16 พ.ค. 2022 เวลา 07:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
(บทความที่ 08)
เมื่อนักออมเริ่มเติบโต
1
ในระยะแรกผู้ที่เริ่มออมเงิน จะเริ่มจากการนำเศษเหรียญหรือเงินทอนที่ได้มาจากการซื้อสินค้า จากนั้นนำไปหยอดกระปุกหรือแยกเก็บไว้
และเรียกเงินส่วนนี้ว่า “เงินออม”
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีเป้าหมายในการออมเงินอย่างชัดเจน จะไม่สามารถออมเงินได้อย่างสม่ำเสมอ และเงินออมส่วนนี้อาจถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น
หากนักออมได้กำหนดเป้าหมายและระยะเวลาการออม เพื่อนำเงินออมไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละคนย่อมมีเป้าหมายและเหตุผลของการเก็บออมที่ต่างกัน บางคนเก็บออมเพื่อซื้อทรัพย์สิน บ้างเก็บออมเพื่อใช้จ่ายในอนาคต หรือบางคนเก็บออมไว้ใช้ในยามเกษียณ
นักออมส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ จะมีวินัยในการเก็บออมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เงินออมทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้
เมื่อนักออมสามารถเก็บออมไปได้ระยะหนึ่ง เงินออมก็เริ่มมีจำนวนมากขึ้น บางคนจะเริ่มมองหาผลตอบแทนจากเงินออมที่สะสมไว้ แต่นักออมส่วนมากยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเท่าไรนัก หากจะเริ่มต้นศึกษาก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยากและหนักหนาเอาการเหมือนกัน
นักออมที่ยังไม่เข้าใจการลงทุน ส่วนมากจะนำเงินออมไปสะสมไว้ในรูปแบบของเงินฝากบัญชีธนาคารต่าง ๆ บัญชีเงินฝากทั่วไป (บัญชีประเภทออมทรัพย์หรือฝากประจำ) การซื้อประกันชีวิตเพื่อการออมเงิน หรือการซื้อทองคำสะสมไว้ เนื่องจากนักออมส่วนมากจะมุ่งหวังรักษาเงินออมไว้ ไม่ให้จำนวนเงินที่ออมมาลดน้อยหรือหมดไป
แต่สิ่งที่นักออมหลายคนไม่ได้นึกถึงหรืออาจเผลอมองข้ามไป คือ มูลค่าของเงินที่ลดลงตามระยะเวลา กล่าวคือสินค้ามีราคาแพงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ทำให้มูลค่าของเงินที่เรามีอยู่ลดลงไปเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป เช่น สินค้าที่เคยมีราคา 50 บาทในวันนี้ เมื่อระยะเวลาผ่านไปย่อมปรับราคาขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เงินจำนวน 50 บาทในวันนี้ ไม่สามารถซื้อสินค้าชิ้นนั้นได้ในอนาคต
ขอยกตัวอย่าง เกี่ยวกับเรื่องมูลค่าของเงินตามระยะเวลา ด้วยภาษาและวิธีที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะพอนึกออก และขออนุญาตไม่นำสูตรทางการเงินที่แท้จริงมาแสดง
ตัวอย่างที่ 1 : นาย ก. มีเงินออมในปัจจุบันเท่ากับ 10,000 บาท หากนาย ก.
ไม่นำเงินลงทุนเลยตลอดช่วงเวลา 3 ปี โดยในช่วง 3 ปี มีอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ต่อปี มูลค่าเงินของ นาย ก. ในอีก 3 ปีข้างหน้า จะเป็นดังนี้
มูลค่าของเงินในปีที่ 1 :
มูลค่าเงิน 10,000 บาท
อัตราเงินเฟ้อ 2% ต่อปี
มูลค่าเงินคงเหลือ 9,800 บาท
มูลค่าของเงินในปีที่ 2 :
มูลค่าเงิน 9,800 บาท
อัตราเงินเฟ้อ 2% ต่อปี
มูลค่าเงินคงเหลือ 9,604 บาท
มูลค่าของเงินในปีที่ 3 :
มูลค่าเงิน 9,604 บาท
อัตราเงินเฟ้อ 2% ต่อปี
มูลค่าเงินคงเหลือ 9,411.92 บาท
เมื่อสิ้นปีที่ 3 :
นาย ก. ยังมีเงินเป็นจำนวน 10,000 บาท
แต่มูลค่าของเงินอาจลดลงเหลือ 9,411.92 บาท (เนื่องจากสินค้ามีราคาแพงขึ้น)
ตัวอย่างที่ 2 : นาย ข. มีเงินออมในปัจจุบันเท่ากับ 10,000 บาท นำเงินไปฝากธนาคารมีอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ 1% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี มูลค่าของเงิน 10,000 บาท ของ นาย ข. ในอีก 3 ปีข้างหน้า จะเป็นดังนี้
มูลค่าของเงินในปีที่ 1 :
เงินออม 10,000 บาท
อัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับ 1%
ได้ดอกเบี้ย 100 บาท
มูลค่าของเงินในปีที่ 2 :
เงินออม 10,100 บาท
อัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับ 1%
ได้ดอกเบี้ย 101 บาท
มูลค่าของเงินในปีที่ 3 :
เงินออม 10,201 บาท
อัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับ 1%
ได้ดอกเบี้ย 102.01 บาท
เมื่อสิ้นปีที่ 3 : นาย ข. จะมีเงิน 10,303.01 บาท
ตัวอย่างที่ 3 : นาย ค. มีเงินออม 10,000 บาท ต้องการซื้อสินค้าราคา 10,000 บาท อัตราเงินเฟ้อ 2% ต่อปี อัตราผลตอบแทนที่นาย ค. นำเงินออมไปลงทุน 4% ต่อปี หากนาย ค. มีความเข้าใจเกี่ยวกับมูลค่าเงินตามระยะเวลาแล้ว จะทำให้นาย ค.
มีทางเลือกมากขึ้น ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 : นาย ค. ซื้อสินค้า 10,000 บาท ในวันนี้ เพราะอนาคตสินค้าอาจปรับขึ้นราคาตามเงินเฟ้อ จะทำให้เงิน 10,000 บาทที่นาย ค. มีอยู่ ไม่เพียงพอสำหรับซื้อสินค้าในอนาคต
ทางเลือกที่ 2 : นาย ค. ยังไม่ซื้อสินค้า แต่นำเงินออม 10,000 บาท ไปลงทุนที่อัตราผลตอบแทน 4% เมื่อครบ 1 ปี นาย ค. จะมีเงินเป็น 10,400 บาท หากนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อสินค้าที่ (อาจจะ) ปรับราคาขึ้นจากราคา 10,000 บาท เป็น 10,200 บาท (ตามอัตราเงินเฟ้อในตัวอย่างที่ 2%) จะทำให้นาย ค. ยังมีเงินเหลืออีก 200 บาท (ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่แท้จริง)
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม :
ปัจจุบันเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายน 2565 สูงขึ้นร้อยละ 4.65
ตัวอย่างที่ 4 : หาก นาย ง. ต้องการมีเงิน 100,000 บาท ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยนาย ง. วางแผนการลงทุนซึ่งจะได้รับผลตอบแทน 4% ต่อปี นาย ง. จะต้องนำเงินในปัจจุบันไปลงทุน ดังนี้
หากต้องการมีเงิน 100,000 บาท เมื่อสิ้นปีที่ 1
นาย ง. จะต้องใช้เงินลงทุนในปีที่ 1 = 100,000/1.04 = 96,153.85 บาท
หากต้องการมีเงิน 100,000 บาท เมื่อสิ้นปีที่ 2
นาย ง. จะต้องใช้เงินลงทุนในปีที่ 1 = 96,153.45/1.04 = 92,455.62 บาท
หากต้องการมีเงิน 100,000 บาท เมื่อสิ้นปีที่ 3
นาย ง. จะต้องใช้เงินลงทุนในปีที่ 1 = 92,455.62/1.04 = 88,899.64 บาท
จะเห็นได้ว่า หากนาย ง. ต้องการมีเงิน 100,000 บาท ในสิ้นปีที่ 3
นาย ง. จะต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 88,899.64 บาท
แต่ถ้านาย ง. เปลี่ยนแผนการเงินโดยต้องการมีเงิน 100,000 บาท ในสิ้นปีที่ 2
จะต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 92,455.62 บาท
ซึ่งนาย ง. จะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3,555.98 บาท (92,455.62 – 88,899.64)
ดังนั้น การทำความเข้าใจเรื่องมูลค่าของเงินตามระยะเวลา จะเป็นความรู้พื้นฐานที่นำมาใช้พิจารณาในการตัดสินใจทางการเงินเสมอ รวมถึงการศึกษาการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้คุ้มค่าได้มากที่สุด เหมาะสมกับความเสี่ยงและความถนัดของแต่ละบุคคล จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับนักออมที่มีเป้าหมายการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณหรือการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ
“เมื่อนักออมเริ่มเติบโตต้องเรียนรู้การลงทุน”
3
(บทความต่อไป) Passive Income สวรรค์ที่ทุกคนใฝ่หา
โฆษณา