14 พ.ค. 2022 เวลา 23:39 • สิ่งแวดล้อม
‘Green Jobs’ งานสีเขียว ในอนาคตอันใกล้ ที่ดีต่อโลก ดีต่อเรา
Cr. iStock by Getty Images, Photo by cyano66
คำว่า Green Jobs หรือ งานสีเขียว นั้นเริ่มมีปรากฎขึ้นตั้งแต่ประมาณกลางทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศออกมาเมื่อปี 2015 รวมถึงการประชุม COP21 ที่กรุงปารีส ที่ Paris Agreement เกิดขึ้นมาเมื่อปลายปี 2015
หลังจากนั้นมาก็เริ่มมีการพูดถึง Green Jobs และทักษะที่จำเป็นสำหรับงานด้านนี้ โดยเฉพาะจากองค์กรสำคัญอย่างเช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)
ในช่วงทศวรรษที่แล้ว เราอาจจะมองว่า Green Jobs เป็นเรื่องของอนาคตที่อาจจะไกลตัวพอสมควร
แต่มีจุดเปลี่ยนสำคัญในหลาย ๆ ด้านเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เริ่มจะส่งสัญญาณอันตราย มุมมองของผู้บริโภคที่เริ่มใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มุมมองของภาคธุรกิจที่เริ่มปรับเปลี่ยนไปสู่การใส่ใจระบบนิเวศและสังคมมากขึ้น การตั้งเป้าหมาย Net Zero Emission ทั้งในระดับนานาชาติ ระดับประเทศ และระดับองค์กรชั้นนำ รวมไปจนถึงโรคอุบัติใหม่ที่เปลี่ยนวิถีชีวิต (Lifestyle) ของผู้คนทั่วโลก
2
ทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนทำให้ Green Jobs เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ และถือเป็นโอกาสสำคัญในอนาคตอันใกล้ สำหรับงานและตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาในอดีต หรือกำลังจะเริ่มขยายตัว
จากเป้าหมายของการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส ให้สอดคล้องกับ Paris Agreement นั้น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เคยประเมินไว้ว่าจะทำให้เกิดงานใหม่ขึ้นมาอีกประมาณ 24 ล้านอัตรา ภายในปี 2030
Green Jobs ที่น่าสนใจในอนาคต มีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง ตรงกับที่ผู้อ่านจินตนาการไว้หรือไม่ หรือมีงานอะไรที่เราอาจคาดไม่ถึงบ้าง บทความนี้ Future Perfect มีคำตอบมาอัพเดทและเปิดมุมคิดให้กับทุกคนครับ
Cr. iStock by Getty Images, Photo by tolgart
Green Jobs หรืองานสีเขียว จะว่าไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็คืองานในปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงต้องมีการปรับปรุงห่วงโซ่คุณค่าขององค์กรธุรกิจตั้งแต่ต้นทาง (Input) กระบวนการ (Process) ไปจนถึงปลายทาง (Output)
ความหมายหนึ่งของ Green Jobs ตามที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ให้นิยามไว้ก็คือ เป็นงานต่าง ๆ ในด้านเกษตรกรรม การผลิต การวิจัยและพัฒนา การบริหารจัดการทั่วไป และกิจกรรมการให้บริการ ที่มีส่วนช่วยเหลืออย่างจริงจังในการรักษาคุณภาพทางสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังรวมถึงงานที่ช่วยปกป้องระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการใช้พลังงาน วัสดุ ทรัพยากรน้ำ ผ่านแนวทางการดำเนินการจัดการด้วยประสิทธิภาพที่สูง สร้างสรรค์เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และหลีกเลี่ยงหรือลดการก่อเกิดมลพิษหรือของเสียให้เหลือน้อยที่สุด
หรือกล่าวให้สั้นกว่านั้นก็คือ งานในธุรกิจที่ผลิตสินค้าหรือบริการ รวมถึงการปฏิบัติงานในกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นทรัพยากรใหม่ (Virgin Material) และลดการใช้พลังงานด้วย
ถ้าลองไล่ดูขอบเขตงานที่เกี่ยวข้องกับ Green Jobs ตามที่สำนักสถิติแรงงานของประเทศสหรัฐฯ (Bureau of Labor Statistics) ได้จำแนกงานออกเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การอนุรักษ์น้ำ การปลูกป่าอย่างยั่งยืน เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานใต้พิภพ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การดำเนินงานด้านความยั่งยืน การตรวจประเมินการใช้พลังงาน (Energy Auditing) การรีไซเคิล ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่างานสีเขียวนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง และนอกเหนือจากที่กล่าวมานั้น ยังหมายรวมถึงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถใช้งานได้จริงและขยายผลในวงกว้างหรือในเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานอีกด้วย
