10 พ.ค. 2022 เวลา 10:00 • อสังหาริมทรัพย์
ส่องอนาคต "โทเคน" ในธุรกิจอสังหาฯรับเทรนด์การลงทุน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะกับนักลงทุนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่นักลงทุนรายใหญ่ รวมไปถึงนักลงทุนสถาบันโดยหนึ่งในนั้นคือ "โทเคน" ในธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง
ส่องอนาคต "โทเคน" ในธุรกิจอสังหาฯรับเทรนด์การลงทุน
ในงานเสวนา REAL ESTATE ASSET TOKENIZATION : OPPORTUNITY FOR INVESTMENT จัดโดย ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Terra BKK
นางสาวชัชนี ภาวศุทธิกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สินทรัพย์ดิจิทัล (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ และสากล) ประกอบด้วย 3 ประเภทหลักๆ คือ 1) คริปโตเคอร์เรนซี 2) Utility token 3) Investment token ซึ่ง Real Estate Tokenization ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภท Token
โดย Token จะเป็นตัวแทนของสิทธิ์หรือทรัพย์สินที่สามารถแบ่ง Asset เป็นหน่วยย่อยๆได้ มีประโยชน์ คือสามารถเพิ่มสภาพคล่องให้กับสินทรัพย์ได้ ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาที่ไปได้ง่ายและสะดวกต่อการรักษาความปลอดภัย รวมถึงยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องตัวกลางได้อีกด้วย ซึ่งจะสามารถเรียกกระบวนการในลักษณะนี้ได้ว่า ICO มีความแตกต่างกับ IPO ตรงที่ผลตอบแทนของการลงทุนจะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของโครงการไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของบริษัทเหมือน IPO และเป็นการระดมทุนมาเพื่อการพัฒนาโครงการ
ส่วน IPO จะเป็นการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ เช่น เครื่องจักร ที่ดิน โดยต้องมีการเติบโตของบริษัทมาก่อน ซึ่งการเสนอขาย ICO จะไม่ได้ทำโดยบริษัทอสังหาฯโดยตรงแต่จะต้องทำการขายผ่านคนกลางที่เรียกว่า ICO Portal และหลังจากที่ผู้ลงทุนซื้อ Token ไปแล้วจะสามารถนำไป Trade ต่อได้เลย แต่ผู้ที่ถือ Token จะไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ครอบครองหรือผู้ที่มีชื่อในทะเบียนอยู่
ซึ่งทางบริษัทอสังหาฯจะต้องมีการจ้างทรัสตีมาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสินทรัพย์ต่างๆ และ Mornitor การทำงานของบริษัทด้วย ในด้านความแตกต่างระหว่าง ICO กับ REIT ต่างกันตรงที่ ICO จะมีความสามารถในการระดมทุนในรูปแบบใหม่นั่นคือการระดมทุนผ่าน Token ที่จะเปิดโอกาสในผู้ลงทุนรายย่อยได้ร่วมลงทุนด้วย และยังลดการทำบัญชีของบริษัทได้ สามารถติดตามที่มาที่ไปของ Token ได้อย่างชัดเจนรวมถึงความความปลอดภัยสูงกว่าการลงทุนผ่าน REIT
นายภากร ศรีมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด ได้ยกตัวอย่าง กรณีศึกษา "Aspen Coin" ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกของโลกที่มีการนำหุ้นของโรงแรมมาทำเป็น Tokenize โดยการนำสิทธิ์การถือครองมาแตกเป็นหน่วยลงทุน ซึ่งในลักษณะนี้ยังไม่สามารถทำในประเทศไทยได้ SiriHub Investment Token เป็น Token เกี่ยวกับอสังหาฯตัวแรกของไทยที่มีการเปิดให้ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนได้ เปิดตัวไปเมื่อประมาณปลายปี 2564
โดยจะเป็นการลงทุนผ่านการเช่า คือ บริษัท SPV77 ได้ทำการซื้ออาคาร Siri Campus และปล่อยให้เช่าคืนกับบริษัทแสนสิริ เพื่อใช้เป็นสำนักงานใหญ่ และจะนำรายได้จากการปล่อยให้เช่าคืนมาเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน โดยอยู่ในรูปของ Token โดยจะแบ่งเป็น 2 อาคาร คือ SiriHub A และ SiriHub B ที่จะให้ผลตอบแทนที่ต่างกันและเมื่อจบโครงการก็จะมีการประมูลขายโครงการซึ่งถ้าประมูลขายได้เกิน 1,600 ล้านบาทเงินส่วนที่เหลือก็จะเป็นผลตอบแทนเพิ่มเติมให้กับผู้ลงทุนใน SiriHub B ซึ่งมีความเสี่ยงที่สูงกว่า
นายสิริพงศ์ ศรีสว่างวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พาร์ค ลักชัวรี่ จำกัด ในเครือออริจิ้น มองว่า ปัจจุบันการเข้ามาของ Token ยังถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องมีการพัฒนาอยู่และเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับการลงทุนด้วย ซึ่งมีข้อดีกับทางบริษัทอสังหาฯ คือ การที่ได้วิธีการระดมทุนในรูปแบบใหม่และผู้ที่มาลงทุนเองก็จะได้รับข้อดีใน Real Estate ด้วย
การที่ Real Estate ถือเป็นสินทรัพย์ได้ แต่ยังไม่สามารถนำมาขายให้รายย่อยได้ในไทย แต่ในที่สุดเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้นนอกจากเราจะสามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนรายย่อยในบ้านเราได้แล้วเรายังจะสามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนในต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนให้กับผู้ลงทุนได้เนื่องจากไม่จำเป็นต้องลงเงินก้อนใหญ่ในการซื้ออสังหาฯแต่เป็นการกระจายการลงทุนไปให้กับผู้ลงทุนรายย่อยได้
โดยสรุป Real Estate Tokenization เป็นกระบวนการซื้อขาย Token Digital เพื่อการลงทุน ซึ่งจะเป็นการระดมเพื่อการพัฒนาโครงการแต่ไม่สามารถทำการขายได้โดยตรงจะต้องทำการขายผ่านคนกลางที่เรียกว่า ICO Portal โดยจะมีข้อดี คือ ทำให้เกิดสินทรัพย์ที่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ดีขึ้น นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ด้วยเงินทุนที่น้อยลง สร้างความสามารถในการระดมทุนในรูปแบบใหม่ สามารถลดภาระในด้านบัญชีของบริษัท สามารถติดตามและตรวจสอบที่มาที่ไปของ Token ได้ง่าย และมีความปลอดภัยในการลงทุนสูงขึ้น
สำหรับการนำมาใช้ในประเทศไทย ปัจจุบัน ก.ล.ต.ได้มีการปรับเกณฑ์การระดมทุนแบบ ICO ในส่วนของการเสนอขาย Token ให้สามารถอ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (Real-estate back ICO) ได้ โดยให้อสังหาริมทรัพย์ที่อ้างอิงต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมสร้างรายได้ โดยจะต้องลงทุนมากกว่า 80% ของทั้งโครงการนั้น และต้องไม่ใช่การลงทุนเฉพาะหน่วยย่อย และยังมีการกำหนดให้มีทรัสตีเข้ามาเพื่อดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือ Token ด้วย
ในประเทศไทยได้มีการจัดทำ Token ประเภทนี้แล้ว คือ SiriHub Investment Token ของทางแสนสิริ โดยสามารถให้ผู้ลงทุนรายย่อยไปร่วมลงทุนได้ และในอนาคตคาดว่าน่าจะมีการเกิดขึ้นของการลงทุนในลักษณะอีก เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและมีผู้สนใจเป็นจำนวนมากทั้งในมุมมองของผู้ลงทุนเองหรือในมุมของบริษัทอสังหาฯก็ตาม
ดังนั้น การลงทุนในรูปแบบ Token ในไทยนั้นยังถือเป็นเรื่องใหม่ แต่กำลังเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จากตัวอย่างได้จากการที่มีผู้ให้ความสนใจในการลงทุนกับ SiriHub Investment Token เป็นจำนวนมากที่ถือเป็น Real Estate Asset Tokenization ตัวแรก ในไทยที่มีการเปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน
โฆษณา