17 พ.ค. 2022 เวลา 10:13 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กสทช. และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยอินไซต์ และมูลค่าตลาด ของบริการดิจิทัลแพลตฟอร์มในไทย
กสทช. ร่วมกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เผยแพร่ผลการสํารวจข้อมูล ของผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform)
รวมถึงมูลค่าดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในประเทศไทย ของอุตสาหกรรมและบริการต่าง ๆ
เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับประกอบการวิเคราะห์หรือจัดทำนโยบาย
ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับสากล
รายงานสรุปผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มประเทศไทย
โดยในรายงานจะนำเสนอประเด็นหลัก ๆ ด้วยกัน 4 ส่วน
1) ระบบนิเวศ นิยาม และขอบเขตของบริการดิจิทัล/ดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศไทย
2) สรุปผลสำรวจที่น่าสนใจ และผลการประเมินมูลค่าบริการดิจิทัล/ดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศไทย
3) ห่วงโซ่คุณค่า ผลสำรวจและผลการประเมินมูลค่าผู้ให้บริการดิจิทัลในประเทศไทย
4) การเปลี่ยนแปลงของตลาดบริการดิจิทัล และผลกระทบต่อตลาดดั้งเดิม
ตัวอย่างข้อมูลที่น่าสนใจในรายงาน เช่น
-ผู้ใช้บริการดิจิทัลกลุ่ม Gen Z ประมาณ 70.8% ถึง 72.7%
เสพคอนเทนต์จากโซเชียลมีเดียเพื่อความบันเทิง ในรูปแบบวิดีโอและรูปภาพเป็นหลัก
-ในปี 2021 กลุ่มบริการโทรคมนาคม (เช่น LINE)
ถูกประเมินว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 1,351 ล้านบาท โดยมีมูลค่ามาจากการเก็บค่าโฆษณาทั้งหมด
และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 14.2% ต่อปี
ซึ่งกลุ่มนี้มีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต คือ
1) ผู้ประกอบการยังคงให้ความสำคัญกับ Digital Marketing มากที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับการใช้เครื่องมือดิจิทัลในด้านอื่น ๆ
2) การเติบโตอย่างต่อเนื่องของ Social Commerce จากระบบการชำระเงินที่พัฒนามากขึ้น และการแข่งขันของบริการโลจิสติกส์ที่ทำให้ต้นทุนการจัดส่งถูกลง
โดยผู้ให้บริการที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานสูงสุด ได้แก่
LINE 94.7%
Facebook Messenger 79.0%
WeChat 6.5%
WhatApps 6.0%
Discord 5.9%
-ในปี 2021 กลุ่มบริการ Video on demand (เช่น Netflix, LINE TV, Viu, Disney+)
ถูกประเมินว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 11,186 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักมาจากรูปแบบการสมัครสมาชิก
และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 18.3% ต่อปี
1
ซึ่งกลุ่มนี้มีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต คือ
1) สัดส่วนการติดตั้งแอป Video on Demand ยังมีค่อนข้างน้อย ประมาณ 1% - 21% จึงมีโอกาสที่คนไทยจะดาวน์โหลดแอปกลุ่มนี้มากขึ้น
2) การนำเทคโนโลยี Blockchain และ AI ในการพัฒนาบริการดิจิทัล เพื่อสำรองข้อมูลสำหรับพัฒนา AI ในการเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้งานและพัฒนา Production
ขณะที่กลุ่มบริการ Video Sharing (เช่น YouTube, Twitch)
ถูกประเมินว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 4,934 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักมาจากการเก็บค่าโฆษณา
และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 17.3% ต่อปี
ซึ่งกลุ่มนี้มีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต คือ
1) สัดส่วนจำนวนผู้ใช้งานแบบสมัครสมาชิกยังมีสัดส่วนน้อย คิดเป็นเพียง 2% ของผู้ใช้งานทั้งหมดเท่านั้น จึงมีพื้นที่ให้เติบโตของผู้ใช้งานกลุ่มนี้ได้อีกมาก
2) การนำเทคโนโลยี Blockchain และ AI ในการพัฒนาบริการดิจิทัล เพื่อสำรองข้อมูลสำหรับพัฒนา AI ในการเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้งานและพัฒนา Production
โดยผู้ให้บริการที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานสูงสุด (Video on Demand และ Video Sharing) ได้แก่
YouTube 95.7%
Netflix 31.4%
LINE TV 27.5%
Viu 13.0%
AIS Play 12.8%
-ในปี 2021 กลุ่ม Music Streaming ถูกประเมินว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 3,326 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักมาจากรูปแบบการสมัครสมาชิก
และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 14.1% ต่อปี
ซึ่งกลุ่มนี้มีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต คือ
1) จำนวนผู้ใช้บริการ Music Streaming ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากสัดส่วนการติดตั้งแอปที่มี 17% - 22% เมื่อเทียบกับสัดส่วนการใช้สมาร์ตโฟนที่สูง
2) AI เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาการผลิตเพลง ประสบการณ์ผู้ฟัง และช่วยให้โฆษณา เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ทั้ง 2 ส่วนของกลุ่มบริการนี้
3) เทคโนโลยี 5G ช่วยเพิ่มคุณภาพในการบริการ Music Streaming ทั้งการยกระดับคุณภาพเสียงบนบริการดิจิทัล และความเร็วในการดาวน์โหลดเพลง
โดยผู้ให้บริการที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานสูงสุด ได้แก่
Joox 51.0%
Spotify 50.8%
YouTube Music 37.3%
Apple Music 18.1%
Amazon Music 5.4%
-ในกลุ่มบริการสื่อสังคมออนไลน์
ผู้ให้บริการที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานสูงสุด ได้แก่
Facebook 94.1%
Google 51.6%
Instagram 41.5%
TikTok 41.5%
Gmail 35.3%
Twitter 29.8%
Pantip 10.9%
โดยหากเจาะข้อมูลกลุ่มย่อยของกลุ่มบริการนี้ จะพบว่าในปี 2021
กลุ่ม Social Networking ถูกประเมินว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 8,369 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าจากการหารายได้รูปแบบโฆษณาทั้งหมด
และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 20.6% ต่อปี
กลุ่มนี้มีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต คือ
1) การเติบโตของเทคโนโลยี Metaverse ที่มีการเชื่อมโยงกับบริการ Social Networking จากระบบปฏิบัติการสมาร์ตโฟนสู่ระบบโลกเสมือน (Virtual Reality)
2) มูลค่าการซื้อโฆษณาของผู้ประกอบการไทยผ่านสื่อ Social Networking มีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งส่งผลต่อรายได้ที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3) ความนิยมของตลาด Social Commerce ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ช่องทาง Social Networking เป็นช่องทางหลักในการประชาสัมพันธ์
กลุ่ม Search Engine ถูกประเมินว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 1,715 ล้านบาท โดยแพลตฟอร์มมีรูปแบบการหารายได้จากการเก็บค่าโฆษณาเป็นหลัก
และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 17.7% ต่อปี
ซึ่งกลุ่มนี้มีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต คือ
1) การพัฒนำระบบ AI สำหรับระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Assistant) ให้เข้าใจภาษาไทยและสามารถทำนายคำที่ต้องการค้นหาได้มากขึ้น
2) แนวโน้มการค้นหาด้วยเสียง (Voice search) ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการซื้อของออนไลน์ ตั้งแต่การค้นหา เปรียบเทียบราคา สั่งซื้อสินค้า
โฆษณา