25 พ.ค. 2022 เวลา 12:30 • ไลฟ์สไตล์
“วางแผน หาทำ และนอน”
6 กิจวัตรช่วยเสริมความจำในวันที่ร่างกายเริ่มแก่ตัว
เราคิดว่า “ความทรงจำ” ของเรามีค่ามากแค่ไหนกัน?
2
ตลอดชีวิตของเรานั้น ผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย จนมีคลังของความทรงจำที่เก็บไว้นับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้หัวเราะมีความสุขจนตัวโยน หรือร้องไห้เสียใจจนแทบจะแหลกสลาย
2
แต่ถึงอย่างนั้นเอง ทุกความทรงจำก็เป็นเหมือนกับอิฐแต่ละก้อนที่มีส่วนในการก่อร่างสร้างตัวตนของเราขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่ดีหรือร้ายก็ตาม อาจเรียกได้ว่า ความสามารถในการจดจำของมนุษย์ เป็นหนึ่งใน “ทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่” ที่สุดของเราทุกคน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป เราอายุมากขึ้น สมองและส่วนอื่นๆ ของร่างกายมนุษย์ก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละคนอาจจะเจอกับการเปลี่ยนแปลงที่ช้า ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องดี แต่สำหรับบางคน ความเปลี่ยนแปลงกลับมาเยือนเร็วกว่าคนอื่นๆ ความจำของคุณเริ่มจะเลอะเลือน สิ่งที่พึ่งทำไปเมื่อกี้นี้ก็กลับลืมอย่างรวดเร็ว หรือบางทีก็ลืมว่าเอาของไปวางไว้ที่ไหน
1
สิ่งนี้เป็นเพราะว่า เมื่อคุณอายุมากขึ้น ความจำของคุณมักจะลดลงเร็วกว่าตอนที่คุณอยู่ในวัย 20 ปีนั่นเอง
1
โดยการเปลี่ยนแปลงหลักๆ เกี่ยวกับความจำของคนเราก็คือ การเริ่มใช้กระบวนการของเหตุและผลช้าลง เริ่มจับต้นชนปลายไม่ถูก มีปัญหากับการจดจำหลายสิ่งหลายอย่างมากขึ้น และเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ยาก ซึ่งถ้ายิ่งแก่ตัวลงเท่าไร สิ่งเหล่านี้ก็จะยิ่งปรากฏออกมาให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
5
จากผลวิจัยของ Science Daily เมื่อให้เด็กและผู้ใหญ่มาเล่นเกมเปิดภาพทายสัตว์ พบว่า เด็กจะจดจำภาพของสัตว์ได้ดีและรวดเร็วถึง 31% ส่วนผู้ใหญ่จะจดจำภาพของสัตว์ได้เพียง 7% จากภาพทั้งหมดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การที่เราแก่ตัวลง ไม่ได้แปลว่าเราจำเป็นที่จะต้องยอมให้ความสามารถในการจดจำของเราถดถอยลงไปตามร่างกายของเรา เพราะคนเราสามารถฝึกฝนสมองของเราไม่ให้แก่ลงไปตามกาลเวลา
2
เพราะว่าสมองเอง ก็เป็นเหมือนกับกล้ามเนื้อต่างๆ ตามร่างกายที่สามารถฝึกฝนให้แข็งแรงขึ้นด้วยการออกกำลังกาย เพียงแต่ว่าเราต้อง “ออกกำลังสมอง” อย่างเป็น “กิจวัตร” ให้เป็น
1
โดยปกติแล้ว สมองของมนุษย์มีสายการเรียนรู้โดยการทำอะไรซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า “การฝึกฝน” เพราะการที่เราจะจำบางสิ่งได้ดีเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความพยายามในการเรียนรู้ของตัวเราเองเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะยิ่งถ้าเกิดเราใช้สมองของเรามากเท่าไร มันก็ยิ่งทำงานได้ดีขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับความทรงจำ ยิ่งถ้าเราหมั่นฝึกฝนในการจำอะไรต่างๆ มากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเพิ่มความสามารถในการจำได้มากเท่านั้น
5
ข่าวดีก็คือในการฝึกฝนความสามารถในการจดจำนั้น เราไม่จำเป็นต้องรบกวนตารางเวลาของตัวเองจนหมดเพื่อเพิ่มความจำ แต่เราสามารถรวมกิจกรรมบางอย่างและนิสัยที่ดีต่อสุขภาพไว้ในกิจวัตรประจำวันของเรา เพื่อช่วยให้ความจำของเรานั้นแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
1
มาดูกันว่า 6 นิสัยในชีวิตประจำวันเพื่อเพิ่มความจำของเรา ประกอบไปด้วยกิจวัตรอะไรบ้าง?
1
#วางแผนและจัดระบบสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน
2
ในชีวิตของคนเรา เราต้องจดจำอะไรเยอะมาก แล้วเราจะสามารถลดพลังงานในการจดจำสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็นได้อย่างไร? คำตอบคือ การวางแผน
1
การวางแผนสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ หนึ่ง การวางแผนชีวิตในวันถัดไปล่วงหน้าว่าพรุ่งนี้จะต้องทำอะไรบ้าง และสอง การวางแผนว่าสิ่งของที่เราใช้เป็นประจำควรอยู่ตรงไหน เช่น กุญแจรถ เราก็ควรที่จะจัดให้เป็นที่เป็นทาง เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมาถามตัวเองว่าครั้งที่แล้วเราเอาไปวางไว้ไหนกันนะ?
3
วิธีเหล่านี้ก็จะเป็นวิธีที่ช่วยให้เรารักษาพื้นที่ความจำในสมอง เก็บไว้ไปจดจำสิ่งที่สำคัญมากกว่า อีกทั้งยังเป็นการสร้างวินัยและความสม่ำเสมอให้กับชีวิตอีกด้วย
2
#วางแผนการพักเป็นช่วงๆ
ถ้าระหว่างวันเรารู้สึกว่ามีสิ่งที่ต้องโฟกัสและต้องจดจำหลายสิ่ง จนเริ่มเกิดอาการสมองล้า นั่นอาจจะหมายความว่าเราอาจจะต้องรู้จักแบ่งช่วงเวลาในการจดจำ ด้วยการหาเวลาพักเป็นช่วงๆ
1
โดยวิธีการก็คือ เราอาจจะลองหาเวลาระหว่างวัน นั่งกับตัวเองและหยุดคิดเพียงแค่ 5-10 นาทีต่อรอบ นั่งสบายๆ หลับตา หายใจเข้าออก ให้รู้สึกว่าร่างกายที่กำลังร้อนหรือสมองที่กำลังร้อนได้เบาเครื่องลง และทำอย่างสม่ำเสมอ ทุก 1-2 ชั่วโมงในเวลาทำงาน แค่นี้ก็จะทำให้สมองของเราได้พักและเพิ่มประสิทธิภาพการจำได้ดีขึ้น
4
#เสริมอาหารสมองให้ร่างกาย
เหมือนกับการดูแลร่างกาย สมองเองก็ต้องการสารอาหารที่มีประโยชน์ในการบำรุงเช่นเดียวกัน โดยในการบำรุงสมองนั้น เราควรพยายามจำกัดการกินน้ำตาลและลดอาหารจำพวกธัญพืชแปรรูป แล้วอาจจะลองเลือกทานพวกโฮลเกรนแทน และเพิ่มแหล่งอาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ถั่วและเมล็ดพืช เป็นต้น นอกจากนี้ การดื่มกาแฟ น้ำบลูเบอร์รี ดาร์กช็อกโกแลต และผักใบเขียว ก็มีส่วนช่วยเพิ่มพลังสมองและความจำเช่นกัน
8
#ขยับตัวอย่างสม่ำเสมอ
การเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน ก็เป็นกลุ่มกิจกรรมที่เราสามารถที่จะขยับตัวได้ง่ายๆ และจะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าได้ทำกิจกรรมเหล่านี้ในพื้นที่สีเขียว ได้ออกไปมองเห็นธรรมชาติบ้าง
2
ซึ่งนอกจากนี้ หลายๆ การศึกษายังชี้ให้เห็นว่า การทำกิจกรรมอย่างการคาร์ดิโอ หรือ เต้นแอโรบิก จะช่วยเพิ่มทักษะความจำให้แก่สมอง เช่นเดียวกันกับการศึกษาจาก Havard Health ที่เผยว่า การออกกำลังกายนั้นจะช่วยสร้างการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง และยังช่วยเสริมให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองนั้นๆ ดีขึ้นอีกด้วย
2
ดังนั้น หากใครนั่งทำงานทั้งวัน ก็อาจจะหาเวลาสั้นๆ หลังเลิกงาน เริ่มจากการเดินสั้นๆ ในบ้านหรือนอกบ้าน ให้ร่างกายได้ขยับตัวบ้าง
1
#สร้างประสบการณ์ใหม่ให้สมองอยู่เสมอ
กิจกรรมที่แปลกใหม่ หรือการ “หาทำ” เช่น การไปออกกำลังกายในเส้นทางใหม่ๆ หรือการเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้านหลังเลิกงาน ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสมองได้อย่างดี เพราะเป็นการที่เราบังคับให้สมองได้ทำงาน ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ระหว่างทาง ไม่ได้เป็นการทำตามกิจวัตรประจำวันเดิมๆ ของเราที่ทำให้เราไม่ได้ออกกำลังกายสมองเลย
5
#พยายามนอนหลับอย่างสบายใจ
2
ทุกๆ ครั้งที่เรานอนหลับ คือ การฟื้นฟูสมองที่ดีที่สุด และช่วยให้ทุกอย่างที่เหนื่อยล้าสามารถฟื้นคืนกลับมาได้ แต่สิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช่เพียงแค่การพาตัวเองเข้านอน แต่คือการสร้างสภาวะน่าสบายก่อนเข้านอนให้กับตัวเองให้ได้มากที่สุด
2
Richard Shane, PhD. นักบำบัดพฤติกรรมการนอนหลับ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมการนอนหลับของ Lutheran Medical Center Sleep Center ในเมืองเดนเวอร์ สหรัฐอเมริกากล่าวว่า การนอนคือการฟื้นฟูเซลล์สมอง และเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นไปสู่สมองส่วนที่สามารถจดจำความทรงจำระยะยาวได้ แต่ทั้งหมดจะเกิดได้จากกระบวนการพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพ
3
“ความทรงจำ” เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเราทุกคน ซึ่งการมีความจำที่ดี ก็หมายถึงการที่คุณสามารถเรียนรู้อะไรได้ง่ายและรวดเร็วกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาทักษะแห่งความจำเหล่านี้ เราควรทำอย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ เพราะมันส่งผลดีต่อชีวิตของคุณในระยะยาวอย่างแน่นอน
2
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
6 กิจวัตรช่วยเสริมความจำในวันที่ร่างกายเริ่มแก่ตัว
โฆษณา