23 พ.ค. 2022 เวลา 01:28 • สิ่งแวดล้อม
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 31 | พื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง🏢🌼🐝✌️🌰🐿🐀🐍🦉
เมื่อวานนี้ วันที่ 22 พฤษภาคมเป็นวันสำคัญของผู้คนทั่วโลกนั่นก็คือ ‘วันความหลากหลายทางชีวภาพ’ (Biodiversity Day) และก็เป็นวันสำคัญของชาวกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยด้วย
เพราะเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในรอบ 9 ปี และ ‘พื้นที่สีเขียว’ ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่เหล่าผู้สมัครหยิบยกมาเป็นนโยบายหาเสียง ดังนั้น รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนนี้จึงขอรวมทั้งสองวาระสำคัญมานำเสนอในหัวข้อ ‘ความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง’
Credit. https://citieswithnature.org/what-is-citieswithnature/
ทุกวันนี้ 55% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง และคาดว่าอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 68% ในปี ค.ศ. 2050
โดยการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยจากพื้นที่ชนบทขยายเป็นเมืองมีทิศทางที่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของประชากรโลกและในอนาคตอาจมีประชากรที่เพิ่มขึ้นในเขตเมืองอีกราว 2.5 พันล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยเกือบ 90% เกิดขึ้นในเอเชียและแอฟริกา
และการขยายเมืองอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีการคำนึงถึงพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เหมาะสมกับจำนวนประชากรซึ่งเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ได้กำหนดขนาดของพื้นที่สีเขียวในเมืองขั้นต่ำไว้ที่ 9 ตร.ม./คน
แต่ข้อมูลในปี ค.ศ. 2019 พบว่า กทม. มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคน 6.9 ตร.ม./คน ซึ่งแม้จะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก
มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวในเมือง
แม้มนุษย์จะเป็นผู้สร้างเมืองจากการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสังคมมนุษย์ แต่มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวในเมือง
เพราะกิจกรรมของมนุษย์ได้ดึงดูดสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองด้วย
เช่น การมีสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวในเมืองดึงดูดสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่น แมลง กระรอก หนู นก งู เป็นต้น เกิดเป็น “ระบบนิเวศในเมือง” โดยมีสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทำหน้าที่ของตนในพื้นที่เขตเมือง
มนุษย์เมืองทำมาหากินตามบทบาทหน้าที่ในสังคมของตน แต่มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สำคัญที่สุดในระบบนิเวศเมือง เพราะสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็ล้วนทำมาหากินและทำหน้าที่ของตนเองในระบบนิเวศเมืองเช่นกัน
แต่บ่อยครั้งที่มนุษย์เอาตัวเองเป็นใหญ่และเลือกที่จะกำจัดสิ่งมีชีวิตบางอย่างออกไปจากระบบนิเวศเมืองโดยไม่เข้าใจถึงต้นตอของปัญกาที่แท้จริง
ซึ่งนั่นทำให้ระบบนิเวศในเมืองขาดสมดุลเพราะทุกชีวิตในระบบนิเวศล้วนเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน
ที่มา: https://arch4701fall2020.hku.hk/urban-ecology/
จากภาพเป็นสายใยอาหารที่เกิดขึ้นในเมือง ที่มีทั้งพืช สัตว์ ผู้ย่อยสลายอย่างราและไส้เดือน และหากสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งหายไปจากสายใยอาหารก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นไม่มากก็น้อย
ลองมอง ๆ ดูมีสัตว์อย่างน้อย 3-4 ชนิดแล้วล่ะที่มนุษย์ไม่ปลื้ม และหาทางกำจัดอยู่เสมอไม่ว่าหนู🐀 ยุง🦟 งู🐍 เป็นต้น
ซึ่งการจัดการสัตว์ที่สร้างความรำคาญอย่างถูกต้องคือการควบคุมปริมาณจากต้นทาง
เช่น การที่ในเมืองมีหนูนั่นก็เพราะมีแหล่งอาหารจากการจัดเก็บขยะที่ไม่เป็นระบบ แต่ต่อให้มนุษย์ทุกบ้านจะตั้งที่จับหนูไว้ก็ดักจับหนูได้ไม่หมดอยู่ดี
