11 พ.ค. 2022 เวลา 15:12 • ข่าว
ไทยติดอันดับ 1 ประเทศฟื้นตัวและรับมือการระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุด
7
นายกฯ พอใจการดำเนินงานด้านสาธารณสุข ส่งผลไทยติดอันดับ 1 ประเทศที่ฟื้นตัวและรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุด เป็นตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
8
วันที่ 11 พ.ค. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจความร่วมมือการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านสาธารณสุข ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
3
พร้อมชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เกี่ยวข้อง ที่ได้ทุ่มเททำงานด้วยความเสียสละมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างทั่วถึง ประชาชนพึงพอใจต่อคุณภาพ มาตรฐานบริการสาธารณสุข
2
ทั้งนี้ การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลต่อการจัดอันดับของประเทศไทยในเวทีโลก ด้านสาธารณสุข ประจำปี 2564 ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 1 ประเทศที่ฟื้นตัวและรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุด
จากการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ในมิติด้านการฟื้นตัว (Global Recovery Index) และด้านความรุนแรงของการระบาด (Global Severity Index) ไทยได้รับการประเมินให้ได้คะแนนดีที่สุดจาก 184 ประเทศทั่วโลก
4
สำหรับผลการดำเนินงานสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564
ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ จำนวน 47.56 ล้านคน (จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 47.74 ล้านคน) ครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 99.61%
1
ขณะที่หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนให้บริการผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีจำนวน 14,549 แห่ง ส่วนการให้บริการตามสิทธิประโยชน์ ประกอบด้วย
1. บริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น บริการสุขภาพทั่วไป มีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในใช้บริการต่ำกว่าเป้าหมาย และ
2. บริการเฉพาะกลุ่มนอกงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยเอดส์ มีการเข้ารับยาต้านไวรัสสูงกว่าเป้าหมาย จำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้ารับบริการล้างไต ฟอกไต ปลูกถ่ายไต สูงกว่าเป้าหมาย และผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ได้รับการดูแลในชุมชนตามแผนการดูแลรายบุคคลต่ำกว่าเป้าหมาย
1
สาเหตุที่ผลงานบริการที่ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม และการปรับเปลี่ยนรูปแบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิวิถีใหม่ที่เน้นการจัดบริการนอกหน่วยบริการเพื่อลดความแออัด
1
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จข้างต้นยืนยันถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างดีที่สุด ยกระดับมาตรฐานและความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้กับประเทศไทย จนได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก
รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และดูแลรักษาสุขภาพ (Medical & Healthcare Hub) แห่งหนึ่งของโลก ซึ่งความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชนเป็นเป้าหมายอันดับแรกของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการป้องกันและส่งเสริมการรักษาสุขอนามัยในทุกช่วงวัย พร้อมๆ กับเตรียมสวัสดิการเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกคน
“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ ระบบสาธารณสุขของไทยจะไม่หยุดอยู่กับที่ จะต้องพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติที่ได้วางไว้ โดยมีหลักยึดที่สำคัญ คือ เราจะเดินหน้าไปพร้อมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของประเทศ”
โฆษณา