด้านกฎหมายในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
กฎหมายและเกณฑ์การกำกับดูแลเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้บริหารจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในประเด็นด้านกฎหมาย และการกำกับดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังไม่ครอบคลุม ซึ่งจะลดทอนความสำเร็จในการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอยู่ 2 ประการ
ประการแรก อายุความในการฟ้องหรือระยะเวลาในการบังคับคดีที่ใกล้ครบกำหนด อาจเป็นปัจจัยที่เร่งให้เจ้าหนี้ฟ้องดำเนินคดีหรือขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันเพื่อเร่งรัดให้ลูกหนี้ชำระเงินคืน ซึ่งการที่ลูกหนี้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาจยิ่งทำให้การแก้ไขหนี้เป็นไปได้ยากขึ้น เมื่อเทียบกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ยังไม่ผิดนัดชำระ
ประการที่ 2 ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ แม้ว่าหนี้จากการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นสัดส่วนสำคัญของหนี้ครัวเรือนไทยในแง่ปริมาณหนี้ แต่ปัจจุบันมีเพียงสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคที่กำหนดให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาเท่านั้น จึงอาจเกิดช่องโหว่ของการกำกับดูแล[1] จนสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับลูกหนี้ได้ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งพิจารณาการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากประเด็นนี้
นอกจากข้อจำกัดทางด้านกฎหมายและการกำกับดูแลแล้ว การไม่มีหน่วยงานกลางที่จัดเก็บข้อมูลภาระหนี้ของลูกหนี้อย่างครบถ้วนก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เพราะผู้ให้บริการทางการเงินบางส่วน เช่น สหกรณ์ หรือ non-bank หลายราย ไม่ได้เป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (National Credit Bureau: NCB) อาจทำให้ข้อมูลหนี้ตามรายงานต่ำกว่าภาระหนี้จริงของลูกหนี้ จึงยิ่งทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น
การจัดการหนี้ครัวเรือนในต่างประเทศ
หลายประเทศทั่วโลกมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะ เพื่อเป็นตัวกลางทำหน้าที่ช่วยจัดทำแผนการแก้ไขและเจรจาหนี้ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานกลางสำหรับไกล่เกลี่ยหนี้อย่างเป็นระบบ
ประเทศมาเลเซีย จัดตั้งองค์กรกลางที่ชื่อว่า Agensi Kaunseling Dan Pengurusan Kredit (AKPK) เพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนของลูกหนี้แบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ (1) financial education ให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกหนี้ และการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีในทุกช่วงอายุของประชาชน (2) financial advisory ให้คำแนะนำด้านการเงิน วิเคราะห์สถานะการเงิน การบริหารเงินและบริหารหนี้ รวมถึงด้านสินเชื่อ และ (3) Debt Management Program (DMP) ให้คำปรึกษาจัดทำแผนการชำระคืนหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และช่วยหารือร่วมกับสถาบันการเงินโดยลูกหนี้ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด
ประเทศสิงคโปร์ ผลักดันให้การไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องสำคัญและประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โดยจัดให้มีการระงับข้อพิพาทออนไลน์ ซึ่งสามารถยื่นเรื่องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีทั้งการไกล่เกลี่ยผ่านศาลที่ศูนย์ระงับข้อพิพาทชั้นต้น (Primary Dispute Resolution Centre: PDRC) การไกล่เกลี่ยผ่านศูนย์ไกล่เกลี่ยเอกชน (Singapore Mediation Centre: SMC) และการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยชุมชน (Community Mediation Centres: CMC)
การจัดอบรมเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยผู้ไกล่เกลี่ยที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์จาก Singapore Mediation Centre หรือ SMC (ที่มาภาพ : facebook Singapore Mediation Centre)
ประเทศอังกฤษ สนับสนุนให้มี qualified Insolvency Practitioner (qualified IP) เพื่อช่วยลูกหนี้ประเมินสถานการณ์ด้านการเงินในการจัดทำข้อตกลงการชำระหนี้และเจรจากับเจ้าหนี้ หรือ Individual Voluntary Agreement (IVA) โดยหากลูกหนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผน IVA เจ้าหนี้จะไม่สามารถทวงหนี้ หรือบังคับเอาทรัพย์สินอื่นได้ นอกจากนี้ IP ยังช่วยลูกหนี้ดำเนินการด้านศาลเพื่อยับยั้งการฟ้องคดีหรือการบังคับคดี (interim order) ระหว่างที่ลูกหนี้ขอคำปรึกษาด้วย
ธปท. สร้างกลไกการไกล่เกลี่ยเพื่อช่วยลูกหนี้
ธปท. ตระหนักถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนภายใต้บริบทของกฎเกณฑ์ปัจจุบัน จึงผลักดันให้เกิด “ตัวกลาง” ที่จะมาดูแลและไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ครัวเรือนของลูกหนี้ โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน จัดตั้งโครงการคลินิกแก้หนี้[2] ในปี 2560 เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางของประเทศในการช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันที่เป็นหนี้เสีย ให้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยผ่อนชำระด้วยเงื่อนไขมาตรฐานกลางที่ได้ตกลงกันไว้
