17 พ.ค. 2022 เวลา 15:12 • ปรัชญา
ผมหมกมุ่นกับการตั้งคำถามถึงการมีตัวตนอยู่เสมอ ว่ามนุษย์เรามีอยู่ไปเพื่ออะไร
ผมกำลังจะอธิบายถึงโครงสร้างของการมีชีวิตอยู่
หากเปรียบชีวิตเป็นเกม . . ก่อนที่เราจะเริ่มเล่นเกมใดๆ ก็ตาม เราจำเป็นต้องเรียนรู้กฎกติกาของเกมก่อน เพื่อที่จะรู้ว่าเกมนั้นเล่นยังไง เราต้องเล่นเป็นก่อน ความสนุกถึงจะเกิดตามมา
การดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นก็เช่นกัน เพียงแต่เป็นเกมที่ให้เราเริ่มเล่นก่อน แล้วจึงเรียนรู้กฎกติกาควบคู่​ไป จึงไม่แปลกที่เราจะทำเรื่องผิดพลาดในชีวิตอยู่เสมอ
เกมชีวิตมีกติกาอยู่ว่า มนุษย์จะแสวงหาแต่ความสุขเข้าตัว ไม่ว่ามองไปที่ใคร ทุกคนต่างก็ทำอะไรสักอย่างเพื่อความสุขของตัวเองกันทั้งนั้น ต่อให้เป็นการทำเพื่อคนอื่น ตัวเองนั้นก็ได้ความสุขจากการเป็นผู้ที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นอยู่ดี
ผมมักจะนึกถึงเรื่องราวอดีตที่ผ่านมาและสืบสาวเรื่องราวไปเรื่อยๆ ไม่ว่าเรื่องอะไรสุดท้ายมันจะไปจบที่ความสุขเสมอ
ผมจับประเด็นของความสุขได้ 4 แบบ
ความสุขระยะสั้น(ตอนนี้) เช่น อาหารที่ชอบ, การผัดวันประกันพรุ่ง, การได้ทำตามอารมณ์ชั่ววูบ
ความสุขระยะยาว(อนาคต) เช่น การตั้งใจเรียน, การตั้งใจทำงานหาเงิน, การยับยั้งชั่งใจ (เป็นความสุขที่ผู้ใหญ่ชอบปลูกฝังให้เด็กและมนุษย์ทุกคนก็หมกมุ่นกันแต่สิ่งนี้)
ความสุขที่มากกว่า และความสุขที่น้อยกว่า(เรียกอีกชื่อว่าความทุกข์) เป็นสองสิ่งที่ถูกชั่งเมื่อเราเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ
ซึ่งมนุษย์เราจะเลือกทางที่ให้ความสุขมากกว่าเสมอ แต่การเลือกความสุขนั้นมีช่องโหว่ของมันอยู่ บางความสุขเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาอย่างที่เราไม่รู้ตัว ยกตัวอย่าง การตั้งใจเรียน ที่สังคมให้ค่าว่าเป็นสิ่งที่ดี ตัวคุณที่ถูกปลูกฝังมาให้ตั้งใจเรียน ทำให้คุณชอบเรียน​ มีความสุขกับการเรียน และคุณก็เรียนดีจบมามีงานดีๆ ทุกคนต่างพากันชื่นชม ยิ่งส่งผลให้คุณมีความสุข
หากเปลี่ยนใหม่ การตั้งใจเรียน ไม่ใช่สิ่งที่สังคมยอมรับ คุณไม่เคยได้รับคำชมจากการเรียนดีเลยสักครั้ง ตัวคุณนั้นชอบเรียนมาก แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเลยสักทาง ทำให้คุณไม่มีความสุขแล้วจึงเลิกเรียนในที่สุด
หากเปลี่ยนใหม่ การเล่นดนตรี ไม่ใช่สิ่งที่สังคมยอมรับ คุณไม่เคยได้รับคำชมจากการเล่นดนตรีเลยสักครั้ง ตัวคุณนั้นชอบเล่นดนตรีมาก แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเลยสักทาง ทำให้คุณไม่มีความสุขแล้วจึงเลิกเล่นดนตรีในที่สุด
นั้นแสดงว่า ความสุขของเรามันจะเป็นอะไรก็ได้หรือเปล่า ขึ้นอยู่กับว่าเราถูกปลูกฝังมายังไง หรือขึ้นอยู่กับว่าสังคมยอมรับแบบไหน ความสุขที่พวกเราแสวงหากันอยู่ทุกวันนี้เป็นความสุขของเราจริงๆ หรือเปล่า (แท้จริงแล้วแนวคิดของความสุขจะมีอยู่หรือไม่มีอยู่ก็ย่อมได้หรือเปล่า)
. . . แต่ไม่ว่าจะเป็นความสุขรูปแบบไหน มันจะถูกบริหารด้วยสติปัญญาเสมอ
สมมุติว่าผมเดินเท้าไปโรงเรียนทุกวัน อยู่ๆ ผมจะเกิดสุขมากก็ได้ โดยคิดว่า “ดีจัง ที่ได้แบ่งเบาภาระพ่อแม่โดยการมาโรงเรียนเอง” หรือจะคิดว่า “ดีจัง ที่เรายังมีขา ไม่ต้องนั่งรถเข็น คนบางคนเกิดมาพิการเดินไม่ได้”
อยู่ๆ ผมจะเกิดสุขน้อย(หรือความทุกข์) ก็ได้เช่นกัน โดยคิดว่า “แย่จัง ทำไมต้องเดินมาโรงเรียนด้วย เหนื่อยก็เหนื่อย ทำไมพ่อแม่ไม่ขับรถมาส่งเหมือนเพื่อนๆ”
เราสั่งความสุขได้ง่ายๆ เหมือนสั่งอาหารตามร้านค้า เพียงแต่เงินที่ใช้ซื้อนั้นคือสติปัญญา ยิ่งมีมากก็ซื้อได้มาก
. . . ท้ายที่สุดแล้ว ผมในตอนนี้ก็ไม่คิดว่าตัวเองคิดถูกหรอกนะ ความคิดเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับผม มันไม่ใช่ตัวตน และผมก็จะไม่ยึดติดกับมัน ถ้ามีความรู้มากขึ้นผมก็จะอัพเดทต่อไป
*คำว่า ความสุข ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการยิ้มหัวเราะโดยตรงตัวของคำเสมอไป แต่คือคำที่มีความหมายกว้างๆ ถ้าเจาะจงจะหมายถึง ความพอใจ, จุดที่บุคคลต้องการ, จุดสมดุลของแต่ละบุคคล, สิ่งที่บุคคลคิดว่าควรจะเป็น
เพราะในหลายๆ สถานการณ์จุดสิ้นสุดนั้นไม่ได้ใช้คำว่า​ 'ความสุข'​ แต่นั่นก็เป็นเพียงการให้ความหมายของคำ หากแยกองค์ประกอบลึกลงไปอีก ความสุขจะหมายถึงผลประโยชน์ต่อตนเอง ทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ(ทางกายภาพหรืออารมณ์ความรู้สึก) หรือทั้งสองทาง
โฆษณา