18 พ.ค. 2022 เวลา 22:12 • ปรัชญา
“ปลงได้ ใจสบาย”
เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ให้เป็นประโยชน์ ใช้ความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย มาสอนใจให้ปล่อยวาง ให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา สั่งเขาไม่ได้ เปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้ อยู่กับเขาไปจนกว่าจะแยกจากกันไปเอง
อย่าแยกด้วยการฆ่าร่างกาย เพราะทำด้วยตัณหาความอยาก จะทำให้ทุกข์และไปเกิดใหม่อีก ไปใช้กรรมในอบายก่อน จนกว่าบาปจะหมดกำลัง แล้วก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ถ้าเจอปัญหาเดิมอีกก็จะแก้ปัญหาแบบเดิมอีก
ดังที่มีคำพูดว่า ถ้าฆ่าตัวตายครั้งหนึ่งแล้วก็จะต้องฆ่าตัวตายอีก ๕๐๐ ชาติ เพราะจะติดเป็นนิสัยไป จะแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย คนที่ฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหานี้ เพราะเคยทำอย่างนี้มาก่อน ถ้าได้มีโอกาสศึกษาธรรมะ ได้มาปฏิบัติ เจริญสติ ทำใจให้สงบแล้วพิจารณาขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาได้
พอเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ก็จะอยู่กับปัญหานั้นไป แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็อยู่กับมันไป จนกว่าร่างกายจะตายไปเอง หรือถูกศัตรูฆ่า จะอยู่อย่างเย็นสบาย ไม่เครียดไม่วิตกไม่กังวล ไม่หวาดกลัว ถ้ายังยึดติดกับร่างกาย ยังอยากให้มีชีวิตอยู่ ก็จะเกิดความทุกข์ความเครียดขึ้นมาภายในใจ
เวลาที่มีภัยมาประชิดตัว เพราะยังหลงยึดติดว่าเป็นตัวเราของเรา ยังมีตัณหาความอยาก ยังไม่สามารถปล่อยวางสังขาร ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัยได้ ไม่สามารถทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ สังขารยังปรุงแต่งไปทางสมุทัยอยู่
เวลาปลงได้ ใจจะสงบเย็นสบาย เพราะยอมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ นี่คือผลที่จะเกิดขึ้น จากการเจริญปัญญา พิจารณาขันธ์ ๕ อยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นอนัตตา ไปสั่งเขาไม่ได้ เวลาเขาเจ็บ ห้ามเขาไม่ได้ แต่เราห้ามความเจ็บของใจได้
ด้วยการไม่ปล่อยให้สังขารคิดไปในทางสมุทัย คิดไปในทางภวตัณหา วิภวตัณหา กามตัณหา ทำใจให้เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ การจะทำใจให้สักแต่ว่ารู้ได้ ก็ต้องฝึกสมาธิ ทำใจให้รวมเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ เวลาใจรวมเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตารมณ์แล้ว
ใจจะเป็นอุเบกขา มีความสุขเย็นสบาย จะไม่เดือดร้อนกับอะไรทั้งนั้นเวลาอยู่ในสมาธิ เพราะตอนนั้นไม่รับรู้ขันธ์ ๕ ไม่รับรู้ร่างกายเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ จะรับรู้ก็ตอนออกมาจากสมาธิแล้ว ถ้าจะรักษาให้เป็นอุเบกขาต่อ ก็ต้องใช้ปัญญาสอนใจ ให้พิจารณาปล่อยวางรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ต้องสอนใจอยู่เรื่อยๆว่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่เที่ยง มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา
ถ้ารู้อย่างนี้ตลอดเวลา เวลาร่างกายเป็นอะไรไป ก็จะทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ ปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางเวทนา ปล่อยวางสัญญา ปล่อยวางสังขารได้ ถ้าสัญญาไม่เห็นผิด ก็จะหยุดสังขารหยุดสมุทัยได้ แต่หยุดเวทนาไม่ได้ เวทนาทางกายจะหายไม่หาย เป็นเรื่องของร่างกาย แต่ทุกข์ทางใจหายได้ ถ้าใจเป็นอุเบกขา ไม่ปรุงแต่งไปทางตัณหา ที่อยากให้ความเจ็บหายไป อยากจะหนีจากความเจ็บไป.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
กำลังใจ ๕๗ กัณฑ์ที่ ๔๔๑
๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๕
โฆษณา