8 ส.ค. 2022 เวลา 02:00 • การตลาด
"นักการตลาด" ต้องอัปเดต! เปิดผลสำรวจพฤติกรรมคนไทยแต่ละ "Gen" ชอบเสี่ยงกับอะไรมากที่สุด ?
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) รายงานข้อมูลการตลาดรูปแบบเอาใจคนชอบเสี่ยงที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน จากข้อมูลงานวิจัย “ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง Marketing to Risk lover” ที่สะท้อนพฤติกรรมที่คนไทยและนำมาสู่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดที่ให้ความสําคัญต่อการทำการตลาดแบบเสี่ยงโชคเพื่อปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
เปิดผลสำรวจพฤติกรรมคนไทยแต่ละ "Gen" ชอบเสี่ยงกับอะไรมากที่สุด ?
📌 เสี่ยงโชคกับลอตเตอรี่
จากผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยซื้อลอตเตอรี่สูงถึง 85.3% แสดงให้เห็นว่า การซื้อลอตเตอรี่เข้าถึงในทุกๆ เพศ ทุกวัย และทุกระดับรายได้ โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซื้อลอตเตอรี่งวดละ 1 ใบ อยู่ที่ 51.9% และซื้องวดละ 2-4 ใบ อยู่ที่ 37.1%
1
เมื่อมาแบ่งตามช่วงอายุแล้วจะเห็นว่า กลุ่มผู้ใหญ่วัย Gen X และ Baby Boomer จะซื้อลอตเตอรี่งวดละ 2-4 ใบ มากกว่ากลุ่มคนวัยทำงานและวัยรุ่น อย่าง Gen Y และ Gen Z ที่จะซื้อเพียงงวดละ 1 ใบเท่านั้น
อาจจะเป็นเพราะว่าวัยอย่าง Gen Y และ Gen Z ให้ความสนใจในเรื่องของการลงทุนมากกว่า เพราะว่าการซื้อหวยเป็นการลุ้น ใช้ความน่าจะเป็น ต่างจากการลงทุนที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าการพึ่งเรื่องโชค เรื่องดวง
1
📌 เสี่ยงที่จะลงทุน สินทรัพย์ดิจิทัล
จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล คิดเป็น 32.9% นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึง 83.9% ใช้ “เงินออม” ในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะใช้เงินลงทุนต่อ transaction อยู่ที่ 5,000-20,000 บาทต่อครั้ง
นอกจากนี้ยังพบว่า ขนาดของพอร์ตสินทรัพย์ดิจิทัลที่กลุ่มตัวอย่างถือครองอยู่ในปัจจุบัน จะอยู่ที่ 50,000 บาท คิดเป็น 53.9% ซึ่งมีสัดส่วนน้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับการลงทุนทั้งหมด
ทั้งนี้ คนกลุ่ม Gen Z เป็นเจนที่สนใจในการลงทุนคริปโทฯ มากที่สุดโดยให้เหตุผลว่าอยากจะรวยเร็วๆ ขณะเดียวกัน โดยกลุ่มตัวอย่าง 88.8% ทราบดีอยู่แล้วว่าการลงทุนประเภทนี้มีความผันผวนสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ แต่ก็ยังตัดสินใจลงทุน เพราะมีความเชื่อว่า ความเสี่ยงสูงมักจะนำมาซึ่งการตอบแทนที่สูงเช่นกัน
📌 เซอร์ไพรส์ กล่องสุ่ม และ Chef’s Table
จากการวิจัยพบว่า Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ มีแนวโน้มซื้อกล่องสุ่มมากกว่าเจนอื่นๆ สูงถึง 49% เนื่องจากเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง และเติบโตมากับสมาร์ทโฟน สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้มีพฤติกรรมต้องตามกระแสสังคม กลัวการตกเทรนด์
โดยจะซื้อสินค้ากล่องสุ่มที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท ขณะที่ในส่วนของ Gen Y ที่มีกำลังซื้อมากกว่า Gen Z ตัดสินใจซื้อกล่องสุ่มที่ระดับราคาไม่เกิน 2,500 บาท
นอกจากนี้ยังมี ความนิยมการทานอาหารรูปแบบ Chef’s Table จากผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างเคยไปใช้บริการ Chef’s Table อยู่ที่ 28.4% ซึ่งเป็นรสนิยมการทานอาหารเฉพาะกลุ่ม โดยสาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่เลือกไปใช้บริการนี้ ได้แก่ เพื่อต้องการสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำในมื้อพิเศษ 27.1% ต้องการลุ้นว่าเชฟจะรังสรรค์เมนูอะไรมาให้รับประทาน 25.3%
กราฟิก วิชัย นาคสุวรรณ
โฆษณา