เพราะหนูขยายพันธุ์และเพิ่มปริมาณได้เร็วมาก ๆ ซ้ำร้ายมนุษย์ก็ไม่ปลื้มศัตรูตามธรรมชาติของหนู เช่น งูและเหี้ย เป๋นต้น
และพยายามกำจัดสัตว์เหล่านี้ออกไป สุดท้ายแล้วคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขาดสมดุลของธรรมชาติก็คือมนุษย์เอง เรียกว่าสร้างเรื่องเองรับผลเองนักเลงพอ 😅
ความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง
ชีวะก็คือชีวิตเพราะฉะนั้น ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ ก็คือ ‘สิ่งมีชีวิต’ ที่มีอยู่ ‘หลากหลาย’ โดยการร่วมกันในพื้นที่หนึ่ง
ยกตัวอย่างใกล้ตัว เช่น ในอาหาร 5 หมู่ ก็มีทั้งเนื้อสัตว์ หมู ไก่ ไข่ นม ผักใบเขียว ถั่ว ข้าวโพด ผลไม้ ฯลฯ ซึ่งถ้าเราไม่มีสัตว์และพืชที่หลากหลายเราก็คงต้องกินอาหารเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา
หรือถ้าลองนึกภาพถ้าไปเดินในสวนสาธารณะแล้วเราเห็นแต่ดอกไม้ ต้นไม้แบบเดียวกันก็คงจะน่าเบื่อ ดังนั้น สวนจึงมักตกแต่งให้สวยงามด้วยดอกไม้ที่หลากหลายซึ่งจะดึงดูดแมลงที่หลากหลายอย่าง ผึ้ง ผีเสื้อ ตั๊กแตน มาดอมดมและช่วยผสมเกสร
ต้นไม้ก็มีทั้งใหญ่และเล็ก มีทั้งเนื้อแข็งเนื้ออ่อน ลักษณะพุ่มและการแผ่กิ่งก้านก็แตกต่างกันแต่ต่างก็ให้ร่มเงาและเป็นที่อาศัยของนกและสัตว์เล็กๆ เช่น กระรอก กระเล็น กระแต เป็นต้น
แลพสัตว์เหล่านี้ไม่ได้กินอยู่ฟรีแต่ตอบแทนด้วยการช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ให้กับต้นไม้เหล่านั้น
ดังนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองก็คือการที่สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดอยู่ร่วมกันในพื้นที่เมืองนั่นเอง โดยสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ถึงเค้าจะไม่ได้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนแบบมนุษย์
แต่เค้าก็ทำมาหากินเพื่อดำรงชีวิตและเผ่าพันธุ์ตามหน้าที่ในระบบนิเวศไม่ต่างกันกับเราเช่นกัน
และย้ำอีกครั้งว่ามนุษย์ไม่สามารถเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่อยู่ในเมืองได้ตราบที่เรายังต้องการพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ช่วยกรองฝุ่นและมลพิษให้กับเมือง
ดังนั้น แทนที่จะหาทางกำจัดสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ออกไป มาเข้าใจปัญหาที่ต้นเหตุและจัดการกับเมืองอย่างเข้าใจ ใส่ใจกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตลอดจนการเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวเดิมเข้าด้วยกัน
หากสามารถทำได้กรุงเทพจะเป็นมากกว่า “เมืองน่าอยู่สําหรับทุกคน” แต่จะเป็น “เมืองน่าอยู่สําหรับทุกสิ่งมีชีวิต”
สุดท้ายนี้ ถึง ณ ตอนที่เขียนนี้ถึงแม้ กกต. จะยังไม่ได้รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
แต่ก็ขอเชิญชวนทุกคนไปศึกษาและเสนอแนะแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่คุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 ได้เสนอไว้ในเว็บไซต์ด้านล่างนี้กัน
อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครไม่ใช่เมือง ๆ เดียวที่ต้องการพื้นที่สีเขียว เมืองอื่นๆ ในประเทศของเราก็ต้องการพื้นที่สีเขียวและการบริหารจัดการที่เข้าใจและแก้ไขปัญหาโดยใช้ฐานจากความเข้าใจธรรมชาติ (Nature-based solution)
และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็เป็นหนึ่งในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั้งคนและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จะได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะอย่าลืมว่าคนเราก็เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพเช่นกัน
นอกจากนี้ ตัวชี้วัดความสำเร็จการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนอกจากจะวัดจากจำนวนพื้นที่ต่อประชากรแล้วการวัดจากจำนวนผู้ที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียวได้ก็มีความสำคัญเช่นกัน...
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา