16 พ.ค. 2022 เวลา 09:33 • ท่องเที่ยว
มัลดีฟส์ สวรรค์ในระดับน้ำทะเล #2
ตอนที่แล้วเราคุยกันถึงที่มาที่ไปของประเทศมัลดีฟส์ ว่าดินแดนแห่งนี้ถูกค้นพบ ตั้งรกราก และฝ่าคลื่นลมแห่งกาลเวลาพร้อมการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย ตอนนี้เราจะไปดูเรื่องปากท้องของประเทศมัลดีฟส์กันบ้าง ว่าคนที่นั่นเค้าทำมาหาเลี้ยงชีพกันด้วยอะไร
อย่างที่เกริ่นไปในตอนที่ 1 ว่าประเทศมัลดีฟส์นั้นประกอบไปด้วยหมู่เกาะปะการังสวยงามมากมาย และยังตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรซึ่งมีภูมิอากาศเหมาะแก่การท่องเที่ยว พวกท่านคงไม่แปลกใจที่เศรษฐกิจของมัลดีฟส์จะถูกขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยว
ซึ่งถ้าใช้การวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Production - GDP) แล้ว การท่องเที่ยวมัลดีส์ก็สร้างผลผลิตกว่า 28% ของ GDP ทั้งประเทศ (ที่มา: Michigan State University) ส่วนของไทยเราการท่องเที่ยวคิดเป็น 11% ของ GDP ประเทศ (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย)
หมายเหตุ:
GDP ของมัลดีฟส์เทียบกับของไทยเราในปี 2020 แล้วมีขนาดเล็กกว่ามาก ไม่ถึง 1% ของ GDP ไทย อย่างไรก็ดีมัลดีฟส์ก็มีประชากรเพียง 5 แสนสี่หมื่นกว่าคนเทียบกับเกือบ 70 ล้านคนของไทย ซึ่งถ้านำ GDP ของมัลดีฟส์มาเทียบกับจำนวนประชากร เพื่อเทียบเคียงออกมาเป็นความสามารถในการสร้างผลผลิตต่อประชากร ก็จะมากกว่าประเทศไทยเล็กน้อยคือ มัลดีฟส์ประมาณ 7,400 เหรียญสหรัฐต่อประชากร vs ไทยประมาณ 7,200 เหรียญสหรัฐต่อประชากร
(ที่มา: world bank)
แน่นอนว่ามัลดีฟส์เองเมื่อมีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ช่วง Covid ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2020 ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างช่วยไม่ได้
โดยก่อน covid นั้น มัลดีฟส์มีค่าเฉลี่ยนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศประมาณ 1.5 ล้านคนทุกปี โดยในปี 2019 ปีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง 1.7 ล้านคน (ไทยเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคน)
รัฐบาลมัลดีฟส์จึงต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชนด้วยการฉีดวัคซีนประชาชนกว่า 540,000 ของตัวเองให้มากที่สุด โดยเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 จนกว่าสองในสามของประชากรได้รับวัคซีนครบ ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชมในความพยายามของรัฐบาลมัลดีฟส์เนื่องจากประชากรของประเทศนั้นกระจัดกระจายอยู่ตาม 185 เกาะ จากทั้งหมดเกือบ 1,200 เกาะ เพื่อเร่งกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
5.8 Under Sea Restaurant, Hurawalhi Resort
ในที่สุดมัลดีฟส์ก็สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้งในครึ่งปีหลังของ 2021 จนสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศได้ถึง 1.3 ล้านคนในปี 2021 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยที่ 1.5 ล้านคนต่อปี
มัลดีฟส์มีสกุลเงินของตัวเองชื่อว่า Maldivian rufiyaa (สัญลักษณ์ Rf, MVR) แต่ชีวิตจริงที่นั่นมักใช้เงินสกุลเหรียญสหรัฐ (US Dollar - USD) กันเป็นหลัก
สำหรับเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศนั้น ไทยถือเป็นลูกค้าหมายเลข 1 ของมัลดีฟส์ เนื่องจากไทยเราซื้อผลิตภัณฑ์จากปลาของมัลดีฟส์มากที่สุด เช่นปลาแช่แข็ง เนื้อปลาแช่แข็ง ในขณะที่มัลดีฟส์ซื้อรถจักรยานยนต์เป็นสินค้านำเข้าจากไทยมากที่สุด
ปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาขึ้นชื่อในมัลดีฟส์
Credit: https://portlouishub.com/ngos-back-maldives-ambitious-plan-to-save-indian-ocean-yellowfin-tuna/
แถมเกร็ดความรู้เล็กน้อยเรื่องเงินทอง
มัลดีฟส์เคยเป็น “โรงกษาปณ์” เนื่องจากแหล่งผลิต “หอยเบี้ย” (cowrie) ที่ใช้แทนเงินกันอย่างแพร่หลายในเส้นทางการค้าในอดีต ตั้งแต่ทวีปเอเชียไปยังทวีปแอฟริกา กว่า 3,200 ปีที่แล้ว
Credit: https://britishmuseum.withgoogle.com/object/cowrie-shells
ธนาคารกลางมัลดีฟส์จึงนำหอยเบี้ยมาเป็นสัญลักษณ์องค์กรเช่นกัน
credit: https://en.wikipedia.org/wiki/Maldives_Monetary_Authority
credit: https://www.mma.gov.mv/#/
นี่กระมัง คงเป็นที่มาของภาษาไทยที่ยังเรียกเงินสนับสนุนในโครงการต่างๆขึ้นต้นด้วยคำว่า “เบี้ย” เช่น เบี้ยยังชีพ เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ เป็นต้น
สวัสดี
source:
โฆษณา