11 พ.ค. 2022 เวลา 13:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
APEC 2022 THAILAND เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล
ปี 2565 นับเป็นปีที่พิเศษสำหรับประเทศไทยที่จะได้แสดงบทบาทสำคัญบนเวทีโลก ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือที่เราเรียกกันว่า “เอเปค (APEC)” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยแสดงศักยภาพด้านเศรษฐกิจ และร่วมผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ทำความรู้จักเอเปค
เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกที่มีพลังในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของโลก เนื่องจากมีสมาชิกที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก โดยปัจจุบันเอเปคมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จีนไทเป เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี ชิลี เปรู เวียดนาม และรัสเซีย ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 2,900 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลก
โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product: GDP) ของภูมิภาคกว่า 52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 62% ของ GDP โลก นอกจากนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเอเปคคิดเป็น 48% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าโลก และมีมูลค่าการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment: FDI) มากถึง 68% ของมูลค่า FDI โลก
เอเปคก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2532 เพื่อส่งเสริมระบบการค้าเสรีในกรอบพหุภาคี ด้วยการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า สินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างเขตเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์กรการค้าโลก รวมถึงพัฒนาความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านพลังงาน ด้านการเงินการคลัง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก
เปิดกว้างทางโอกาส ฟื้นฟูการเชื่อมโยง สู่การเติบโตอย่างสมดุล
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ไทยได้รับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคประจำปี 2565 ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองหลังจากที่ไทยเคยทำหน้าที่ดังกล่าวมาแล้วเมื่อปี 2546 ท่ามกลางสภาวะที่
ทั่วโลกต่างพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจและหาแนวทางอยู่ร่วมกับโรคโควิด 19
ด้วยการทยอยกลับมาเปิดประเทศเพื่อเชื่อมโยงการค้าและการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน จึงได้ตั้งหัวข้อใหญ่ของการประชุมในปีนี้ว่า “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open. Connect. Balance.)” โดยให้ความสำคัญในสามเรื่อง คือ (1) การทำให้เอเปคเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ด้วยการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP)
(2) การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติโดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว ผ่านการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือเรื่องการเดินทางอย่างสะดวก ปลอดภัย และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) และ
(3) การส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาใช้ในการพัฒนาภูมิภาคเอเปค ซึ่งจะสะท้อนในเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในปลายปีนี้
บทบาทของ ธปท. ในเวทีเอเปค
ธปท. ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Minister’s Process: APEC FMP) เพื่อที่ภาคการเงินจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในหัวข้อใหญ่ของไทยด้วยการให้ความสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ (1) การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable finance)
ที่มุ่งเน้นการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับทุกภาคส่วนให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเขตเศรษฐกิจและ (2) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (digitalization for digital economy)
ที่นำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ การเชื่อมโยงการชำระเงิน และการสนับสนุนการระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ
ในช่วงการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies' Meeting: APEC FCBDM) เมื่อวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ธปท. ได้เสนอเรื่องการเชื่อมโยงการชำระเงินในเอเปค (APEC Payment Connectivity) เพื่อให้สมาชิกได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาการเชื่อมโยงการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างกัน
ซึ่งเขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถนำไปปรับใช้ตามความสมัครใจเมื่อมีการริเริ่มการเชื่อมโยงการชำระเงินในภูมิภาค
สำหรับกรณีของไทย ความสำเร็จอย่างสูงของการพัฒนาระบบการชำระเงินภายในประเทศ ได้ต่อยอดไปสู่การเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ การเชื่อมโยง cross-border QR payment เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ
โดยเริ่มให้บริการแล้ว 6 คู่ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ และการเชื่อมโยง cross-border remittance ที่เชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อย (real-time retail payment)
ระหว่างระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทยและระบบเพย์นาว (PayNow) ของสิงคโปร์เมื่อเมษายน 2564 ซึ่งถือเป็นการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์คู่แรกของโลก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทั้งสองประเทศในการโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง
ดังนั้น ข้อเสนอแนะในการพัฒนาการชำระเงินและการโอนเงินที่ไทยเสนอในปีนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่กลุ่มเอเปค ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการโอนเงินระหว่างประเทศสูง เห็นได้จากกว่าหนึ่งในสี่ของการโอนเงินทั่วโลกในปี 2563 ได้ถูกโอนมายังเขตเศรษฐกิจในกลุ่มเอเปค
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การเชื่อมโยงดังกล่าวก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น และเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 คลี่คลาย
ไทยจะได้รับอะไรจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค การรับตำแหน่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยท่ามกลางความท้าทายที่หลากหลาย ทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และความผันผวนทางเศรษฐกิจการเมืองโลก นับเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้แสดงความเป็นผู้นำในการผลักดันนโยบายและทิศทางการพัฒนาต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไทยและกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค
รวมถึงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของทุกภาคส่วนและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล ในปีนี้ไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะจัดการประชุมต่าง ๆ ภายใต้กรอบเอเปคแบบพบหน้ากันอย่างเต็มรูปแบบ (physical meeting) เพื่อช่วยฟื้นฟูการเดินทางและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
ซึ่งแสดงถึงความพร้อมของไทยในการรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน นอกจากนี้ การส่งเสริมการเชื่อมโยงการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างประเทศที่ ธปท. ผลักดัน จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้โอกาสเปิดกว้างในการเข้าถึงบริการทางการเงินใหม่ ๆ ในการสร้างความสัมพันธ์และเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อการพัฒนาภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกในยุคหลังโควิด 19 อย่างสมดุลและยั่งยืน
โฆษณา