13 พ.ค. 2022 เวลา 14:21 • หนังสือ
เพิ่งมีเวลาได้อ่านหนังสือที่ชื่อว่า The Tyranny of Merit เขียนโดย Michael Sandel
อ่านหนังสือดีๆมาก็อยากแบ่งปัน ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนรวมก็ยิ่งไม่อยากเก็บไว้คนเดียว ถ้ามีโอกาสได้นั่งจิบกาแฟถกกันบ้างก็คงจะดี
ขอเริ่มด้วยการสรุปใจความหลักสั้นๆ สำหรับคนที่ชอบอ่านเพียงบทสรุปว่า:
การที่คนเราคิดว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตของตนนั้นเป็นเพราะตัวเองล้วนๆ แถมยังคิดว่าตนนั้นอุทิศให้แก่สังคมมากกว่าผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นตนจึง “คู่ควร” กับสิ่งที่ได้รับ มันมักทำให้คนผู้นั้นมีความ “อหังการ” ผลก็คือ คนผู้นั้นมักไม่ใส่ใจในเรื่องที่เป็นสาธารณประโยชน์อย่างจริงจัง บางคนไม่แยแสด้วยซ้ำ และนี่แหละที่เป็นต้นตอความแตกแยกในสังคม ส่วนทางออกควรจะเป็นอย่างไร คงต้องอ่านต่อจนจบ
ขอเล่าให้ฟังพอสังเขป ตามเท่าที่จับประเด็นได้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามเรื่อง และทั้งสามเรื่องนี้ก็มีความเกี่ยวโยงกันอยู่
[1]
เริ่มที่ระบบการศึกษาก่อน
ระบบการศึกษาสมัยใหม่ (ซึ่งเริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2490-2500 ในอเมริกา) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในความพยายามสร้างสังคมที่ให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะให้โอกาสผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงผู้มีอำนาจดั้งเดิมได้เข้ามาพัฒนาและบริหารประเทศ
โดยเชื่อว่าหากให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนจำนานมาก นอกจากที่เคยเป็นสถานที่เรียนรู้แก่ลูกหลานของผู้มีอำนาจดั้งเดิม มันจะเป็นการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในสังคม และสังคมเกิดการพัฒนาในที่สุด
ซึ่งก็ฟังดูดี แต่ระบบการศึกษาไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้การ “ศึกษา” แก่ “พลเมือง” ในสังคมแบบจริงๆจังๆ มันถูกเน้นไปที่การ “คัดกรอง” ให้ได้ “คนเก่ง” เพื่อให้พวกเขาได้มีความก้าวหน้า และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเองและประเทศชาติ
ระบบการศึกษาแบบนี้ได้ส่งผลให้เกิดความเครียดในหมู่ผู้ที่ต้องการยกสถานะทางสังคมผ่านการศึกษา
พวกเขาเรียนพิเศษตัวเป็นเกลียวตั้งแต่เด็ก เพื่อเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่ “ดีที่สุด” แถมยังต้องอยู่ในห้อง “คิงส์” ท่ามกลางกลุ่มเด็กที่ “เก่งที่สุด” ได้นั่งแถวหน้าสุดในห้องเพื่อตั้งใจเรียนให้ได้คะแนน “สูงที่สุด” เพื่อจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ “ดีที่สุด” ซึ่งได้รับการ “คัดกรอง” ว่าอยู่ในจุด “สูงที่สุด” จากการจัดอันดับสถาบันการศึกษา
แต่ผลลัพธ์ของความพยายามที่เท่ากันของแต่ละคนนั้นออกมาไม่เท่ากัน คนที่จะได้เข้าไปสู่สถาบันการศึกษาที่ “ดีที่สุด” ต้องมีความพร้อมทางครอบครัวเป็นอย่างมาก นั่นคือพร้อมทั้งเวลาและเงินทอง ครอบครัวใดใช้ทุนหาเงินจึงมีความพร้อมมากกว่าครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำแน่ๆ ดังนั้นระบบการศึกษาสมัยใหม่จึงเพียงแค่เปลี่ยนโอกาสจากผู้มีอำนาจดั้งเดิมเป็นผู้มีอำนาจทางการเงิน
กลุ่มที่เครียดที่สุดน่าจะเป็นชนชั้นกลางที่พยายามปากกัดตีนถีบเพื่อผลักดันลูกให้เป็นเลิศในทุกด้าน ในหนังสือยังเปรียบเทียบ “การเลี้ยงลูก” ของกลุ่มนี้แนวประชดประชันด้วยว่าเป็นดั่ง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์” ซึ่งบ่อยครั้งยังส่งผลที่คาดไม่ถึงต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กในระยะยาว
มารู้ตัวอีกที เด็กเหล่านี้ก็โตมาด้วยการถูกหล่อหลอมว่า การแสวงหาความสุขมีอยู่หนทางเดียว คือการดิ้นรนให้มีเงินทอง ซึ่งจะได้มาจากการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับท็อป พวกเขามองว่าคุณค่าของตนมาจากความสามารถและความสำเร็จเพียงเท่านั้น การค้นหาตัวตน การพิจารณาเพื่อรู้จักตนเอง และเพื่อรู้ว่าสิ่งใดที่สำคัญในชีวิต เหล่านี้ไม่ก่อประโยชน์อันใดต่อเป้าหมายในชีวิตของพวกเขา
ในขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาสมัยใหม่ยังสร้างความอหังการให้แก่ผู้มีการศึกษาอีกด้วย ว่าการประสบความสำเร็จที่ได้รับนั้นเป็นเพราะความพยายามของตนเองล้วนๆ ดังนั้นสิ่งที่ตนได้รับก็เป็นเรื่องที่คู่ควรแล้ว ส่วนคนที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอ
ก็แหงล่ะ พวกเขาถูก “คัดกรอง” และ “จัดอันดับ” มาทั้งชีวิตนี่นา จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะมองว่าชะตากรรมของพวกเขาอยู่ในมือตัวเอง หากสำเร็จก็เป็นเพราะตัวเอง หากล้มเหลวก็ไปว่าใครไม่ได้นอกจากตัวเอง ว่าตนไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอ
ทางแก้ในระบบการศึกษาก็แค่เปลี่ยนแปลงระบบคัดกรอง ให้ใช้การสุ่มเพิ่มเข้าไป เพื่อส่งสัญญาณว่า ดวง (สิ่งที่อยู่นอกมือตัวเอง) ก็มีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จ จะได้เพิ่มความรู้สึกเจียมตนในตัวผู้สำเร็จ และลดความรู้สึกอัปยศในใจตัวผู้ “ล้มเหลว” นี่ยังไม่นับการลดความเครียดและส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็ก (รวมทั้งพ่อแม่) อีกด้วย
[2]
แต่การลด “อหังการจากความคู่ควร” ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การศึกษาเพียงเท่านั้น เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่อง “งาน” กันใหม่
เช่นพยาบาลไม่ได้มีศักดิ์ศรีน้อยกว่าแพทย์ ช่างประปาและช่างไฟไม่ได้ด้อยไปกว่าวิศวกรและสถาปนิก เจ้าของร้านโชห่วยตัดสินใจเรื่องกิจการไม่ได้แย่ไปกว่านักบริหารที่ดูเพียงตัวเลข พ่อค้าแม่ค้าที่เคารพกฎหมายดีกว่านักกฎหมายที่เอากฎหมายมาปู้ยี่ปู้ยำ “ช่าง” ไม่ได้มีศักดิ์ศรีน้อยกว่า “ผู้เชี่ยวชาญ”
เอาจริงๆ วันๆนึงชีวิตเราเกี่ยวข้องโดยตรงกับช่างมากกว่าผู้เชี่ยวชาญเสียอีก หากพูดตรงๆ ฝ่ายแรกยังมีความเข้าใจในชีวิตมากกว่าฝ่ายหลังอีกมั้ง เพราะเกี่ยวข้องกับผู้คนที่หลากหลายมากกว่า แล้วทำไมเราจึงให้เกียรติฝ่ายหลังมากกว่าล่ะ
สถาบันอุดมศึกษาเคยเป็นสถานที่ที่มีเกียรติ เพราะมันไม่ได้ให้ความรู้เราเพียงเพื่อใช้ในตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่มีเจตนารมณ์ที่ยิ่งใหญ่ในการฝึกปรือให้เรามีความคิดและวิจารณญาณในการแลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องที่เป็นส่วนรวม และหล่อหลอมให้เราร่วมกันออกแบบสังคมที่เราอยู่อาศัย
น่าเสียดายที่ทุกวันนี้มันได้กลายเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อคัดกรองคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเท่านั้น วาระของสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้ถูกกำหนดโดยตัวมันเอง หรือโดยชุมชนอีกต่อไป แต่โดยทุนล้วนๆ
และเจตนารมณ์ของทุนบอกว่าเราต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคที่มีความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบจำเพาะอย่างลึกซึ้ง สถาบันอุดมศึกษาจึงปรับรูปแบบเนื้อหาการเรียนการสอนตามเจตนารมณ์นั้นโดยดุษณี เราจึงมีผู้เชี่ยวชาญจอมอหังการที่ไม่เคยมองอะไรไปไกลกว่าปลายจมูกตัวเองอยู่เต็มไปหมด
ในขณะเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งของสังคมก็รู้สึกว่าชีวิตตัวเองนั้นด้อยค่าจากการถูกลดทอนศักดิ์ศรี นำไปสู่ความอับอาย กังวล หดหู่ และสิ้นหวังในชีวิต จนปะทุออกมาผ่านการก่อจลาจล (ในประเทศที่ปกครองโดยการกดขี่) หรือปะทุผ่านกลไกการเลือกตั้ง (ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย)
ในอเมริกา เราจึงเห็นคนอย่าง โดนัล ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีและเข้าใจผู้คนในระดับล่างของสังคม แต่เพราะเขาแสดงการต่อต้าน “จอมอหังการจากการคู่ควร” อย่างชัดเจนต่างหาก
จำได้ว่าตอนประกาศผลเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2559 ตอนที่ตัวเราเองยังทำงานที่ออสเตรเลีย เหล่าศาสตราจารย์ด้านวิศวะกับไอทีงงกันตาแตกว่าทรัมป์มาได้ไง บอกว่าคนอเมริกันทำไมคิดกันไม่ได้ กลับกัน พนักงานชงกาแฟบอกเราว่าไม่เห็นแปลกเลย ก็คนอเมริกันบางส่วนเขาอัดอั้นกันขนาดนั้น สงสัยนี่คือความต่างที่มาจากความอหังการกระมัง
หากมองในแง่นี้ สังคมไทยล้ำหน้ากว่าสังคมอเมริกัน 15 ปีเลยเชียว!
[3]
อีกปัจจัยที่ดูเหมือนจะไกลตัว แต่มันก็ไม่ได้ไกลอย่างที่คิด คือกระแสโลกาภิวัตน์ที่มาจากภายนอก และอำนาจจากคณาธิปไตยที่ครอบงำรัฐภายในประเทศ
ทั้งสองสิ่งนี้ให้ความสำคัญแก่ผู้คนเพียงมิติเดียว นั่นคือในฐานะผู้บริโภค แหงล่ะ ก็เราต้องซื้อของจากเขานี่ แถมอำนาจการซื้อยังช่วยให้เศรษฐกิจโตอีกด้วย ดังนั้นยิ่งเราหาเงินได้มากเท่าใด มีรายได้สูงเท่าใด เขาก็ยิ่งเห็นคุณค่าเรามากเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ระบบการศึกษาแบบคัดกรองจึงเป็นศูนย์กลางให้ผู้คนวิ่งเข้าหา และคนที่ผ่านมันไปได้ ยิ่งผ่านไปถึงจุดสูงสุดของระบบ ก็ยิ่งรู้สึกว่าตนมีคุณค่าเหนือใครๆ
แต่การมอง “คน” เป็น “หน่วยบริโภค” เป็นการละเลยความจริงที่ว่า - แม้มองเฉพาะจากมุมของระบบเศรษฐกิจ - เราเองก็เป็นผู้ผลิตเหมือนกัน (ใครทำงานก็เป็นผู้ผลิตด้วยกันทั้งนั้น) และในฐานะผู้ผลิตนี่แหละที่หลายคนรู้สึกถึงคุณค่าของตนต่อสังคม นั่นคือได้ทำงานในสิ่งที่คนอื่นมองเห็นคุณค่า ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนออกมาเป็นตัวเงินเสมอไป
หากเรามีความสามารถที่บังเอิญไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด งานกับรายได้ของเราก็อาจไม่สัมพันธ์กัน แต่หากงานนั้นได้ทำให้เราแสดงความสามารถเต็มที่ และมีคนที่รับรู้ถึงคุณค่าของสิ่งนั้น เท่านี้เราก็คงรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองแล้ว
มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ ได้กล่าวไว้ว่า “แรงงานทุกคนมีศักดิ์ศรี … คนเก็บขยะก็มีความสำคัญไม่ต่างจากแพทย์ ลองไม่มีคนเก็บขยะดูสิ ได้มีโรคระบาดไปทุกหัวระแหงแน่”
ดังนั้นมันจึงควรเป็นหน้าที่ของรัฐในการสร้างสถาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการให้ศักดิ์ศรีของความเป็นคนได้มีที่ยืนในสังคม แล้วเชื่อสิว่ามันจะแก้ปัญหาอีกหลายอย่างเลยเชียวล่ะ ทั้งปัญหาสุขภาพจิต ปัญยาเสพติดปัญหาคนคลุ้มคลั่งจนเป็นอันตรายต่อคนอื่น การลักเล็กขโมยน้อยไปจนถึงอาชญากรรมใหญ่ๆ ฯลฯ
นโยบายจากรัฐในเรื่องการกระจายรายได้และโอกาสนั้นสำคัญแน่ (แม้แค่นี้ก็ยังล้มเหลว!) แต่สำคัญยิ่งกว่าคือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีมนุษย์ ทุกคนควรรู้สึกว่าตนได้ทำประโยชน์แก่สังคมที่ตนอาศัย
หลักการแบ่งงานของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน กอปรกับการไม่ใส่ใจในชีวิตมนุษย์ของรัฐ เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างแรงงานที่อยู่กันคนละลำดับชั้น แต่หากรัฐวางนโยบายที่อยู่บนฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การแบ่งงานอาจจะทำให้สังคมมีความกลมเกลียวกันมากขึ้นก็เป็นได้
ไม่ว่าเป้าหมายสุดท้ายของงานคือการบริโภค หรือเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่สังคมที่น่าอยู่และมีความก้าวหน้า นโยบายของรัฐเป็นตัวกำหนดทั้งสิ้น
แต่รัฐที่ถูกปกครองโดยคณาธิปไตยคงไม่ยอมให้อย่างหลังได้เกิดขึ้นง่ายๆ หรอก ยิ่งเราขัดแย้งกัน เขายิ่งชอบ เพราะพวกเราจะได้ไม่ต้องมานั่งคุยกันไงว่าสังคมแบบไหนที่เราอยากให้เป็น
สังคมที่น่าอยู่เกิดจากการออกแบบและสร้างร่วมกันระหว่างคนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน การประนีประนอมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเคารพศักดิ์ศรีของคนที่เราเจรจาด้วย ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การประนีประนอมกันสำเร็จหรือไม่ แต่อยู่ที่เรามีเวทีที่เปิดโอกาสให้เราได้มาพูดคุยกันอย่างแฟร์ๆ หรือเปล่า
แต่ในสังคมที่มีแต่ความอหังการในใจคน ทั้งที่มาจากตัวเอง หรือจากนโยบายรัฐและกระแสโลก มันจะมีการประนีประนอมกันได้ไง ก็ในเมื่อเรายังมองคนรอบข้างว่าต่ำต้อยกว่าตัวเองเลย
จะให้เรา - ผู้มีตำแหน่งสูงส่งในหน้าที่การงาน ผู้เป็นที่เคารพจากผู้คนมากหน้าหลายตาในสังคม ผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่สามารถสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง ผู้บริหารที่หาเงินทองได้มากมายและเสียภาษีเพื่อโอบอุ้มคนจน - ไปนั่งร่วมโต๊ะกับเหล่ากุลีที่ไหนก็ไม่รู้เนี่ยนะ กุลีพวกนั้นจะไปรู้เรื่องการพัฒนาสังคมมากกว่าเราได้อย่างไรกัน … พอเก็ทเนาะ
แล้วทำยังไงเราจึงจะหลุดจากวังวนนี้ไปได้ ผู้เขียนไม่ได้บอกออกมาเป็นข้อๆ อย่างชัดแจ้ง แต่เท่าที่พอนึกออกก็น่าจะมีประมาณต่อไปนี้ จากเรื่องไกลตัวที่สุดไปจนถึงในตัวเรา:
  • ประณามรัฐทันที หากกลไกของรัฐส่งผลให้เกิดการลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหากรัฐไม่เห็นค่าของชีวิตคน
  • ช่วยกันผลักดันให้รัฐเปิดพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพให้มากขึ้น เพื่อให้คนจากต่าง “สถานะ” ได้มาคลุกคลีกันบ้าง เราจะได้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น
  • หยุดเรียกคนที่มีความเห็นไม่ตรงกับตัวเองด้วยนามแฝง และพยายามพูดคุยอย่างความเข้าใจ จำไว้ว่าตอนนี้เราอยู่ในยุคของการ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อ “คุยกันครั้งเดียว รู้เรื่อง”
  • เปิดใจตัวเองด้วยการอย่ามองคนอื่นด้วยสายตาที่ชื่นชมหรือเหยียดหยาม เพียงเพราะตำแหน่งของเขา แต่ให้เกียรติจาก “ความเป็นคน” ของเขา
  • ลดความหยิ่งยโสในตัวว่าสิ่งที่ตัวเองได้รับมานั้นคู่ควรแล้ว แต่คิดเสียใหม่ว่ามันมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลให้เรามีหรือไม่มีในวันนี้ และหลายปัจจัยเหล่านั้นก็ไม่ได้อยู่ในมือเราทั้งหมด
  • ลดการให้ความสำคัญกับวัตถุว่ามันคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิต ความสุขของคนเรานั้นง่ายกว่านั้นเยอะ อย่าให้เกิดคำว่า “รู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว” กับตัวเองเลย … แต่ข้อนี้เป็นสิทธิของแต่ละคน ขออย่าเอาสิทธินั้นมาทำลายสิทธิคนอื่นก็พอ ซึ่งบางทีมันก็เห็นไม่ชัดนักหรอก อย่างที่บ่งบอกจากใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้
ข้อเสนอแนะด้านบนสรุปได้สั้นๆว่า:
มีชีวิตในเรื่องส่วนตัวน้อยลงนิด ใส่ใจในเรื่องส่วนรวมเพิ่มขึ้นสักหน่อย
คงไม่ยากไปใช่ไหม?
หากไทยเรายังอยากเป็นประเทศก้าวหน้าในโลกแห่งอนาคต เราก็ต้องทำตามข้อเสนอด้านบนนี้ให้ได้เสียก่อน ไม่ต้องอ้างว่าการเมืองของเราไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วก็หาทางเอาตัวรอดแบบตัวใครตัวมัน นั่นเป็นหนทางสู่ความอหังการ
ประวัติศาสตร์ของทุกประเทศบอกเราได้ชัดเจนว่า การเมืองมักต้องปรับตามสังคม และทิศทางสังคมจะถูกกำหนดโดยพวกเราแต่ละคนอยู่เสมอ มันอาจใช้เวลา แต่รับรองว่ามันเป็นแบบนั้นเสมอ
การอยู่ในสังคมนั้น ทางเลือกที่ “บินเดี่ยว” ไม่รอดหรอก สังคมสแกนดิเนเวียก็ผ่านความยากลำบากร่วมกันมาแล้ว พวกเราในสังคมไทยก็จะผ่านมันไปได้เช่นกัน
หากทำสำเร็จ เราก็จะได้อยู่ในสังคมที่มีทั้งความเป็นประชาธิปไตย และความยุติธรรมกันเสียที … ใครกันจะไม่อยากอยู่ในสังคมแบบนี้!
โฆษณา