27 พ.ค. 2022 เวลา 01:30 • ความคิดเห็น
"ใคร่ครวญเรื่องคุณค่า"
แนวคิดพื้นฐานสำหรับการอยู่ร่วมกัน ทั้งในครอบครัวและในสังคม
[1] การพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมีอารยะ หรือแม้แต่การโต้แย้งและถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน (ตราบที่ยังให้เกียรติฝั่งตรงข้าม) ต่างก็สำคัญต่อการสร้างสำนึกถึง “คุณค่า” แห่งการอยู่ร่วมกันทั้งสิ้น
[2] แต่เดี๋ยวนี้เรามักให้ความสำคัญต่อ “มูลค่า” มากกว่า “คุณค่า” เราจึงกลายเป็นสังคมฉาบฉวย ต่างก็มุ่งหาประโยชน์ส่วนตน ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับชาติ
[3] “คุณค่า” ของการอยู่ร่วมกันในครอบครัวมีต้นตอมาจากความรัก (โดยไม่คาดหวัง) ความสัตย์ (โดยไม่ปิดบัง) และการให้อิสระทางความคิด/การตัดสินใจ (โดยเป็นเพียงคู่คิด/ผู้แนะนำ) หากมีไม่ครบ ใช้ “มูลค่า” มาทดแทนเท่าใดก็คงไม่ยั่งยืน
[4] “คุณค่า” ของการอยู่ร่วมกันในชาติถูกจารึกไว้ในนโยบาย/กฎหมาย ซึ่งมาจากการใคร่ครวญร่วมกันของผู้คน (หากเราเป็นพลเมือง) การสร้างแรงจูงใจทางมูลค่า (หากเราเป็นหน่วยบริโภค) การเออออของรัฐฝ่ายเดียว (หากเราเป็นก้อนเนื้อที่มีลมหายใจ) หรือการบังคับ (หากเราเป็นทาส)
[5] ข้อตกลงของการอยู่ร่วมกัน (ธรรมนูญ) ที่ดี คือข้อตกลงที่ส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยในลักษณะที่เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ร่วมกันได้มาใคร่ครวญถึง “คุณค่า” ที่พวกเขาอยากให้เป็น ไม่มีใครบอกได้ว่าสิ่งใด “ดี” นอกจากมาพิจารณาร่วมกันเท่านั้น
[6] คุณสมบัติที่ควรมีของการใคร่ครวญร่วมกันถึง “คุณค่า” คือ การให้เกียรติผู้อื่นโดยปลดวางอีโก้ของตน พูดโดยปราศจากอคติ ฟังโดยการเปิดใจ แสวงหาจุดร่วมโดยใช้ความต่างให้เป็นจุดแข็ง ถ่อมตนโดยมีสำนึกถึงส่วนรวม … ซึ่งเหล่านี้จำเป็นต้องฝึกฝน
[จบ] หากคิดว่าปัญหาจากการอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ ให้ย้อนกลับไปไล่อ่านจากข้อ 1 อีกครั้ง ฝึกฝนตัวเองในเรื่องที่จำเป็น แล้วมาใคร่ครวญถึง “คุณค่า” ร่วมกันกับคนที่เกี่ยวข้อง แต่หากปฏิเสธ เราก็คงอยู่กันไปอย่างนี้แหละ ... ในครอบครัวก็ปล่อยให้อึมครึมกันไป ส่วนในชาติก็ปล่อยให้รัฐเห็นเราเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างหน่วยบริโภค ก้อนเนื้อที่มีลมหายใจ หรือทาส!
โฆษณา