24 พ.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปรียบเทียบกองทุนรวมปันผล VS ไม่ปันผล
หนึ่งในคำถามเรื่องกองทุนรวมที่หลายคนสงสัยที่สุด คือ “ระหว่างกองทุนรวมแบบจ่ายปันผล กับไม่จ่ายปันผล แบบไหนดีกว่ากัน ?”
วันนี้เราเลยจะมาพูดถึงความต่างของกองทุนรวมทั้ง 2 แบบนี้กันครับ
🤩 กองทุนรวมชนิดจ่ายเงินปันผล (Dividend)
กองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล จะเหมาะกับคนที่ต้องการกระแสเงินสดจากการลงทุน โดยกองทุนรวมจะแบ่งเงินบางส่วนที่ได้จากการลงทุนมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้เรา
การจ่ายเงินปันผลจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานและนโยบายของกองทุนรวมนั้น ซึ่งหลังจากจ่ายเงินปันผลแล้ว มูลค่าหน่วยลงทุนหรือ NAV ต่อหน่วยของกองทุนนั้นจะลดลง
โดยเราสามารถรู้ว่ากองทุนไหนมีนโยบายจ่ายหรือไม่จ่ายเงินปันผล จากหนังสือชี้ชวนการลงทุนของกองทุนรวมนั้น
นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ต้องรู้ คือ เงินปันผลที่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ด้วยเหมือนกัน แต่เราเลือกได้ว่าจะให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้เป็นภาษีสุดท้าย หรือเลือกเอาเงินปันผลนี้ มาคำนวณรวมเพื่อยื่นภาษีเงินได้แทน
🤩 กองทุนรวมชนิดสะสมมูลค่า (Accumulation)
กองทุนรวมชนิดสะสมมูลค่า จะไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล กองทุนแบบนี้จะเหมาะกับคนที่ไม่ต้องการกระแสเงินสดระหว่างทาง และรอได้เงินก้อนทีเดียวที่ปลายทางการลงทุน
พอไม่ได้จ่ายเงินปันผลออกมา กองทุนรวมเลยจะนำเงินทั้งหมดไปลงทุนต่อ ทำให้เงินลงทุนมีโอกาสโตขึ้นเรื่อย ๆ จากพลังของดอกเบี้ยทบต้น
แต่ก็ต้องคำนึงไว้ด้วยว่า ถ้ากองทุนรวมที่เราลงทุนมีความผันผวนสูง แล้วไม่จ่ายเงินปันผลเลย
กรณีที่มูลค่ากองนั้นลดลงเรื่อย ๆ เงินลงทุนเราก็จะลดลง โดยที่เราไม่ได้รับกระแสเงินสดบางส่วนมาเก็บไว้ก่อนเหมือนกัน
สุดท้ายแล้ว ต้องบอกว่าคำถามนี้ไม่ได้มีคำตอบตายตัวว่ากองทุนรวมไหนดีกว่ากัน ดังนั้น เราเลยควรเข้าใจกองทุนรวมแต่ละแบบเอาไว้ และเลือกลงทุนให้เหมาะกับตัวเองที่สุดครับ
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา