9 พ.ค. 2022 เวลา 12:00
เข้าใจ “ความเป็นไทย” ในหลากหลายมุม
เมื่อพูดคำว่า “ความเป็นไทย” แน่นอนว่าเราต้องนึกถึงการรำไทย ขนมไทย ลายกนก หรือภาพลักษณ์อะไรก็ตามที่พบเห็นได้ตามหนังสือเรียน หรือคู่มือการท่องเที่ยว
แต่ “ความเป็นไทย” หากให้พูดจากปากของคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศ เราย่อมรู้ดีว่ายังมีลักษณะบางอย่างที่ต่อให้ไม่ต้องเป็นการรำไทย ภาพวาดจิตรกรรมไทย เราก็สัมผัสได้ว่าสิ่งนี้มีความ “ไทย” อยู่จริง
เพราะ “ความเป็นไทย” นั้นมีหลายแบบ
ประชา สุวีรานนท์ ผู้เขียนหนังสือ “อัตลักษณ์ไทย : จากไทยสู่ไทย ๆ” ได้จำแนกความเป็นไทยออกเป็นสี่แบบ
(1) ไทยประเพณี (Traditional Thai)
(2) ไทยพื้นบ้าน (Folk Thai)
(3) ไทย ๆ (Vernacular Thai)
(4) ไทยร่วมสมัย (Contemporary Thai)
ไทยประเพณี (Traditional Thai)
ความเป็นไทยที่ถูกจัดว่ามีความเป็นศิลปะ มีความแท้และศักดิ์สิทธิ์จนไม่สามารถนำไปดัดแปลงหรือพัฒนาต่อได้ ได้รับการอุปถัมภ์โดยรัฐหรือชนชั้นสูง ซึ่งมักพบเห็นได้ตามวัง วัด พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น
ไทยพื้นบ้าน (Folk Thai)
แม้ไม่ถูกจัดว่าวิจิตรบรรจงสูงส่งเท่ากับไทยประเพณี แต่ก็มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเพราะมีความแท้ โดยอาศัยอยู่ตามชนบท วิถีชีวิตเรียบง่าย อาจถูกอุปถัมภ์โดยรัฐ ชนชั้นกลาง และชาวบ้าน
ไทย ๆ (Vernacular Thai)
ความเป็นไทยแบบชายขอบ ที่ไม่มีความแท้และไม่เป็นศิลปะ พบเห็นได้ตามท้องถนน พื้นที่กึ่งสาธารณะ หรือพื้นที่ส่วนตัวของคนไทย เกิดจากการผสมผสาน การลอกเลียนแบบ มีความเป็นไสยศาสตร์ งมงาย และมาจากชนชั้นล่าง ชนกลุ่มน้อย
ไทยร่วมสมัย (Contemporary Thai)
ความเป็นไทยที่ถูกนำเสนอในบริบทใหม่ แต่ไม่มีความแท้ เพราะเป็นการเอาความเป็นไทยในประเภทอื่น ๆ มาทำให้เป็นศิลปะ ไทยประเภทนี้มักถูกสนับสนุนโดยหอศิลป์ และสื่อของชนชั้นกลาง
พูดให้เห็นภาพ ก็คือ
ไทยประเพณี - ลายกนก จิตรกรรมฝาผนัง นาฏศิลป์ขั้นสูง
ไทยพื้นบ้าน - บ้านเรือนไทย เครื่องจักรสาน
ไทย ๆ - เก้าอี้พลาสติคหลากสีตามรถเข็น ปลัดขิก
ไทยร่วมสมัย - ภาพวาดจิตรกรรมของอ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
ในยุคที่การส่งออกของแต่ละประเทศขับเคลื่อนด้วยการใช้ทุนทางวัฒนธรรมนำมาปั้นให้กลายเป็น soft power (อำนาจอ่อน) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องเริ่มเข้าใจก่อนว่าแท้จริงแล้วนั้น “ความเป็นไทย” มีเพียงแค่แบบเดียวหรือมีหลายแบบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นอย่างหลัง
นำมาสู่การเปิดกว้างทางความคิดที่ว่า หากความเป็นไทยนั้นมีหลายแบบแล้ว คงถึงเวลาที่เราควรจะเลิกกีดกันผ่านการถามคำถามว่า “อะไรคือไทยแท้ ? หรือไทยไม่แท้?” แล้วยอมรับว่า ทุก ๆ วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเกิดจากชนชั้นไหน ล้วนก็เป็นทุนทางวัฒนธรรมของประเทศทั้งสิ้น
อ้างอิง
หนังสือ “อัตลักษณ์ไทย : จากไทยสู่ไทย ๆ” เขียนโดย ประชา สุวีรานนท์
โฆษณา