ขณะเดียวกัน ธปท. ก็สนับสนุนให้เกิดการไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับหนี้ทุกสถานะ จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงยุติธรรม เพื่อส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยเฉพาะคดีผู้บริโภค รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการไกล่เกลี่ย ด้านกฎหมาย และด้านการเงินให้กับบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ในทุกสถานะคดีขึ้น เพื่อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก
ธปท. กับการออกมาตรการเพื่อการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งลูกหนี้รายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ในระยะต่อไปจึงต้องวางรากฐานสำคัญให้กับเจ้าหนี้ในด้านการให้บริการสินเชื่ออย่างเป็นธรรม รวมทั้งออกมาตรการเพื่อลดโอกาสการเป็นหนี้ถาวร และเสริมความแข็งแกร่งด้านความรู้ทางการเงินให้กับลูกหนี้
การผลักดันผู้ให้บริการทางการเงินให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ธปท. ออกแนวทางการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมเพื่อยกมาตรฐานการกำกับดูแลการให้บริการสินเชื่อทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ (end-to-end process) โดยผู้ให้บริการต้องเสนอผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการ ความจำเป็น และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงควรพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือที่หลากหลายและเหมาะสม ในกรณีที่ลูกหนี้มีปัญหาการจ่ายชำระหนี้คืน และสนับสนุนให้เกิดการไกล่เกลี่ยหนี้ทั้งกระบวนการ
การออกมาตรการสนับสนุนให้ลูกหนี้กลุ่มที่เป็นหนี้ยาวนาน ผ่อนชำระแล้วแต่ภาระหนี้ไม่ลดลง (persistent debt[3]) ได้รับการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความสามารถ และช่วยให้สามารถปลดหนี้ได้จริง โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีพฤติกรรมผ่อนชำระขั้นต่ำ ผ่อนต่อเนื่องเป็นเวลานานแล้วแต่ก็ยังไม่หมดหนี้ เนื่องจากการผ่อนชำระที่ผ่านมาไม่ได้ถูกนำไปลดเงินต้น ซึ่งอาจมีสาเหตุจากอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บสูง หรือมีเบี้ยปรับที่ต้องชำระเพิ่มเติมทำให้ไม่สามารถปลดหนี้และหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้
การเร่งเสริมสร้างความรู้และสร้างทักษะทางการเงินให้กับประชาชน เพราะการจะแก้ปัญหาหนี้ได้นั้น ลูกหนี้ต้องมีความรู้ทางการเงิน มีวินัยในการใช้จ่ายและการออมเงิน ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือลงทุนมากเกินไปจนตกอยู่ในวังวนของการเป็นหนี้ สามารถวางแผนทางการเงินเพื่อใช้ในชีวิตหลังเกษียณ และรู้เท่าทันภัยการเงินซึ่งถือเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญในโลกปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธปท. ได้ให้ความรู้และสร้างวินัยให้กับประชาชนในหลายรูปแบบทั่วประเทศ ทั้งการให้ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ของ ธปท. สื่อของเครือข่ายพันธมิตร สื่อท้องถิ่น รวมถึงลงพื้นที่ให้ความรู้กับประชาชนโดยตรง โดยปรับเนื้อหาให้เข้าใจง่าย และสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละท้องถิ่นด้วย
อย่างไรก็ดี มาตรการหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เน้นแก้ไขปัญหาหนี้ที่อยู่ในระบบ แต่ครัวเรือนยังมีหนี้อีกจำนวนมากอยู่นอกระบบซึ่งส่วนใหญ่มีดอกเบี้ยสูง สามารถกู้ได้ง่าย ไม่ต้องมีเอกสารและขั้นตอนยุ่งยากเหมือนสถาบันการเงิน ครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบจึงออกจากวังวนหนี้สินได้ยาก เพราะผ่อนชำระไหวแค่ดอกเบี้ย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจังควบคู่ไปด้วย หากเน้นแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบแต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ สุดท้ายครัวเรือนก็จะจมกองหนี้
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการสนับสนุนการจ้างงานให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพเพื่อลดการก่อหนี้ใหม่ลง เร่งพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการ upskill & reskill เพื่อปิดช่องว่างทักษะแรงงานที่จำเป็นในอนาคต[4] เช่น ทักษะงานด้านเทคนิคดิจิทัล ทักษะคิดวิเคราะห์ และนวัตกรรม
[1] วิรไท สันติประภพ "ทางออกจากกับดักหนี้ครัวเรือนไทย", ThaiPublica วันที่ 26 เมษายน 2564
[2] ปัจจุบันมีเจ้าหนี้ผู้ให้บริการทางการเงินที่ร่วมโครงการ 34 ราย และมีบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) เป็นตัวกลางระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยลูกหนี้สามารถทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ฉบับเดียวด้วยเงื่อนไขมาตรฐานกลางที่ได้ตกลงกัน คือ ผ่อนเฉพาะเงินต้นในอัตราดอกเบี้ย 5% ระยะเวลา 10 ปี ดอกเบี้ยค้างเดิมยกให้เมื่อปฏิบัติได้ตามสัญญา
[3] สถานการณ์ที่อาจพิจารณาว่าเป็น persistent debt เช่น ลูกหนี้ที่ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ได้จ่ายดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าเรียกเก็บ มากกว่าส่วนที่จ่ายเพื่อชำระเงินต้น
[4] เสาวนีย์ จันทะพงษ์ และคณะ "Upskill & Reskill: วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้ "แรงงานชนะ" ในโลกทำงานยุคดิจิทัล" บทความคอลัมน์แจงสี่เบี้ย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 2 มีนาคม 2564 , Upskill & Reskill: วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้ "แรงงานชนะ" ในโลกทำงานยุคดิจิทัล (1) (bot.or.th)
โฆษณา