ภายใต้ขอบเขตของ Green Jobs ที่กล่าวมานั้น งานสนับสนุนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้การศึกษา การฝึกอบรม และการสร้างจิตสำนึก ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน งานเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ ผลักดันให้เกิดการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเป็น Influencer ในการสร้างผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม
องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดประเภทของ Green Jobs ออกมา 5 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
1) งานที่ช่วยปรับปรุงการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
2) งานที่ช่วยจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
3) งานที่ช่วยลดของเสียและการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
4) งานด้านการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ
5) งานที่สนับสนุนการปรับตัว (Adaptation) ต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
Cr. iStock by Getty Images, Photo by sarayut
การผลักดัน Green Jobs ให้เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้หวังผลเพื่อจุดมุ่งหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเชื่อมโยงเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ตั้งอยู่บนระบบนิเวศแบบใหม่ โดยการสร้างประสบการณ์สำหรับลูกค้าและผู้บริโภคที่แตกต่างไปจากระบบนิเวศแบบเดิม ๆ ผ่าน Green Jobs หรืองานสีเขียวเหล่านี้
และเมื่อ Green Jobs หรืองานสีเขียวเกิดขึ้น ก็จะเข้ามาช่วยรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ ทำให้ดิน น้ำ อากาศ ยังคงสภาพที่ดี รวมถึงการป้องกันและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง จะช่วยรักษางานอีกกว่า 1.2 พันล้านตำแหน่ง ในด้านการเกษตร ประมง ป่าไม้ และการท่องเที่ยว ยังคงอยู่อีกด้วย
ในประเทศไทยเอง เราก็มีโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งขับเคลื่อนด้วยแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 โดยที่คณะรัฐมนตรีได้ผ่านร่างไปเมื่อ 8 ก.พ.65
โมเดล BCG นี้ถือว่ามีพื้นฐานมาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อมุ่งสู่ปลายทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ (Economic Engine) ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศใหม่ พร้อมทั้งตำแหน่งงานใหม่ ๆ ในอนาคตด้วยเช่นกัน
งานใหม่ ๆ ที่เป็นงานสีเขียวจะเกิดขึ้นในหลากหลายด้าน ดังนี้
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Scharfsinn86
1. ด้านพลังงาน: จากเทรนด์เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเป็นตัวเร่งชั้นดีของการเปลี่ยนผ่านแหล่งพลังงานหลักจากฟอสซิล ให้ไปใช้เป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นอย่างจริงจัง โดยไม่ได้เป็นแค่พระรองหรือกองหนุนเท่านั้น
บุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในงานด้านพลังงานหมุนเวียน (ถ้าในปัจจุบันนี้คงต้องยกให้พลังงานแสงอาทิตย์ กับพลังงานลม เป็นหัวหอก รวมไปจนถึงพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น พลังงานน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานชีวภาพ) จะมีโอกาสในตำแหน่งงานใหม่ มากขึ้นเรื่อย ๆ
Cr. iStock by Getty Images, Photo by deepblue4you
2. ด้านการขนส่ง: แน่นอนว่าภาคส่วนนี้มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยข้อมูลจากสหภาพยุโรปนั้นพบว่าภาคการขนส่งนั้นทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีสัดส่วนมากกว่า 30% และในบรรดาการขนส่งทุกรูปแบบนั้น การขนส่งทางรถยนต์เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 70%
ดังนั้นจากมาตรการทั่วโลกที่พยายามลดการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง จึงมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นเรื่อย ๆ มีโหมดการขนส่งที่หลากหลาย รวมไปจนถึงมาตรการของแต่ละประเทศที่ออกมา
เราเห็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้นเรื่อย ๆ บนท้องถนน เราเห็นวิถีการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของรถน้อยลง แต่เน้นการแบ่งปัน (Sharing Model) กันมากขึ้น เราเห็นการนำชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ยังไม่ชำรุด นำกลับมาผลิตเป็นรถยนต์ใหม่ร่วมกับชิ้นส่วนใหม่บางชิ้น ปรากฎการณ์เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่จะสร้างระบบนิเวศการเดินทาง/ขนส่งรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา และงานใหม่ ๆ ที่รองรับก็จะเกิดขึ้นอีกมากมายเช่นกัน
Cr. iStock by Getty Images, Photo by 3000ad
3. ด้านอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างอย่างยั่งยืน: จะมุ่งเน้นเรื่องการใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น ลดการใช้พลังงานหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตวัสดุก่อสร้าง บริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และที่สำคัญคือมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้พลังงานหมุนเวียนในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในสัดส่วนที่มากขึ้น
Cr. iStock by Getty Images, Photo by RecycleMan
4. ด้านการบริหารจัดการของเสีย: การมุ่งเน้นการรีไซเคิลของเสียที่เหลือทิ้ง หรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จากชุมชนหรือในเมือง โดยพิจารณาโอกาสได้ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่การจัดเก็บ การคัดแยก การขนส่ง การดำเนินการแปรสภาพเป็นวัสดุที่กลับมาพร้อมใช้งาน หรือเป็นวัสดุตั้งต้นของการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ (Upcycling) ได้อีกด้วย เป็นอีกโจทย์ปัญหาหนึ่งที่จะทำให้เกิดงานต่าง ๆ ได้อีกมากมาย
Cr. iStock by Getty Images, Photo by NicoElNino
5. ด้านการออกแบบ: ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า Eco-design มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลจากความตระหนักเรื่องการลดการใช้ทรัพยากร และการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรจากวัสดุเหลือทิ้งให้มากขึ้นผ่านกระบวนการ เช่น Reduce Reuse Recycle จนพัฒนามาเป็นแนวคิด Circular Economy
หรือแม้กระทั่งการรณรงค์ หรือการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะทางแถบยุโรป ที่พยายามผลักดันให้ผู้ผลิตหันมาใช้ทรัพยากรให้มีคุณค่าและเหลือทิ้งน้อยที่สุด โจทย์ทีว่านี้สามารถนำไปสู่อาชีพที่จะเกิดขึ้นอีกหลายหลาก เพื่อตอบสนองระบบนิเวศแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Charnchai
6. ด้านการเกษตร: หลายคนเมื่อมองไปถึงงานแห่งอนาคต อาจมองข้ามงามเกษตรกรรม แต่ต้องไม่ลืมว่า ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับเทรนด์รักษ์สุขภาพ ทำให้ตลาดของสินค้าเกษตรแบบออแกนิกหรือเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบันเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก
รวมไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ให้ดีต่อสุขภาพ และเหมาะสมกับคนในแต่ละกลุ่มเฉพาะได้เป็นอย่างดี การปลูกพืชแบบออแกนิก (Organic Farming) รวมถึงระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นโจทย์สำคัญของงานในภาคส่วนนี้
Cr. iStock by Getty Images, Photo by primeimages
7. ด้านการท่องเที่ยว: จากการที่สังคมหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือเชิงอนุรักษ์ หรือที่เรียกว่า ecotourism ก็เป็นอีกเทรนด์ที่จะขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับประเทศไทยที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งด้วยแล้ว การท่องเที่ยวในลักษณะนี้จะสามารถสร้างงานและกิจกรรมในเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกัน เช่น การออกแบบประสบการณ์จากกิจกรรมการผจญภัย การนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การค้นพบประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่อนุรักษ์ การท่องเที่ยวแบบวิถีชนบท
โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นเมืองรอง หรือแม้กระทั่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เรียกว่าเป็นชุมชนนิเวศวิถี หรือ Ecovillage ที่มีความสมดุลระหว่างผู้คนและสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
โจทย์ของนักท่องเที่ยวตรงนี้ก็คือ การกลับไปใกล้ชิดกับธรรมชาติที่ไม่ได้ปรุงแต่งมากขึ้นนั่นเอง
Cr. iStock by Getty Images, Photo by ronstik
8. ด้านกิจกรรมการปลูกป่าแบบยั่งยืน: ถ้าไม่นับการปลูกเพื่อตัดไม้มาขายหรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า หลายคนอาจมองว่ากิจกรรมการปลูกป่าก็ดูเหมือนจะเป็นงานอดิเรกบ้าง งานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) บ้าง เป็นกิจกรรมที่ทำโดยไม่หวังกำไรหรือผลตอบแทน
แต่ด้วยเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นนั้น การปลูกป่าที่ถูกต้องตามหลักการและด้วยความชำนาญในเชิงพาณิชย์ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะมาจากรูปแบบการให้คำแนะนำ / ดำเนินการปลูกป่าเพื่อให้บริการองค์กรอื่น ที่ต้องการได้รับการรับรองด้านการปลูกป่าจากองค์กรระดับนานาชาติ เช่น การขอฉลาก Forest Stewardship Council (FSC) ติดที่ตัวสินค้าเพื่อสร้างแบรนด์และสื่อสารกับผู้บริโภค
หรือการขายคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกป่า เพื่อให้องค์กรที่ไม่มีความชำนาญและความสามารถในการปลูกป่า เข้ามาซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย เป็นต้น
สุดท้ายนี้ ลองไล่เรียงตัวอย่างอาชีพของงานสีเขียวกันบ้าง ดังนี้
- ช่างติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ : งานติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซมระบบโซล่าเซลล์
- ช่างเทคนิคดูแลรักษากังหันลม : งานติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซมกังหันลมเพื่อการผลิตไฟฟ้า
- วิศวกรโดรน : งานด้านการสำรวจพื้นที่ที่เข้าถึงได้ลำบาก เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
- ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานผลิตพลังงานหมุนเวียน : งานด้านการบำรุงรักษา และควบคุมกระบวนการในโรงงานให้มีสมรรถนะทีดีที่สุด
- ผู้จัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ : งานด้านการบริหารโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมของการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้า รวมถึงไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนจากที่ต่าง ๆ ด้วย
- นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม : งานด้านการค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีสาเหตุมาจากการปนเปื้อนหรือมลพิษในรูปแบบต่าง ๆ
- นักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ด้านสิ่งแวดล้อม : งานพัฒนา Application หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Smart Analytics) ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำใปใช้ในประโยชน์ในการตัดสินใจหรือวางแผนการดำเนินงานขององค์กร
- ช่างเทคนิคในโรงงานรีไซเคิล : งานด้านการคัดแยกของเสีย หรือดำเนินกระบวนการในโรงงานเพื่อนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ให้เกิดคุณค่าสูงที่สุด
- นักธรณีวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง : งานด้านการวางผังเมือง สร้างเมืองหรือชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)
- ผู้ชำนาญการด้านความยั่งยืน : งานด้านการบริหารและนำประเด็นด้านความยั่งยืนในทุกมิติเข้ามาปรับใช้กับการปฏิบัติงาน
จากเทรนด์ของ Green Jobs หรืองานสีเขียว ที่ได้กล่าวมานี้ จะเป็นโอกาสในอนาคตอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือผู้ที่จะขยับขยายงานในอนาคต รวมไปถึงผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ SME Startup ในธุรกิจที่จะเกี่ยวข้องกับ Green Jobs เหล่านี้
จากคำกล่าวที่ว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย” (Cr. ท่าน F. Hilaire) Green Jobs หรืองานสีเขียว จะเป็นเพียงแค่ "โคลนตม" หรือเป็น "ดวงดาว" ก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่านที่สนใจแล้วครับ ว่าจะเห็นโอกาสนั้น และพร้อมจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนั้นหรือไม่
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) Green Jobs หรืองานสีเขียว เป็นงานที่เกิดขึ้นทั้งจากองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ให้ความสำคัญกับการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
2) ตัวขับเคลื่อน หรือ Driver 3 ประเด็นที่ จะนำพาไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ และงานใหม่ ๆ ในอนาคต ก็คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อมกับความหลากหลายทางชีวภาพ (Ecosystem and Biodiversity)
3) วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม นำมาซึ่งวิธีแก้ไข เทคโนโลยี เทรนด์ และมาตรการต่าง ๆ ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรม เมื่อระบบนิเวศเปลี่ยนไป จึงเป็นบ่อเกิดของงานใหม่ (Green Jobs) ที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบนิเวศทางธุรกิจนั่นเอง
#FuturePerfect #อนาคตกำหนดได้
โฆษณา