21 พ.ค. 2022 เวลา 12:08 • กีฬา
อธิบายในเชิงบริบท : ทำไมคนหลากเชื้อชาติมาเลเซีย ถึงเล่นกีฬาแตกต่างกัน | MAIN STAND
มาเลเซีย ถือเป็นประเทศหลากเชื้อชาติหลากวัฒนธรรม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความสนใจของคนในชาติจะแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนแม้แต่ในวงการกีฬา
คุณอาจจะสังเกตเห็นแล้วว่า ผู้คนเชื้อสายจีน-มาเลย์ มักเก่งกาจในการเล่นกีฬาในร่ม เช่น แบดมินตัน แต่ในขณะเดียวกัน ชาวมาเลย์แท้ กลับชื่นชอบและหลงรักกีฬาฟุตบอลเสียมากกว่า
Main Stand จะพาไปหาคำตอบว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนในประเทศเดียวกันมีความสนใจที่แตกต่างกันขนาดนี้ กับการลงลึกถึงบริบทความแตกต่างของผู้คนแต่ละเชื้อชาติในมาเลเซีย
ความขัดแย้งทางเชื้อชาติของชาวมาเลเซีย
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่า มาเลเซีย จัดเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มหลากเชื้อชาติและหลากวัฒนธรรม โดยประชากรราวเกินกึ่งหนึ่งเป็นชาวมาเลย์แท้ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้แต่เดิม ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มเชื้อชาติผสมอย่าง จีน-มาเลย์, อินเดีย-มาเลย์ และชนกลุ่มน้อยทั่วไป
เฉกเช่นกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เชื้อชาติที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจในมาเลเซียคือ ชาวจีน-มาเลย์ ที่อพยพมาใช้ชีวิตยังประเทศแห่งนี้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 จนมีจำนวนราว 22.4 เปอร์เซ็นต์ และถึงแม้จะเป็นจำนวนที่น้อยกว่าชาวมาเลย์ราวสามเท่า แต่พวกเขาคือเชื้อชาติที่มีบทบาทกับเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุด
ในทางกลับกันชาวมาเลย์แท้คือผู้มีบทบาททางอำนาจการเมืองมากที่สุด ซึ่งหากสองเชื้อชาติสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมันคงไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะมาเลเซียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาการเหยียดเชื้อชาติซุกซ่อนอยู่ใต้พรมมากที่สุดแห่งหนึ่ง
1
ชาวมาเลย์ กับ ชาวจีน-มาเลย์ แทบจะมีชีวิตอยู่ในโลกคนละใบ ต่างฝ่ายต่างอยู่ในชุมชนของตนโดยไม่มีการมาเกี่ยวข้องกัน ส่วนสถาบันพื้นฐานที่จะหลอมหลวมพวกเขาเข้าด้วยกันอย่าง โรงเรียน ก็ไม่ได้มีส่วนช่วยในการทำให้อะไรดีขึ้น เพราะโรงเรียนชั้นประถมศึกษาในมาเลเซียถูกแบ่งเป็นสองประเภท หนึ่งคือ โรงเรียนประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจะสอนในภาษามาเลย์ กับ โรงเรียนพื้นถิ่น ที่สอนในภาษาจีนหรือภาษาทมิฬ
เมื่อไม่เกิดความเข้าใจกันจึงเป็นเรื่องง่ายที่ชาวมาเลย์ต่างชนชาติจะตัดสินกันด้วยการเหมารวม (Stereotype) โดยมีผลสำรวจที่ยืนยันชัดเจนว่า ชาวมาเลย์แท้ถูกมองโดยคนชนชาติอื่นว่าเป็นพวก "ขี้เกียจสันหลังยาว" ส่วนชาวจีน-มาเลย์ถูกมองว่าเป็นคน "โลภมากและหน้าเลือด" ขณะที่ชาวอินเดีย-มาเลย์ถูกตัดสินว่าเป็นพวก "ขี้โกงไว้ใจไม่ได้"
1
อคติที่สั่งสมและปลูกฝังมาอย่างยาวนานนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดมากมายระหว่างชาวมาเลเซียด้วยกันเอง โดยวิกฤตใหญ่เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1960s เมื่อมาเลเซียได้เป็นเอกราชจากจักรวรรดิบริติชที่อำนาจทางการเมืองได้กลับคืนสู่ชาวมาเลย์อีกครั้ง คนพื้นถิ่นไม่พอใจความมั่งมีของชาวจีน-มาเลย์ ซึ่งเกิดจากการครองอำนาจในหลายธุรกิจและความใกล้ชิดกับเจ้าอาณานิคม
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดนโยบาย "มาเลเซียของชาวมาเลเซีย" ซึ่งจะให้สิทธิพิเศษแก่ชาวมาเลย์ในการเข้าถึงบริการสาธารณะ, ทุนการศึกษา, สถาบันการศึกษาของรัฐบาล, ใบอนุญาตการค้าหรือใบอนุญาตถือครองที่ดิน มากกว่าชนชาติอื่นในประเทศ นอกจากนี้ชาวมาเลย์ยังจะได้รับความช่วยเหลือด้านอื่นทั้ง การซื้อบ้านราคาถูก, สิทธิพิเศษในการได้รับการว่าจ้าง และสิทธิพิเศษเชิงธุรกิจ
1
การปฏิบัติผ่านนโยบายทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันนำไปสู่ความรุนแรงเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 1969 กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ หลังชาวมาเลย์ไม่พอใจที่พรรคอนุรักษ์นิยมเสียเก้าอี้ในสภาให้พรรคเสรีนิยมและพรรคฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนชาวจีน โดยชาวจีน-มาเลย์ เสียชีวิตไป 143 คนจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ปัญหาเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน ชาวอินเดีย-มาเลย์ ยังคงอาศัยอยู่ในสังคมด้วยความหวาดกลัวเนื่องจากถูกเหยียดเชื้อชาติเป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีชาวมาเลเซียมากถึง 34 เปอร์เซ็นต์ที่เปิดเผยว่าพวกเขาไม่เคยกินข้าวร่วมโต๊ะกับคนชนชาติอื่นเลย
การเล่นกีฬา = ภาพสะท้อนความต่างของชาวมาเลเซีย
การเล่นกีฬาที่แตกต่างชนิดกันของชาวมาเลเซียจึงอาจดูเหมือนเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากความไม่ลงรอยกันของแต่ละเชื้อชาติ แต่ในความจริงแล้ว กีฬา ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่แบ่งแยกอัตลักษณ์และตัวตนของแต่ละฝ่ายออกจากกันมาโดยตลอด ความจริงที่ชาวจีนชอบเล่นแบดมินตันและชาวมาเลย์ชอบเล่นฟุตบอลสามารถเห็นเด่นชัดมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุความรุนแรงในปี 1969 เสียด้วยซ้ำ
คู เคย์ คิม นักประวัติศาสตร์ชาวจีน-มาเลย์ กล่าวว่า สมัยที่เขายังเป็นเด็ก (ช่วงราวทศวรรษ 1940s-50s) โรงเรียนพื้นถิ่น ซึ่งมีไว้สำหรับสอนนักเรียนชาวจีนมักมีขนาดพื้นที่เล็กแตกต่างจากโรงเรียนประถมศึกษาแห่งชาติ
พวกเขาจึงไม่สามารถเล่นกีฬาที่ใช้พื้นที่เยอะหรือกีฬากลางแจ้งได้ และด้วยข้อจำกัดที่ทำให้พวกเขาสามารถเล่นแต่กีฬาในร่มได้เพียงอย่างเดียวนั้น แบดมินตัน จึงกลายเป็นคำตอบ และเป็นกีฬาที่สถิตอยู่ในโรงเรียนพื้นถิ่นของชาวจีนแทบทั้งหมด
คู เคย์ คิม สรุปว่านี่คือเหตุผลหลักว่าทำไมคนเชื้อสายจีนในมาเลเซียถึงเล่นกีฬาแบดมินตัน, ปิงปอง หรือ วอลเลย์บอล เก่งกว่าชาวมาเลย์ทั่วไป เนื่องจากพวกเขาถูกบีบบังคับให้เล่นแค่กีฬาในร่มเพียงอย่างเดียว ส่วนลูกชาวจีน-มาเลย์ที่พอจะมีฐานะ มักส่งลูกของตัวเองไปเรียนโรงเรียนของชาวอังกฤษ จึงมีโอกาสซึมซับกีฬาอย่าง คริกเกต, ฮอกกี้ หรือ รักบี้
