12 พ.ค. 2022 เวลา 05:24 • การศึกษา
เพราะว่าเราไม่รู้สึกตัวว่า เรากําลังอ่อนไหวต่อรัก โลภ โกรธหลง ด้วยกําลังของสติและความรู้สึกตัวมีไม่พอ ไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตจึงอ่อนไหวไปตามการรับรู้ในกระแสของโลก จิตจึงปรุงแต่งอารมณ์จากการรับรู้ที่ตอนแรก แค่เห็น ได้ยิน สัมผัส การคิดที่เป็นแค่อารมณ์เฉยๆ แต่ต่อมาปรุงแต่งเป็น ชอบ ไม่ชอบ สุข ทุกข์ ดี ใจ เสียใจ โกรธ เกลียด เกิดเป็นอารมณ์อื่นๆ ผสมปนเปวุ่นวายไปหมด และเก็บอารมณ์เหล่านี้ไว้ในสัญญา
สังเกตุดูว่าบางครั้งที่เราจิตสงบ เป็นอิสระ เราไม่มีความคิดเรื่องใดๆ หรือเราคิดเรื่องอื่นไปเลยที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ทําให้เราทุกข์ เราก็ไม่ทุกข์และเรื่องเหล่านี้ก็จะหายไปชั่วคราวและก็จะกลับมาใหม่ตอนเราคิดถึงมันอีก นั่นเป็นการฝึกระงับแบบชั่วคราว
โลภะ โทสะ โมหะ มันเป็นกิเลส ที่สะสมอยู่ในดวงจิต ซึ่งมีหลายประเภทและหลายชั้น ตัณหาหรือความอยากมีอยากเป็น ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ก็เป็นกิเลสตัวหนึ่งเข่นเดียวกัน ตัณหาเป็นกิเลสแนวเจ้าเล่ห์ อยู่ในระดับชั้นลึกๆในดวงจิต ที่หลอกให้เรามีตัวตน เป็น นาย ก. นาย ข. เป็นมนุษย์ผู้จะต้องมี ความโลภ โกรธ หลงเสมอ
กิเลสที่ครอบงําในดวงจิตทําให้เราอ่อนไหวไปกับมัน มนุษย์ปุถุชนธรรมดาจึงต้องมีกิเลส โลภะ โทสะ เสมอ แต่มีมากมีน้อยไม่เท่ากัน เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า พระพุทธเจ้าท่านจึงใช้วิธีการให้ยา ตั้งแต่เบาไปหาหนัก นั่นคือเริ่มต้นด้วยศีล เป็นการควบคุมกิเลสอย่างหยาบๆ ตามด้วยสมาธิสําหรับกิเลสระดับกลาง และปัญญาสําหรับกิเลสในระดับลึกหรืออนุสัย
ศีล สมาธิ และปัญญา คือหนทางแห่งมรรคที่จะทําให้เราหลุดพ้นไปจากกิเลสพวกนี้ได้ เมื่อเราละได้จิต จึงเป็นอิสระโดยแท้จริง
หนทางการปฏิบัติในเส้นทางแห่งมรรค ทําได้หลายวิธีซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีการเจริญสติและสมาธิภาวนา แต่คุณอย่าเข้าใจผิดว่าต้องไปบวชชี หรือไปนั่งสมาธิที่วัด การเจริญภาวนาในสติปัฏฐานสูตร ไม่จําเป็นต้องนั่งหลับตาก็ได้ เพียงแค่เราตามรู้ความรู้สึก หรือฝึกการรู้สึกตัวบ่อยๆ เวลาเราโกรธ มีความโลภ หรือมีความคิดปรุงแต่งใดๆ เพียงแค่รู้ว่ามีความคิดนี้เกิดขึ้น โดยไม่ต้องปรุงแต่ง ความโลภ โกรธ หลง มันจะค่อยๆดับไปเอง
ที่มันไม่ดับไปตั้งแต่แรกเพราะเราไม่รู้สึกตัว เราร่วมปรุงแต่งและกลายเป็นส่วนหนึ่งของมัน ตัวอย่างเช่น เราเห็นคนโกรธ ตัวเราไม่ยักจะโกรธ เราเห็นคนมีความรัก เราก็ไม่ได้รักไปด้วย เพราะเราเป็นผู้เฝ้าดู เราไม่ได้เข้าไปร่วมด้วย การเจริญสติแบบรู้สึกตัวคือฝึกเป็นผู้เฝ้าดูอาการของจิต ไม่เข้าไปร่วมปรุงแต่งต่อวิธีนี้สามารถฝึกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเดิน นั่งนอน อาบนํ้า กินข้าว ทํางาน ก็ให้รู้สึกตัว
ฝึกทําบ่อยๆ จะค่อยๆรู้ทันความคิดเรื่อยๆ เมื่อสติและความรู้สึกตัวมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนทันความรู้สึกโลภ โกรธ หลง ที่มันเริ่มก่อตัว จนทํางานต่อไปไม่ได้ในที่สุด
โฆษณา