14 พ.ค. 2022 เวลา 12:16 • ครอบครัว & เด็ก
(บทความที่ 06)
“สินทรัพย์ประเภทใดที่เหมาะสมกับเงินออมของเรา”
เงินออมเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคต เพราะเงินออมจะทำให้เป้าหมายที่เราได้กำหนดไว้เกิดขึ้นได้จริง
เงินออมอาจถูกแบ่งตามวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ เช่น
1
- การเก็บออมสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายประจำ ในแต่ละปี เช่น ค่าประกันชีวิต ค่าประกันภัยต่าง ๆ ค่าส่วนกลางบ้านหรือคอนโด
 
- การเก็บออมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น การท่องเที่ยว คอนเสิร์ต ชมกีฬา
- การเก็บออมสำหรับการซื้อบ้าน รถยนต์ หรือ ไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ
- การเก็บออมสำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสำรองสำหรับการว่างงาน ค่าซ่อมรถยนต์
เงินออมที่เรามีอยู่ ควรจะเก็บออมอย่างไร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้เงินของเราได้มากที่สุด
หากเราแบ่งประเภทของเงินออม ออกเป็น 2 ระยะ เราจะมีทางเลือกในการเก็บเงินออมของเราไว้ในทรัพย์สินต่าง ๆ ดังนี้
1. เงินออมสำหรับใช้จ่ายในระยะสั้นและระยะกลาง โดยส่วนมากจะมีกำหนดเวลาที่จะนำเงินออมไปใช้ภายใน 1 - 2 ปี
1.1 เงินออมสำหรับใช้จ่ายในระยะสั้น เป็นเงินออมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายเป็นประจำใน 1 ปี เช่น ค่าประกันชีวิต ค่าประกันภัยต่าง ๆ ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าส่วนกลางบ้านหรือคอนโดที่จ่ายเป็นรายปี ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถยนต์ เงินสำรองสำหรับการว่างงาน เป็นต้น
1.2 เงินออมสำหรับใช้จ่ายในระยะกลาง เป็นเงินออมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตภายหลังระยะเวลา 1 ปี เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับการดาวน์บ้าน คอนโด หรือ รถยนต์ ค่าใช้จ่ายประเภทนี้ เป็นค่าใช้จ่ายที่ยังไม่เกิดขึ้นทันที
เมื่อเราวางแผนจะซื้อบ้านหรือรถยนต์ เราจะพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น ทำเลและรูปแบบของที่อยู่อาศัย ราคาของสินทรัพย์ หากเป็นรถยนต์อาจพิจารณาถึงประโยชน์การใช้งาน และรุ่นของรถยนต์
สินทรัพย์ที่เหมาะสมสำหรับเงินออมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในระยะสั้นและระยะกลาง มี 3 ทางเลือก ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 เก็บเงินออมประเภทนี้ ไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทเผื่อเรียก (ออมทรัพย์) จะได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารร้อยละ 0.25 (ข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2565) เมื่อถึงวันคำนวณดอกเบี้ยของธนาคาร เราก็จะได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากเงินที่เรานำไปฝาก ตามระยะเวลาที่คิดเป็นจำนวนวันของเงินที่เราฝากไว้ที่ธนาคาร
ทางเลือกที่ 2 เก็บเงินออมประเภทนี้ ไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทเงินฝากประจำระยะสั้น (3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือน) จะได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารในอัตราที่กำหนด เงินฝากประเภทนี้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (กรณีมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องชำระภาษี สามารถขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้ได้) กรณีที่ฝากไม่ครบตามกำหนดระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด ธนาคารจะไม่จ่ายดอกเบี้ย (โปรดศึกษาเงื่อนไขและข้อกำหนดของแต่ละธนาคารเพิ่มเติม)
ทางเลือกที่ 3 เก็บเงินออมประเภทนี้ ไว้ในสลากออมสิน สลากออมสิน สำหรับผู้ที่ชอบเสี่ยงโชคแล้ว ทางเลือกนี้ อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการนำเงินไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เนื่องจาก กรณีที่ถูกรางวัลอาจจะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากเงินในทางเลือกที่ 1 และ 2 และหากไม่ถูกรางวัลเงินออมที่เราเก็บไว้ก็ยังคงอยู่
1
อย่างไรก็ตาม การฝากสลากออมสิน ณ ปัจจุบัน หากฝากไม่ครบ 3 เดือน จะถูกหักส่วนลดต่อหน่วย ดังนั้น ควรวางแผนการฝากสลากออมสินให้สัมพันธ์กับระยะเวลาของเงินออมที่จะนำไปใช้ด้วย
2. เงินออมสำหรับใช้จ่ายในระยะยาว โดยส่วนมากจะมีกำหนดเวลาที่จะนำเงินออมไปใช้ตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป
เงินออมประเภทนี้ จะเป็นเงินออมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในอนาคต เช่น ค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณอายุการทำงาน หรือค่าเล่าเรียนบุตรในขณะที่ศึกษาอยู่ระดับมหาวิทยาลัย
ค่าใช้จ่ายในกลุ่มนี้ เป็นค่าใช้จ่ายที่ยังไม่เกิดขึ้นทันที หากเรานำเงินออมประเภทนี้ไปเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ เช่น เงินสด หรือ เงินฝากธนาคาร โอกาสที่มูลค่าเงินออมของเราในอนาคตจะลดลงไปตามภาวะของเงินเฟ้อก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้น (บทความที่ 02 และ 04 สรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับเงินเฟ้อ)
ด้วยสาเหตุของภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี เราควรแบ่งเงินออมประเภทนี้ ไว้ในสินทรัพย์ต่าง ๆ ดังนี้
ตัวเลือกที่ 1 แบ่งเงินออมประเภทนี้ ไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทเงินฝากประจำ 12 เดือน หรือ 24 เดือน จะได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารในอัตราที่กำหนด เมื่อมีระยะเวลาการฝากเงินในบัญชีประเภทนี้ยาวนานพอ ดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกสะสมรวมกับเงินต้นไปเรื่อย ๆ (ดอกเบี้ยทบต้น) และจะทำให้จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นในอนาคต
1
เงินฝากประเภทนี้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (กรณีมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องชำระภาษี สามารถขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้ได้) กรณีที่ฝากไม่ครบตามกำหนดระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด ธนาคารจะไม่จ่ายดอกเบี้ย (โปรดศึกษาเงื่อนไขและข้อกำหนดของแต่ละธนาคารเพิ่มเติม)
ตัวเลือกที่ 2 แบ่งเงินออมประเภทนี้ ไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทเงินฝากประจำปลอดภาษี โดยส่วนมากจะมีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 24 เดือน ขึ้นไป จะได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารในอัตราที่กำหนด เงินฝากประเภทนี้จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่จะถูกจำกัดด้วยเงินรับฝากตามที่แต่ละธนาคารกำหนด (โปรดศึกษาเงื่อนไขและข้อกำหนดของแต่ละธนาคารเพิ่มเติม)
1
ตัวเลือกที่ 3 แบ่งเงินออมประเภทนี้ไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงระดับกลาง เช่น ตราสารหนี้ (หุ้นกู้ภาคเอกชน พันธบัตรรัฐบาล) ทองคำ กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น
ตัวเลือกที่ 4 แบ่งเงินออมประเภทนี้ไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ตราสารทุน กองทุนตราสารทุน (หุ้น) เป็นต้น
การจัดสรรเงินออมโดยการกระจายความเสี่ยงไว้ในสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภท จะช่วยให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนหรือจัดสรรสินทรัพย์ในแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เราได้วางแผน ตรงตามเป้าหมายทางการเงิน และประสบการณ์ของแต่ละคน
ผู้ที่ชื่นชอบการออมเงินหรือการลงทุน จำเป็นจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในสินทรัพย์ที่จะไปลงทุนแต่ละประเภทเป็นอย่างดี เพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีและป้องกันความเสี่ยงของมูลค่าเงินออมที่อาจลดลงได้
บทความต่อไป “สลากออมสิน หนึ่งในทางเลือกของนักออมที่ชอบเสี่ยงโชค”
โฆษณา