11 พ.ค. 2022 เวลา 06:00 • อาหาร
พามาดื่มชาสไตล์เตอร์กิช
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สังเกตกันมั้ยว่า วัฒนธรรมการดื่มชานั้นมีความหลากหลายมากๆ พวกเราคุ้นเคยดีกับชาจีน ชาเขียวญี่ปุ่น และการดื่มชาแบบอังกฤษก็เป็นที่นิยมกันในไทย แต่วัฒนธรรมชาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเราอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกัน คือชาในประเทศตุรกี เราเองก็มาที่อิสตันบูลได้ 2 เดือนแล้ว ได้ลองดื่มชาทุกวัน ก็เลยอยากจะมาแชร์เรื่องชาในตุรกีกัน
ชาถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของสังคมตุรกี เป็นเครื่องดื่มในระหว่างการพูดคุยสังสรรค์กันทุกวาระ เช้าสายบ่ายเย็นยันตะวันตกดินก็ดื่มชากัน ดื่มคู่กันไปทั้งอาหารเช้า กลางวัน เย็น มีดินเนอร์ปาร์ตี้ ก็ต้องตบท้ายด้วยชาเป็นการล้างปาก
นอกจากตามร้านอาหารและคาเฟ่แล้ว ก็มีคนเร่ขายชาร้อนพร้อมดื่มใส่ถาด ทั้งในตลาด บนเรือข้ามฟาก แม้กระทั่งบนสะพานหรือท่าเรือที่คนมาตกปลากัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่ชาวเตอร์กิชจะเป็นเจ้าของสถิติการบริโภคชามากที่สุดในโลก ถึงประมาณ 1,300 แก้วต่อคนต่อปี
แก้วชาที่ใช้เสิร์ฟเป็นดีไซน์เฉพาะของที่นี่ รูปทรงดอกทิวลิปไม่มีหู ตอนแก้วร้อนก็จับตรงขอบที่บานออก ก็จะไม่ร้อนมือ พอชาเย็นลงมาหน่อย ก็จับตรงกลางแก้วที่ขอดแคบลง แล้วยังเราสามารถประคองด้านล่างของแก้วที่ป่องออกในอุ้มมือ แก้วมันพอดีมือจริงๆ แล้งยังทำให้มืออุ่นตอนอากาศหนาวได้ด้วย
การเตรียมชาก็แตกต่างจากที่อื่น โดยเขาใช้กาสองชั้น กาชั้นบนเอาไว้ใส่ชา ปรุงแช่ไว้ ส่วนชั้นล่างเป็นน้ำร้อน สำหรับเติมในชาแล้วแต่ความเข้มตามใจชอบ ในร้านอาหารก็ปรับกาด้านล่างเป็นหม้อต้มน้ำร้อน โดยมีกาชาอยู่ด้านบน 2 ใบ ไว้รองรับปริมาณลูกค้า
ชาในตุรกีส่วนมากจะเป็นชารีเซ่ ที่มาจากจังหวัดรีเซ่ (Rize) ทางตะวันออกของทะเลดำ เพราะสภาพภูมิอากาศชุ่มชื่น และดินอุดมสมบูรณ์ ชานี้เวลาชงแล้วจะออกเป็นสีไม้มะฮอกกานี แล้วเขาจะไม่ใส่นม มะนาว หรือเลมอน แบบอังกฤษหรือไทย แต่จะมีน้ำตาลก้อนบนโต๊ะให้ใส่ หรือถ้าสมัยใหม่หน่อยก็เป็นน้ำตาลซอง
ชาในภาษาตุรกีคือ ไชย์ (Çay) คล้ายกับ Chai ในภาษาอังกฤษ เป็นศัพท์ที่รับมาจากภาษาเปอร์เซีย ซึ่งรับมาจากจีนตอนเหนือผ่านเอเชียกลางอีกต่อหนึ่ง นั่นเพราะชาเดินทางมาถึงตุรกีโดยการค้าผ่านเส้นทางสายไหม แต่ชาได้กลายมาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในตุรกีก็เริ่มจากช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการรณรงค์ให้ดื่มแทนกาแฟที่ขาดแคลนลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จากช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจของชาก็ขยายเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน
การเดินทางของชาจากประเทศจีนไปทั่วโลกเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ที่น่าค้นหามากกว่านั้นคือ แต่ละวัฒนธรรมที่รับชาไปนั้น ได้เอาไปปรับจนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ชาในตุรกีเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
#สาระนอกจาน #saranokchan #sidedish #ชา #ตุรกี
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตาม สาระนอกจาน ได้ที่ :
โฆษณา