Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
7 พ.ค. 2022 เวลา 13:10 • ไลฟ์สไตล์
แพร์-อลิตา : จากคนไม่ชอบออกกำลังกายสู่ไลฟ์สไตล์สุขภาพดีที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง | Main Stand
ในบางครั้ง “การออกกำลังกาย” อาจจะฟังดูเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายเพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือเพื่อรักษาสุขภาพ แต่ละจุดประสงค์ต่างก็มีความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องของเวลา ทักษะ หรือความสะดวก จึงเป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะเปลี่ยนกิจกรรมดังกล่าวให้เป็นความชอบหรือเป็นกิจวัตรที่ทำได้อย่างสม่ำเสมอ
แม้ว่าเรื่องดังกล่าวอาจจะฟังดูเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความพยายามอย่างมาก อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นเรื่องปกติที่คนออกกำลังกายต่างก็เคยประสบพบเจอมา เหมือนกับ “แพร์-อลิตา วิรจันทร” Health & Fitness Influencer ที่มียอดผู้ติดตามหลักแสนที่หลายคนอาจจะเคยเห็นหรือเคยได้ยินชื่อมาบ้างตามโซเชียลมีเดียทั้งใน Facebook หรือ Instagram
ด้วยภาพลักษณ์ของการออกกำลังกายอย่างจริงจังและทักษะทางร่างกายรอบด้าน ทั้งในเรื่องของความแข็งแรง ความคล่องตัว ผ่านการฝึกร่างกายในแบบเวตเทรนนิ่งและบอดี้เวต จึงอาจทำให้หลายคนลืมไปว่าครั้งหนึ่ง แพร์ เองก็เคยเป็นคนที่พยายามกับการออกกำลังกายอยู่หลายครั้งเพื่อรูปร่างที่ดีเช่นเดียวกับคนออกกำลังกายคนอื่น ๆ อีกทั้งยังมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นคนไม่ชอบขยับร่างกายและไม่เคยคิดใส่ใจเรื่องสุขภาพมาตั้งแต่แรก
เรื่องราวคนที่เคยไม่ชอบออกกำลังกายสู่ไลฟ์สไตล์ ณ ปัจจุบัน ที่ทำให้เธอเป็นหนึ่งใน Health & Fitness Influencer ระดับแถวหน้าของประเทศเป็นอย่างไร ? มาร่วมทำความรู้จัก แพร์-อลิตา ไปพร้อมกับ Main Stand
ชีวิตก่อน “การออกกำลังกาย”
ปกติแล้วภาพของอินฟลูเอ็นเซอร์ที่หลาย ๆ คนเข้าใจอาจจะเป็นภาพของคนที่ทำอะไรก็ดูสมบูรณ์แบบไปหมด โดยเฉพาะกับอินฟลูเอ็นเซอร์สายสุขภาพ ที่ออกกำลังกายในขั้นที่เรียกได้ว่า “โหด” ดูชำนาญจนเรารู้สึกว่าเป็นเรื่อง “ยาก” ที่จะทำตามไปเสียหมด
อย่างไรก็ตามคำกล่าวที่ว่า “Everyone has to start somewhere” หรือที่แปลได้ว่า “ทุก ๆ คนต้องมีจุดเริ่มต้นที่ไหนสักแห่ง” ยังคงเป็นคำกล่าวที่เป็นจริงเสมอ เพราะสิ่งที่หลายคนอาจจะหลงลืมไปคือ บางทีภาพของฟิตเนสอินฟลูเอนเซอร์ที่เราเห็นอยู่ก็อาจเคยเป็นคนที่ไม่ได้ชอบการออกกำลังกายเหมือนกับเราในบางช่วงก็ได้ แบบที่ “แพร์-อลิตา วิรจันทร” เคยเป็นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว
1
ปัจจุบัน แพร์ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์สายสุขภาพที่มียอดผู้ติดตามเยอะที่สุดในแพลตฟอร์ม Instagram เป็นจำนวนกว่า 300,000 กว่าคนและใน Facebook อีก 200,000 กว่าคน อีกทั้งยังเคยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในสี่ Health & Fitness Influencer จากเวที Influencer Asia ประจำปี 2017 ท่ามกลางรายชื่ออย่าง เบเบ้-ธัญชนก, เชอร์รี่-นนท์ณัฐดา และ เมจิ-อโณมา มาแล้ว จนถึงปัจจุบัน แพร์ ยังคงออกกำลังกายเป็นกิจวัตรอยู่ทุกๆ วัน อีกทั้งยังเปิดคอร์สสอนการออกกำลังกาย บอกต่อเคล็ดลับสุขภาพดีให้สำหรับคนที่สนใจนำไปปฏิบัติตามกันอย่างต่อเนื่อง
เราชวนเธอพูดคุยย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นแรกสุดที่ทำให้เธอเริ่มหันมาดูแลสุขภาพ การดำเนินชีวิตก่อนหน้าของเธออาจทำให้เราประหลาดใจเล็กน้อย เพราะมันเป็นภาพที่ดูแตกต่างกับในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง
เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เราไม่สามารถไปพูดคุยกับเธอต่อหน้าได้ แต่การสัมภาษณ์กับเธอผ่าน Zoom ในช่วงสายที่เหมาะแก่การออกกำลังกาย กลับเต็มไปด้วยบรรยากาศแบบสบาย ๆ ไม่ต่างอะไรกับการได้เจอหน้ากัน
“ไลฟ์สไตล์ก่อนหน้านี้เราเป็นที่ชอบอยู่เฉย ๆ เป็นคนปกติคนหนึ่งที่แบบไม่ได้อยากทำอะไรเป็นพิเศษ ไม่อยากมีกิจกรรมทางด้านร่างกายเพราะขี้เกียจ ทำไปก็เหนื่อย ไม่ได้มองว่าฉันจะต้องมาคิดถึงเรื่องสุขภาพ เพราะตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพอะไร”
“เราไม่ชอบร่างกายตัวเอง ไม่เคยอ้วนแต่เคยเป็นคนที่ผอมมาก หุ่นเป็นทรงลูกแพร์ เป็นคนผอมสะโพกใหญ่ คือร่างกายส่วนบนคือจะผอมมากส่วนข้างล่างจะเผละ สะโพก 39 แล้วไม่ค่อยมั่นใจ แต่ตอนนั้นความไม่มั่นใจก็ไม่ได้มาผลักดันให้เราออกกำลังกายนะ เป็นคนที่บ่นไปเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรกับมัน”
แพร์ พาเราย้อนกลับถึงการใช้ชีวิตของเธอเมื่อราว ๆ 10 ปีที่แล้ว ช่วงปี 2012 ในยุคที่เทรนด์ของการออกกำลังกายยังไม่ได้เป็นที่นิยมแบบในทุกวันนี้ อีกทั้งเรื่องของการเผยแพร่วิธีการและไลฟ์สไตล์ของอินฟลูเอนเซอร์ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าไรนัก
สิ่งที่เธอมีอยู่ ณ ตอนนั้นคือความไม่มั่นใจในรูปร่างแบบที่เธอเองก็ยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันยังไง ก่อเกิดเป็นความเครียดที่เคยต้องพาให้เธอไปเสียเงินหลายหมื่นเพื่อแลกกับผลลัพธ์ที่ยังไม่ค่อยเห็นผลเท่าไรนัก
“เราเคยไปเข้าคอร์สลดน้ำหนัก ไปนั่งเฉย ๆ ในตู้อบ ตอนนั้นไม่มีความรู้ มารู้ทีหลังว่ามันเป็นการทำให้ร่างกายเสียน้ำไปเฉย ๆ พอน้ำในร่างกายลดน้ำหนักมันก็ลดขีดสองขีด พอทำไปแล้วก็รู้สึกว่าผลไม่มีอ่ะ ไม่เกิดอะไรเลย สรุปก็คือเสียเงินไปเปล่า ๆ
“คอร์สลดน้ำหนักไม่มีผลสำหรับเรา ถึงเราจะได้เอาน้ำออกจากร่างกาย แต่พอดื่มนํ้าเข้าไปน้ำหนักก็ขึ้นมาเหมือนเดิม ที่ลดไปขีดสองขีดมันก็แค่หลังจากออกจากตู้มาระยะเวลาสั้น ๆ มีความสุขสั้น ๆ สุดท้ายก็เหมือนเดิม เงินหมื่นก็คือศูนย์เลย”
เธอยอมรับกับเราโดยตรงว่าตอนนั้นยังเป็นคนที่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการออกกำลังกายและการลดน้ำหนัก ก่อนที่จะกลายมาเป็น แพร์-อลิตา ที่เห็นกันในโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ เธอก็เป็นเพียงคนที่อยากมีรูปร่างที่ดีขึ้นเช่นเดียวกันกับหลาย ๆ คน
แล้วก็เช่นเดียวกันกับหลาย ๆ เรื่อง ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อเธอได้ “เริ่ม” แบบจริงจัง เลิกพึ่งทางลัดด้วยการลดน้ำหนักแบบฉาบฉวยโดยเปลี่ยนมาโฟกัสที่กล้ามเนื้อแทน จากจุดนั้นมันส่งผลให้เธอได้กลายมาเป็นคนที่เธอไม่คิดว่าเธอจะเป็นได้มาก่อน
“วิ่งเทรล” เป็นเหตุ
ช่วงเวลาไม่นานนักหลังจากที่ แพร์ ได้เข้าคอร์สลดน้ำหนักอยู่ระยะหนึ่งและพบว่ามันไม่ได้ผลเท่าที่ควร เธอก็ได้รู้จักกับการออกกำลังกายแบบจริงจังเป็นครั้งแรกผ่านการจับพลัดจับผลูเข้าไปสู่การ “วิ่งเทรล” (Trail Running) ที่เป็นการวิ่งในลักษณะที่ต้องลุยตามสภาพแวดล้อมธรรมชาติผ่านเส้นทางอันยากลำบากที่เต็มไปด้วยหญ้าและโคลน
“สิ่งที่ทำให้มาเริ่มออกกำลังกายมาจากการที่เราได้มีโอกาสไปวิ่งเทรลกับคอมมูนิตี้คนที่วิ่งเทรลกันอยู่แล้ว เป็นกิจกรรมที่แฟนเก่าเราเขาชอบทำกับเพื่อน ๆ เขาก็เคยชวนเราหลายรอบแต่ก็ไม่เคยไปสักที จนตัดสินใจไปสักครั้ง คนในคอมมูนิตี้วิ่งเทรลส่วนมากก็มีความหลากหลายทุกวัยเลย ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงคนที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นการวิ่งแบบจริงจังครั้งแรกในชีวิตของเรา
“ไปวิ่งครั้งแรกก็เจอแจ็คพ็อตเลย เพราะดันไปเจอรายการวิ่ง 10 กิโลเมตร และต้องลุยในสภาพอากาศที่ฝนตกหนัก ลุยหญ้าสูง ลุยโคลนที่จมไปครึ่งขา จะกลับก็ไม่ได้เพราะวิ่งเทรลคือการวิ่งตามทางไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังรอดมาได้แบบวิ่งสลับหยุด เดินสลับหยุด สลับกันไปจนครบระยะทาง
“จบวันนั้นเราร้องไห้แล้วบอกกับตัวเองเลยว่าจะไม่มาอีกแล้ว”
แพร์ เล่าให้เราฟังถึงรายละเอียดของการได้รู้จักกับ “Physical Activity” หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกายแบบจริงจังเป็นครั้งแรกพร้อมกับหัวเราะเมื่อนึกย้อนกลับไปถึงความทุลักทุเลในวันนั้น แต่ถึงจะลำบากขนาดไหนเธอก็นึกไม่ถึงว่า 10 กิโลเมตรแรกของเธอในวันนั้นจะกลายมาเป็นแรงผลักดันและเปรียบเสมือนกับประตูที่เปิดให้เธอเข้าไปสู่ไลฟ์สไตล์สุขภาพดีมากขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้
“ที่เราตกใจคือทำไมคนสูงวัยบางคนในคอมมูนิตี้นั้นเขาถึงดูวิ่งได้สบายจัง ทั้ง ๆ ที่ฝนตก ไหนจะลุยโคลนแหวกหญ้าอีก ซึ่งตอนนั้นเราน้ำหนักแค่หนัก 49 กิโลกรัม จนเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมาว่า เราผอมขนาดนี้เด็กขนาดนี้ ถ้าคนอื่นเขาทำได้ทำไมเราจะทำไม่ได้
“เดิมทีก็ไม่ชอบตัวเองอยู่แล้ว บวกกับความรู้สึกของการเป็นคนอายุน้อยแล้วสู้คนที่อายุเยอะไม่ได้ กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราเริ่มคิดได้ว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เราจึงตัดสินใจสมัครยิมทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทำอะไรได้ไม่เยอะหรอกสำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย เราก็เริ่มจากวิ่งลู่กับปั่นจักรยาน เริ่มจากตรงนั้น แค่ขอให้ได้ทำก็พอ”
แม้ว่าการเข้าสู่โลกของการออกกำลังกายของเธอจะเริ่มด้วยการวิ่งอยู่กับแค่ Treadmill และเครื่องปั่นจักรยาน แต่เธอเองก็ไม่เคยตั้งใจจะไปเอาจริงเอาจังกับการวิ่งต่อ ในทางกลับกันเธอก็เริ่มที่จะสนใจการเล่น “เวตเทรนนิ่ง” (Weight Training) หรือการฝึกร่างกายให้มีความอดทนผ่านการเล่นอุปกรณ์อย่างดัมเบลหรือเครื่องออกกำลังกายแบบลองผิดลองถูกมาเรื่อย ๆ
“เราเริ่มถอยห่างจากการวิ่งมากขึ้นมาเล่นเวต รู้สึกสนใจเพราะดูมีหลายอย่างให้ทำ ถ้าย้อนกลับไปสัก 10-11 ปีที่แล้วคนก็ยังไม่ค่อยออกกำลังกายกัน เราก็เลยหาข้อมูลด้วยตัวเอง มองคนนู้นคนนี้ในยิมบ้างกับหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตบ้าง เจอใครที่เขาดูเฟรนด์ลี่ก็ถามเขา ไม่เกิน 2-3 เดือนก็เริ่มเห็นผล ท้องเราเริ่มมาเพราะข้างบนเราไขมันน้อยอยู่แล้ว พอไขมันข้างบนเราน้อยกล้ามเนื้อมันก็เริ่มมาให้เห็น
“ที่มาเร็วเพราะเราเริ่มปรับพฤติกรรมการกินด้วย จากเมื่อก่อนที่เราติดน้ำอัดลมก็เลิกดื่มอะไรที่หวาน ๆ เลยยิ่งทำให้เห็นชัดเร็ว เป็นสิ่งแรกที่เราเห็นความแตกต่าง ตอนนั้นภูมิใจมากแล้วก็อินเลย รู้สึกขอบคุณในความเหนื่อยทั้งหมด เพราะปกติไม่เคยเหนื่อยขนาดนี้”
การออกกำลังกายของแพร์เริ่มจริงจังมากขึ้นจนเธอเริ่มขยายความสนใจไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “คาลิสเตนิกส์” (Calisthenics) หรือการออกกำลังกายแบบ “บอดี้เวต” ที่เสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อผ่านการเล่นท่าแบบไม่พึ่งอุปกรณ์ที่เธอไปรู้จักมาผ่านวิดีโอของ “แฟรงก์ เมดราโน่” (Frank Medrano) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายชนิดดังกล่าวใน Youtube
การได้รู้จักกับการออกกำลังกายชนิดนี้จึงเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนอีกทอดหนึ่งของเธอ ที่ทำให้เธออยากจะโฟกัสเรื่องความแข็งแรงมากขึ้น หลังจากที่ได้บรรลุเป้าหมายแรกอย่างการเปลี่ยนแปลงร่างกายแล้ว
“เราอินกับการเล่นเวตเทรนนิ่งมานานมาก ปัจจุบันก็ยังชอบอยู่ แต่เวตเทรนนิ่งมันมีข้อจำกัดที่ว่าเราต้องมีอุปกรณ์ ต้องไปเล่นที่ยิม คือถ้าเราไม่มียิมที่บ้านเราก็ต้องไปหายิมเล่น แล้วการเข้ายิมมันก็มากเรื่องเพราะต้องไปรอเครื่องเล่นบ้าง ต้องไปเสียค่ายิม ค่าเดินทาง เราก็เปลี่ยนมาเล่นแบบนี้แทน
“แต่ก่อนเราเคยตั้งคำถามว่าการเล่นบอดี้เวตมันจะได้เท่าเวตเทรนนิ่งหรือเปล่า ตอนแรกก็รู้สึกว่าไม่น่าได้ แต่พอเราได้ดูวิดีโอของแฟรงก์เราก็เกิดแรงบันดาลใจเลย สุดมาก เห็นแล้วรู้สึกอยากเล่น ทำให้เรามองบอดี้เวตในอีกมุมหนึ่ง พอมาศึกษาท่าอย่างวิดพื้น โหนบาร์ ท่าที่ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ ส่วนตัวเรารู้สึกว่าเราแข็งแรงกว่าตอนเล่นเวตเทรนนิ่งอีก
1
“ได้ศึกษาว่าเรามีความสามารถขนาดไหน ต้องควบคุมร่างกายยังไง รู้จักร่างกายตัวเองมากขึ้น และที่สำคัญคือไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องมีอุปกรณ์ คือเราจะอยู่ที่ไหนเราก็เล่นได้ อันนี้คือสิ่งที่ทำให้เราชอบที่สุด”
ความสนใจในศาสตร์ที่เรียกว่าคาลิสเตนิกส์ของแพร์ยังส่งผลให้ปัจจุบันเธอทำแบรนด์อุปกรณ์ที่มีชื่อว่า Loaded Fitness ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการออกกำลังกายแบบนี้โดยเฉพาะ ประกอบไปด้วย Weight Vest หรือชุดเพิ่มน้ำหนัก, สายยืด Resistance Band, บาร์คู่ และแอคเซสเซอรี่อื่น ๆ อีกมาก ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เธอใช้จริงและอยากบอกต่อว่าการออกกำลังกายประเภทนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าแบบอื่น ๆ เลยแม้แต่นิดเดียว
จนถึงตอนนี้การออกกำลังกายได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเป็นไลฟ์สไตล์ของแพร์ไปอย่างสมบูรณ์ เมื่อมองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเธอที่เริ่มมาจากการวิ่งเทรลหรือไกลกว่านั้นคือในฐานะคนที่ไม่ชอบขยับร่างกายเลย ก็ยิ่งปฏิเสธได้ยากว่าเธอมาไกลมากแล้วจริง ๆ
1
พัฒนาการของแพร์ชวนให้เรานึกย้อนกลับไปถึงสิ่งที่เธอได้พูดไว้ก่อนหน้านี้ เรื่องที่เกี่ยวกับความไม่พอใจในร่างกายของตนเองที่นำไปสู่คำถามสำคัญของเราต่อจากนี้ว่าการออกกำลังกายช่วยให้ “สุขภาพจิตใจของเธอ” ดีขึ้นด้วยหรือเปล่า ?
สิ่งที่เปลี่ยนไปมากกว่า “ร่างกาย”
“สุขภาพด้านจิตใจเราดีขึ้นมาก แต่ก่อนเรามีแต่พลังลบ ในสายตาคนอื่นอาจจะมองว่าเราเป็นคนมั่นใจ แต่มันก็แค่เปลือกนอก ใครจะไปรู้ว่าคนที่ดูมั่นใจแบบนี้จริง ๆ แล้วขาดความมั่นใจมาก แต่ก่อนก็เรียนอย่างเดียวไม่ได้มีกิจกรรมเยอะขนาดนี้ ไม่ค่อยแฮปปี้กับตัวเองเท่าไหร่
“จากคนที่ทำนู่นทำนี่ไม่ได้นอกจากเรื่องเรียน แต่มาถึงจุดนี้ได้เพราะอยากลองทุ่มให้กับสิ่งนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนนั้นตั้งใจแค่ 60-70 เปอร์เซ็นต์เองด้วย แต่ก็เห็นความแตกต่างแล้ว ถ้าเราตอกย้ำไปเรื่อย ๆ มันจะได้ขนาดไหน”
ในขณะที่เวลาของการพูดคุยเดินไปเรื่อย ๆ เธอก็ยิ่งเปิดใจให้เราฟังมากขึ้นว่าการออกกำลังกายมีผลกระทบกับเธอทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจมากขนาดไหน จากความภาคภูมิใจของเธอทำให้เราสงสัยต่อไปว่า ณ ช่วงเวลานั้นเธอมีบุคคลตัวอย่างที่เธอตั้งให้เป็นแบบอย่าง เป็นเป้าหมายในอนาคตที่อยากจะเป็นเหมือนเขาหรือมีอินฟลูเอนเซอร์คนไหนในยุคนั้นที่สามารถมองแล้วทำตามได้บ้าง
เป็นที่น่าสนใจว่าแม้ว่าเธอจะเห็นคนที่ทนต่อการออกกำลังกายอย่างนักวิ่งเทรลวัย 60 ปีมาก่อน, บรรยากาศในยิมที่เธอไปเล่น หรือ แฟรงก์ เมดราโน่ ที่เธอไปเจอใน Youtube แพร์-อลิตา กลับไม่เคยมีใครเป็นแบบอย่างในการออกกำลังกายเลย
สิ่งที่ขับเคลื่อนเธอให้ไปต่อได้มีเพียง “ตัวเอง” เท่านั้น
“เราไม่มีแบบอย่าง ดูแต่ตัวเอง ใช้ตัวเองเป็นเกณฑ์ เพราะเรารู้สึกว่าถ้าเราไปหาบุคคลต้นแบบก็เป็นการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้ว นั่นจะทำให้เราเครียด
“คือพื้นฐานคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นก็จะหมดกำลังใจ แต่ถ้าเกิดเราเห็นผลลัพธ์จากตัวเอง ถึงคนอื่นไม่เห็นเลยแต่อย่างน้อยถ้าเราไม่เหนื่อยเท่าเมื่อก่อนนี่คือผลลัพธ์แล้ว เช่น แต่ก่อนขึ้นสะพานลอยก็อาจจะเหนื่อยแต่ตอนนี้คือไม่เหนื่อยแล้ว เป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีแค่ตัวเราเท่านั้นที่รู้ นี่คือแรงบันดาลใจของเราเลย
1
“เป็นความรู้สึกแบบ ‘สะพานลอยเราไม่เหนื่อยแล้ว’ ไม่มีใครรู้หรอกแต่เราภูมิใจ พอเรากลับไปวิ่งเทรลบ้างก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราก็พอวิ่งได้มากขึ้นแล้วย้อนกลับไปที่วันแรกที่วิ่ง ยิ่งมีหลาย ๆ อย่างให้เปรียบเทียบกับตัวเองสมัยที่เริ่มออกกำลังกาย ถึงจะไม่ได้ชำนาญแต่เราเห็นความแตกต่างจริง ๆ”
ความเปลี่ยนแปลงที่แพร์เล่าให้เราฟังเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของร่างกายที่เปลี่ยนไปเป็นหลัก เธอรู้สึกตื่นตัวขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย ไม่ขี้เกียจหรืออยากอยู่เฉย ๆ เหมือนแต่ก่อน ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดมากที่สุดตั้งแต่เธอเริ่มออกกำลังกายมา
ยากที่จะไม่สงสัยว่าสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นความชอบของเธอเหล่านี้เคยเปลี่ยนเป็นความกดดันบ้างหรือไม่ ?
“เราไม่เคยรู้สึกอยากจะหยุด แต่ถามว่าท้อหรือเปล่าก็มีท้อบ้างแน่นอน เคยสงสัยว่าทำไมขาไม่ลดสักที ทำไมยังเหลวอยู่ เราเล่นอะไรผิดเหรอ ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าเราต้องเล่นแค่ไหนถึงจะเห็นผล แต่เราก็เล่นมันไปเรื่อย ๆ
“ถึงตอนนั้นตัวจะยังเหลว แต่สิ่งที่เราเห็นชัวร์ ๆ คือเราแข็งแรงขึ้น ตรงนี้แหละที่ทำให้เราไปต่อ เรื่องเล็ก ๆ อย่างการขึ้นสะพานลอยได้มันก็ทำให้เราไปต่อ เพราะทั้งหมดที่เหนื่อยมามันมีผลกับเรื่องเล็กๆ ของเรานี่แหละ”
เรื่องความภูมิใจเล็กน้อยเหล่านี้เป็นสิ่งที่แพร์มักจะย้ำให้เราฟังอยู่บ่อย ๆ ตั้งแต่ที่เราวนเข้ามาคุยเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีประโยคใดที่เน้นย้ำให้เห็นถึง “ความสมบูรณ์แบบ” ว่าถ้าออกกำลังกายจะต้องประสบความสำเร็จ ต้องหุ่นดี หรือต้องดูสวยแม้แต่นิดเดียว
เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่ Health & Fitness Influencer คนนี้กำลังบอกกับเรา คือสิ่งที่เดียวกับที่เธอพยายามจะบอกกับผู้ติดตามของเธอหรือใครก็ตามที่รักการออกกำลังกายเหมือนเธอเสมอมา
เพราะเราจะย้ำอีกครั้งว่า เธอก็เริ่มต้นมาจากศูนย์ไม่ต่างจากใครที่รักการออกกำลังกายคนอื่น ๆ เลย
ความสำเร็จทางใจ
นับตั้งแต่ที่เธอเริ่มมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จนในที่สุดเธอก็ได้กลายมาเป็น Health & Fitness Influencer และ Fitness Model แบบเต็มตัว แพร์ ยังคงเน้นย้ำถึงสิ่งที่เธออยากจะบอกให้ทุกคนที่ติดตามเธอได้รู้อยู่เสมอคือ ให้โฟกัสถึงเรื่อง “วิธีการ” ที่จะไปถึงเป้าหมายมากกว่า “ผลลัพธ์” ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องที่หลายคนมักจะมองข้ามหรือไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก จนสุดท้ายนำไปสู่การล้มเลิกในที่สุด ทั้งในเรื่องของการคุมอาหารตลอดจนถึงการออกกำลังกาย
“คนส่วนมากอยากได้วิธีการการออกกำลังกายอะไรก็ได้ที่ทำน้อยที่สุดแต่ได้ผลลัพธ์เยอะที่สุด เพราะส่วนมากคนไม่ค่อยคิดถึงเรื่องวิธี ทำยังไงถึงจะได้ จะต้องเล่นอะไร ความหนักแค่ไหน ไม่ค่อยมีใครคิดถึงตรงนี้เลย คิดแค่ว่านานเท่าไหร่ ถ้ายังไม่ได้ก็จะเลิกระหว่างทางไปเลย
“หลาย ๆ คนพยายามที่จะหาทางลัดหรืออะไรก็ได้ที่เร็วที่สุด แต่การออกกำลังกายมันใช้เวลา ต้องอาศัยการการฝึกฝนและวินัย ยิ่งเป้าหมายสูงเท่าไหร่มันก็ยิ่งใช้เวลานานเท่านั้น ความตั้งใจ ความทุ่มเทต้องมี เราต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายของเราคืออะไร หลาย ๆ ครั้งการออกกำลังกายอย่างเดียวก็ไม่พอ การกิน การนอน การใช้ชีวิตประจำวันก็สำคัญเพราะมันสัมพันธ์กันหมด
“เราต้องการบอกให้คนทำท่าให้ถูกต้องให้คนเข้าใจ สำคัญที่สุดคือเรื่องของการลดสัดส่วนที่ส่วนมากคนชอบบอกกันว่าลดขาต้องเล่นท่านี้ ลดท้อง ระเบิดไขมัน ขา แขน อันนี้เป็นสิ่งที่หลายคนยังมีความเข้าใจที่ผิดกันอยู่ ซึ่งเราก็ย้ำบ่อยมากว่า ‘ไม่มีท่าไหนในโลกที่เราเล่นแล้วท้องเราจะลดอย่างเดียว’ หรือ ‘ไม่มีท่าไหนที่แขนเราจะลดอย่างเดียว’ ทุกอย่างคือการบริหารกล้ามเนื้อและมันขึ้นอยู่กับรูปร่างเรา
“จุดยืนคือความแข็งแรง ผู้หญิงจะต้องแข็งแรง นี่คือสิ่งที่เรายืนยันมาตลอด”
1
1
หากเรามองให้ละเอียดขึ้น สิ่งที่ แพร์ พยายามจะบอกกับเราคือ เธออยากให้เรื่องของ “ความภูมิใจเล็ก ๆ น้อย ๆ” แบบที่เธอเคยได้มาเมื่อตอนที่เริ่มใหม่ ๆ มีผลกับทุกคนในแบบที่เธอเคยมีและพยายามตั้งเป้าหมายไว้สั้น ๆ เพราะบางทีการคาดหวังไว้สูงก็อาจเป็นยาพิษที่ทำให้ใครหลายคนเลิกดูแลสุขภาพไปกลางคันไปอย่างน่าเสียดาย
ก่อนที่เวลาพูดคุยจะหมดลง เรายิงคำถามสุดท้ายว่า ความสำคัญลำดับต้น ๆ ของการเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์สายสุขภาพสำหรับเธอคืออะไร ?
คำตอบของ แพร์-อลิตา คือเรื่องของ “ความสำเร็จทางใจ” ที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะมาจากอะไรเล็กน้อยอย่างการขึ้นสะพานลอยแล้วไม่เหนื่อย ซึ่งนั่นเองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เธอภูมิใจที่สุด บวกกับเรื่องเล็กน้อยอีกหลายเรื่องที่ค่อย ๆ หล่อหลอมเธอให้เป็นเธอในทุกวันนี้
“เราพยายามพูดเสมอว่าเวลาตั้งเป้าหมายอย่าตั้งไปไกล เพราะมันเป็นอะไรที่ไปถึงได้ยาก พอไปถึงยากโอกาสที่จะหยุดก็เยอะ เราพูดจากประสบการณ์ เราเห็นข้อแตกต่างเพียงนิดเดียวที่ไม่มีใครเห็นเลย เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เล็ก แต่พอความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ มารวมกันก็จะทำให้มันกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้นได้
“ตัวเราจากเมื่อก่อนที่ไม่เคยรักตัวเอง โจมตีตัวเองตลอดเวลา ตอนนี้รักตัวเองมาก เราอยากดูแลตัวเองให้ดี เราเห็นความสำคัญของสุขภาพในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เรามีความสุขกับตัวเอง รู้สึกภูมิใจกับตัวเองในการเปลี่ยนแปลงของตัวเองมากที่สุด เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่คนอื่นอาจไม่เห็นแต่เราเห็นแค่คนเดียว อันนี้เราภูมิใจที่สุดแล้ว ใครจะไปรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงมันเยอะแค่ไหน
“มันเป็นความสำเร็จทางใจล้วน ๆ”
บทความโดย ณัฐพล ทองประดู่
5 บันทึก
5
1
5
5
5
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย