16 พ.ค. 2022 เวลา 00:01 • ประวัติศาสตร์

การเริ่มต้นยุคประวัติศาสตร์

และจารึกเก่าแก่ที่สุดในดินแดนไทย
ยุคประวัติศาสตร์ เป็นยุคที่มีการใช้ตัวอักษร โดยแต่ละสังคมของมนุษย์จะเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ไม่พร้อมกัน
สำหรับสังคมในดินแดนไทย คาดว่าเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ในปลายพุทธศตวรรษที่ 11 (พ.ศ. 1001 - 1100)
จากการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมอินเดีย ปัจจัยสำคัญมาจากการค้าขายและการเผยแพร่ศาสนา ผู้ที่มีความรู้ในการอ่าน-เขียนอักษรส่วนใหญ่เป็นชนชั้นปกครอง พ่อค้า และนักบวช
สมัยดังกล่าวตรงกับช่วงอาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11 - 16) อยู่ในยุคอาณาจักรโบราณ หรือยุคก่อนสุโขทัย ตามการแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ไทย
อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนไทย คือ อักษรปัลลวะ ส่วนใหญ่บันทึกเป็นภาษาสันสกฤต พบทั่วไปในทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือ
1
อักษรปัลลวะเกิดขึ้นในอินเดีย สมัยราชวงศ์ปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 11 และได้แพร่หลายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จารึกหมู่บ้านหวอก่าญ จังหวัดญาจัง เวียดนาม เป็นจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต และเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราวพุทธศตวรรษที่ 7-9
จารึกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในไทย คือ จารึกบ้านวังไผ่ เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ คาดว่าอยู่ใน พ.ศ. 1093
บันทึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต เนื้อหาเกี่ยวกับการครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ปรากฏพระนาม
ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระจักรพรรดิ์ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน ผู้เป็นใหญ่เสมอกับพระเจ้าภววรมันที่ 1 (กษัตริย์แห่งอาณาจักรเจนละ)
แต่จารึกที่เก่าแก่ที่สุด ที่ระบุศักราชไว้ชัดเจน คือ จารึกกรอบประตูปราสาทเขาน้อย จังหวัดสระแก้ว ระบุศักราช 559 เป็นมหาศักราช จะตรงกับ พ.ศ. 1180
1 จารึกปราสาทเขาน้อย ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จ.ปราจีนบุรี / 2 ปราสาทเขาน้อยสีชมพู สระแก้ว
บันทึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตและเขมร
เนื้อหาในภาษาสันสกฤต กล่าวสรรเสริญพระวิษณุ และพระศรีภววรมัน กล่าวถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับพระเวทเพื่อบูชาพระวิษณุ
1
เนื้อหาในภาษาเขมร เกี่ยวกับขุนนางผู้หนึ่ง ข้อความบางส่วนถูกลบเลือนไป ส่วนใหญ่เป็นรายชื่อสิ่งของและข้าทาส คาดว่าเกี่ยวกับพิธีอุทิศถวายแด่เทวสถาน
อักษรปัลลวะเป็นอักษรต้นแบบและคลี่คลายเป็นอักษรอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาต่อมา
ตัวอย่างเช่น อักษรหลังปัลลวะ มอญโบราณ ขอมโบราณ ขอม ไทยสุโขทัย ตามลำดับ และมีพัฒนาการมาถึงปัจจุบัน
อ้างอิง :
โฆษณา