กีฬาเดียวของชาวอังกฤษที่หลุดรอดออกมาจากรั้วโรงเรียนชั้นสูงและเป็นที่นิยมในหมู่ชาวมาเลย์ทั่วไปคือ ฟุตบอล คู เคย์ คิม ผู้ซึ่งเป็นชาวจีน-มาเลย์ที่โปรดปรานกีฬาฟุตบอลเล่าให้ฟังว่า เขาปั่นจักรยานหรือขึ้นรถบัสไปตามเมืองต่าง ๆ เพื่อเล่นฟุตบอล สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลานั้นฟุตบอลคือกีฬาที่แพร่หลายไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศมาเลเซีย
เฉกเช่นกับทุกพื้นที่ทั่วโลก ฟุตบอล ไม่ใช่กีฬาที่ต้องอาศัยการฝึกฝนหรือความเข้าใจอะไรมากมาย แถมยังสามารถเล่นได้ทุกพื้นที่กว้างไม่ว่าจะเป็นถนนหรือสนามหญ้า เกมลูกหนังที่เข้ามาสู่มาเลเซียตั้งแต่ปี 1905 จึงสามารถมัดใจชาวมาเลเซียทั่วประเทศจนกลายเป็นกีฬาระดับแถวหน้าของชาติได้ตั้งแต่ปี 1923
ขณะเดียวกัน แบดมินตัน เป็นกีฬาที่ใกล้ชิดคนเฉพาะกลุ่มมากกว่าและเข้าถึงกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมมาเลเซียมากกว่า โดยย้อนกลับไปในช่วงที่ประเทศแห่งนี้ยังคงเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิบริติช ภายใต้ชื่อ บริติชมาลายา ทีมแบดมินตันของพวกเขาก้าวไปคว้าแชมป์รายการ โธมัส คัพ ครั้งแรก ในปี 1949
1
ซูเปอร์สตาร์ของแบดมินตันมาเลเซียในขณะนั้น คือ หวง ปิ่ง ซวน (Wong Peng Soon) นักกีฬาเชื้อสายจีน-มาเลย์ เจ้าของฉายา "หวงผู้ยิ่งใหญ่" จากผลงานการคว้าแชมป์โธมัส คัพ ให้ทีมชาติมาเลเซีย 3 สมัย และความสำเร็จตรงนี้เองที่ส่งผลให้ หวง ปิ่ง ซวน กลายเป็นฮีโร่ที่ชาวจีน-มาเลย์ ให้ความเคารพ และต้องการจะประสบความสำเร็จในวงการนี้แบบฮีโร่ในวัยเยาว์
1
นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในอดีตถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนในเชื้อชาติเดียวกันยึดติดกับกีฬาชนิดเดิม ไม่มีเหตุผลที่ชาวมาเลย์ส่วนมากในมาเลเซียจะต้องเลือกเดินบนเส้นทางสายแบดมินตัน ในเมื่อฮีโร่ของพวกเขาอยู่ในกีฬาชนิดอื่น เช่น ฟุตบอล ขณะเดียวกันชาวจีน-มาเลย์ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปเตะฟุตบอล ในเมื่อเกียรติยศความยิ่งใหญ่ของพวกเขาอยู่ที่กีฬาในร่มอย่าง แบดมินตัน
การแบ่งแยกการเล่นกีฬาในลักษณะนี้มีส่วนช่วยในการรักษา "Status Quo" หรือสถานภาพที่เป็นอยู่ของสังคมไว้เหมือนเดิม แบดมินตันคือกีฬาของชาวจีนโดยที่ชาวมาเลย์มีบทบาทน้อยกว่า เช่นเดียวกับฟุตบอลที่เป็นกีฬาของชาวมาเลย์โดยไม่ได้รับความนิยมจากคนเชื้อสายจีน
แม้ความจริงการรักษาสถานภาพที่เป็นอยู่นี้อาจแสดงถึงความไม่ลงรอยของคนในชาติเดียวกัน แต่พวกเขาก็ยินยอมพร้อมใจ จนทำให้คนมาเลย์ในปัจจุบันไม่แม้แต่จะตั้งคำถามว่า ทำไมแบดมินตันถึงมีแต่นักกีฬาเชื้อสายจีน ?
การเล่นกีฬาแตกต่างประเภทกันของชาวมาเลเซียจึงสะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าของคนแต่ละเชื้อชาติในประเทศที่เติบโตมาในสภาพสังคมที่แตกต่างและแยกขาดจากกัน และตราบใดที่สังคมต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรมของมาเลเซียยังไม่สามารถรวมเป็นหนึ่งอย่างสมบูรณ์ก็ดูเหมือนว่าการแบ่งแยกนี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนานเลยทีเดียว
บคทวามโดย ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา