16 พ.ค. 2022 เวลา 14:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
รู้ไหม ? “สีขาว” ที่ไม่ขาวของชุด #คังคุไบ มีประวัติศาสตร์อินเดียใต้อาณานิคมซ่อนอยู่
1
“สีขาว” ที่ไม่ขาวของชุด #คังคุไบ
“เอาขาวโทนไหนดีล่ะ ? ขาวเหมือนดวงจันทร์ ขาวเหมือนปุยเมฆ ขาวเหมือนกระดาษ ขาวเหมือนกุหลาบขาว ขาวเหมือนหิมะ หรือขาวเหมือนเกลือ ขาวเหมือนน้ำนม ขาวเหมือนเปลือกหอย ขาวเหมือนสายน้ำ ขาวเหมือนเม็ดทราย ขาวเหมือนควัน”
ประโยคที่ “คังคุไบ” ถาม “อัฟซาน” หนุ่มร้านตัดชุดที่ให้เสนอส่าหรีสีขาวชุดใหม่ให้กับเธอ...ก่อนจะได้คำตอบกลับว่า “อันนี้ครับ ขาวดั่งหงส์”
นี่เป็นอีกหนึ่งฉากที่ถูกพูดถึงอย่างมาก จากเรื่อง “คังคุไบ” หรือ “Gangubai Kathiawadi” ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องเล่าในหนังสือ “Mafia Queen of Mumbai” ที่กำลังอยู่ในความสนใจของคอหนังตอนนี้ โดยเฉพาะในแวดวงสายดีไซน์ ที่ต้องหยิบเรื่องนี้มาคุยกันว่า “ขาวเหมือน...” แต่ละอันนั้น เป็นสีขาวแบบไหนกันแน่ ?
สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าเฉดสี คือประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในผ้าสีขาวสารพัดเฉดในฉากนี้ สะท้อนถึงสิ่งวัฒนธรรมและสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1930 ในย่านกามธิปุระ เมืองมุมไบ ของอินเดียไว้อย่างน่าสนใจ
1
เรื่องราวเริ่มต้นในช่วงปี 1930-1940 ซึ่งเป็นช่วงที่คังคุไบยังเป็นเด็กสาว ยาวมาถึงช่วงปี 1950-1960 ที่คังคุไบกลายมาเป็นราชินีแห่งซ่องในกามธิปุระไปแล้ว โดยไทม์ไลน์ที่ถูกเล่าถึงในเรื่อง ขณะนั้นเป็นช่วงที่อินเดียเพิ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษ (ค.ศ. 1947) หลังจากที่ตกเป็นอาณานิคมในฐานะ British India มานับร้อยปี และนั่นก็เป็นที่มาของ สีขาว ที่ไม่ขาว ที่ปรากฏในเรื่อง
เหตุผลที่ “ผ้าขาว” ไม่ได้มี “ขาว” เดียว
จากข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สะท้อนว่าขณะที่อินเดียยังอยู่ในฐานะ British India นั้นชาวอินเดียต้องต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมหลายเรื่อง
โดยในช่วงปี 1920 “มหาตมะ คานธี” ได้ขึ้นเป็นผู้นำพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย ซึ่งสนับสนุนการประท้วงโดยไม่ให้ความร่วมมือกับอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือการบอยคอตต์สินค้าอังกฤษ
เนื่องจากในยุคนั้นอังกฤษควบคุมอุตสาหกรรมสิ่งทอของอินเดีย โดยมีการกดขี่แรงงาน รวมถึงเอา “ฝ้าย” ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากอินเดียที่ปลูกกันเป็นวงกว้างเข้าโรงงานตัวเอง ก่อนจะส่งกลับมาขายที่อินเดียเมื่อทอเป็นผ้าแล้ว ทำให้คนอินเดียต้องซื้อผ้าในราคาสูง ทำให้คานธีออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นคือการเดินขบวนไปด้วย ทอผ้าไป รวมถึงเรียกร้องให้คนอินเดียไม่ซื้อเสื้อผ้าจากอังกฤษและหันมาทอผ้าใช้เอง
3
ดังนั้น สีผ้าที่มาจากการทอผ้าใช้เองในช่วงนั้นจึงมีเฉดสีที่อาจแตกต่างกันไปบ้าง ไม่เหมือนกับผ้าที่ออกมาจากอุตสาหกรรม ซึ่งสะท้อนพลังการต่อต้านของคนอินเดียต่อการอยู่ภายใต้อาณานิคมในช่วงนั้นด้วย
1
โฆษณา