29 พ.ค. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ย้อนรอย “The Great Inflation” เหตุการณ์เงินเฟ้อครั้งใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา
3
ในช่วงทศวรรษ 1970 ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยเผชิญกับเหตุการณ์เงินเฟ้อครั้งใหญ่
ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผิดพลาด บวกกับการถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติน้ำมัน
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา เคยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 13.5%
โดยทั่วไปแล้ว การที่เงินเฟ้อสูงขึ้นจะเป็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
3
แต่ในขณะนั้น แม้เงินเฟ้อจะสูงแล้ว แต่เศรษฐกิจก็ยังคงตกต่ำ แถมมีอัตราการว่างงานเป็นจำนวนมาก
ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสภาพเศรษฐกิจ ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ ในปัจจุบัน
โดยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เราเรียกกันว่า “Stagflation”
4
วันนี้ เรามาดูกันว่าเหตุการณ์ในสมัยนั้นเกิดขึ้น และจบลงอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
2
ย้อนกลับไปภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
เศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ชะลอตัวอีกครั้ง
1
รัฐบาลสหรัฐอเมริกากังวลว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
หรือ The Great Depression ในปี 1930 จะกลับมาซ้ำรอยเดิม
ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ชาวอเมริกันตกงานกัน จนมีอัตราการว่างงาน สูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์
ในระหว่างช่วงปี 1963 ถึงปี 1969 สมัยของประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson
สภาคองเกรสจึงให้ความสำคัญกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้มีการส่งเสริมการจ้างงานและการผลิต รวมถึงต้องจัดให้มีการประสานงานที่มากขึ้น ระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง
1
รวมถึงนโยบายภายในประเทศอย่าง The Great Society หรือการสร้างสังคมที่ยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการผลักดันเศรษฐกิจภายในประเทศให้เฟื่องฟู
2
ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ได้ตัดสินใจทุ่มงบประมาณ และทรัพยากรทางทหาร เข้าไปสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียดนาม
5
เพื่อให้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อมกันได้ กระทรวงการคลัง และคุณ William Martin ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จึงต้องดำเนินนโยบายงบประมาณ “แบบขาดดุล” หรือก็คือการใช้จ่ายเงิน และก่อหนี้ของรัฐบาลจำนวนมหาศาล
4
จนเข้าสู่ช่วงปี 1970 ในสมัยของประธานาธิบดี Richard Nixon และประธาน Fed คนใหม่ อย่างคุณ Arthur Burns
1
ในยุคนี้ รัฐบาลก็ยังคงดำเนินนโยบายแบบขาดดุลอีกเช่นเคย จนทำให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มก่อตัวสูงขึ้นจาก 1.3% เป็น 6%
1
ความจริงแล้ว การใช้นโยบายจนอัตราเงินเฟ้อสูงขนาดนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากสหรัฐอเมริกายังคงผูกกับระบบ “Bretton Woods”
Bretton Woods คือระบบการเงินที่ให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ผูกกับทองคำเพียงสกุลเดียว
ที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อทองคำ 1 ออนซ์
4
แล้วให้สกุลเงินของประเทศต่าง ๆ มาผูกกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยค่าคงที่อีกทีหนึ่ง
โดยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถนำสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ตามต้องการ
2
แต่หลังจากที่สหรัฐอเมริกาต้องพิมพ์เงินออกมา เพื่อชดเชยกับงบประมาณที่ขาดดุลอย่างมหาศาล
จนทำให้ปริมาณเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในเศรษฐกิจโลกมากกว่าปริมาณทองคำที่มี
2
ในที่สุดปี 1971 ประธานาธิบดี Nixon ก็ประกาศยกเลิกการผูกสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไว้กับทองคำ และมีการลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลง
2
กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบนี้ไปเต็ม ๆ ก็คือ กลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลางที่ส่งออกน้ำมัน
1
เพราะว่าโดยปกติแล้ว พวกเขารับรายได้จากการขายน้ำมันเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ
แต่เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าลดลง ก็เท่ากับว่ารายได้ส่วนนั้นก็จะหายไปทันที
4
นอกจากนั้นแล้ว ในปี 1973 ก็มาถึงอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ คือเมื่อเกิดสงคราม “Yom Kippur”
หรือ ยมคิปปูร์ ซึ่งเป็นสงครามระหว่างอิสราเอล และชาติอาหรับอย่างซีเรียและอียิปต์
4
โดยในสงครามครั้งนั้น สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะสนับสนุนฝ่ายอิสราเอล ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้
คิดเป็นมูลค่าในปัจจุบันมากกว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ชาติอาหรับยิ่งไม่พอใจ
1
กลุ่มประเทศ OPEC นำโดยซาอุดีอาระเบีย จึงตัดสินใจตอบโต้ด้วยการหยุดส่งน้ำมันดิบ
ให้สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร หรือที่เรียกว่า “Oil Embargo”
2
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวพุ่งขึ้นถึง 3 เท่า
โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับเป็นค่าเงินปัจจุบัน ดังนี้
ปี 1973 ราคาน้ำมันดิบ 23 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ปี 1974 ราคาน้ำมันดิบ 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
2
ในช่วงนั้น สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลก โดยบริโภคน้ำมันสูงถึง 33% ของการบริโภคทั้งโลก แม้ว่าชาวอเมริกันจะมีจำนวนประชากรเพียง 6% ของประชากรโลกก็ตาม
เนื่องมาจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากำลังขยายตัว มีการสร้างทางหลวงมากมาย รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ราคาน้ำมันเบนซินสูงขึ้น 40% และน้ำมันตามปั๊มเริ่มขาดแคลน ถึงขนาดที่ว่ามีการตั้งกฎว่า ถ้าป้ายทะเบียนรถยนต์ลงท้ายด้วยเลขคู่ ก็จะเติมน้ำมันได้เฉพาะวันคู่ และป้ายทะเบียนที่ลงท้ายด้วยเลขคี่ ก็เติมเฉพาะวันคี่
2
ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา พุ่งสูงขึ้นจาก 6% เป็น 11%
2
ในช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำมัน รัฐบาลได้ออกกฎหมาย เพื่อมาควบคุมราคาสินค้าและค่าแรง เพื่อพยายามกดอัตราเงินเฟ้อเอาไว้
1
ซึ่งในช่วง 90 วันที่มีการควบคุม ก็ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงได้ แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการควบคุม อัตราเงินเฟ้อก็ดีดตัวขึ้นมาอีกครั้ง
1
นอกจากนั้น ประธานาธิบดี Nixon ยังได้ออกกฎหมายจำกัดความเร็วรถยนต์ บนทางหลวงทั่วประเทศไม่ให้เกิน 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิมที่บางรัฐสามารถใช้ความเร็วได้ถึง 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
5
ในขณะที่ประเทศในยุโรป ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และได้ออกมาตรการในการประหยัดพลังงาน เช่น
1
- หลายประเทศจำกัดโควตาการเติมน้ำมันรถยนต์ต่อคัน
- เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม และสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศให้งดใช้รถในวันอาทิตย์
- ฝรั่งเศสสั่งให้สำนักงานทุกแห่งปิดไฟส่องสว่างหลัง 4 ทุ่ม
และให้สถานีโทรทัศน์ทุกแห่ง หยุดการออกอากาศหลัง 5 ทุ่ม
- สหราชอาณาจักรจำกัดการใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ 3 วันต่อสัปดาห์
3
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปี 1974 เป็นดังนี้
- อัตราเงินเฟ้อ 11%
- GDP ติดลบ 0.5%
- อัตราการว่างงาน 5%
3
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นสภาพเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อสูง ค่าสินค้าและบริการแพง แต่เศรษฐกิจกลับไม่เติบโต แถมยังมีอัตราการว่างงานสูง เรียกสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ว่า “Stagflation” ซึ่งนับเป็นการเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
1
จนในที่สุด Oil Embargo ก็สิ้นสุดลงในเดือนมกราคม ปี 1974 จากการที่คุณ Henry Kissinger ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้เข้าพบกับกษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อเจรจาขอให้ยุติการหยุดส่งน้ำมัน
2
หลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ตลอดช่วงทศวรรษ 1970 Fed เลือกใช้นโยบายการเงินแบบ “Stop-Go” หรือเร่ง ๆ หยุด ๆ สลับไปมา เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน
ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาในแต่ละปี ดังนี้
1
ปี 1967 ดอกเบี้ยนโยบาย 4%
ปี 1969 เพิ่มขึ้นเป็น 9%
ปี 1971 ลดลงเป็น 4%
ปี 1974 เพิ่มขึ้นเป็น 12%
ปี 1976 ลดลงเป็น 5%
1
ตลอด 10 ปีที่ Fed ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ๆ ลง ๆ กลับไม่ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อ หรืออัตราการว่างงานลดลงอย่างมีเสถียรภาพได้เลย แถมกลับทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นด้วยซ้ำ
2
เนื่องจากเมื่อประชาชนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตไม่ได้ แต่เห็นว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ลูกจ้างก็จะต่อรองขอขึ้นค่าจ้าง เพื่อชดเชยกับค่าครองชีพที่คาดว่าจะสูงขึ้นในอนาคต
1
เมื่อค่าจ้างหรือค่าแรงที่ถือเป็นต้นทุนสูงขึ้น ราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้น
และลูกจ้างก็กลับมาต่อรองค่าจ้างอีกครั้ง หมุนวนลูปไปแบบนี้เรื่อย ๆ
แต่แล้วในปี 1979 วิกฤติน้ำมัน และ Stagflation ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง ในยุคที่มีการปฏิวัติในประเทศอิหร่าน ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันลดลง และราคาน้ำมันดิบก็พุ่งขึ้นเป็น 2 เท่า
 
โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับเป็นค่าเงินปัจจุบัน ดังนี้
ปี 1979 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ปี 1980 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
และอัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้นจาก 11% เป็น 13.5%
3
ในปี 1980 จุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อคุณ Paul Volcker เข้ารับตำแหน่งประธาน Fed คนใหม่
1
ถึงตรงนี้ ผู้กำหนดนโยบายหลายคน เริ่มเห็นตรงกันแล้วว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อรักษาระดับราคาสินค้าให้คงที่ แม้ว่าอาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และผู้คนตกงานมากขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็ตาม
3
จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 13.5%
ทำให้ Fed ต้องใช้ยาแรง เพื่อควบคุมปริมาณเงินที่ล้นอยู่ในระบบให้น้อยลง
โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายเคยขึ้นไปสูงถึง 20% ในปี 1980
1
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ได้ผลชะงัด
อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ลดลงมาเหลือเพียง 6% เท่านั้น
1
แต่สิ่งที่ต้องแลกมานั่นก็คือ เศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย และอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น
โดยในปี 1982 GDP ติดลบ 1.8% อัตราการว่างงานก็สูงถึง 9% และ 11% ในปีต่อมา
แต่หลังจากนั้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพ
เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
และอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำกว่า 5% ตลอดมา
1
ถึงตรงนี้ Fed ได้รับความเชื่อมั่นกลับมา ในเรื่องของการควบคุมเงินเฟ้อ
เมื่อเงินเฟ้อควบคุมได้ และประชาชนคาดการณ์ได้ เศรษฐกิจและการจ้างงาน
ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาอีกครั้งอย่างยั่งยืน
และแล้ว ยุคของ “The Great Inflation” ก็ได้จบลง ในที่สุด
3
แน่นอนว่าวิกฤติน้ำมันทั้งสองครั้ง เป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลัน จนเกือบควบคุมไม่อยู่
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เงินเฟ้อเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงแรก เป็นเพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด
1
จากวิกฤติเงินเฟ้อในครั้งนั้น ทำให้ Fed เริ่มมีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ และดำเนินนโยบายการเงินอย่างโปร่งใส
1
รวมถึงต้องสื่อสารให้ประชาชนทราบเป็นระยะ เพราะการคาดการณ์ของประชาชน จะเป็นตัวเชื่อมโยงให้นโยบายทางการเงิน และผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ผู้กำหนดนโยบายตั้งใจ
และจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายนั้น ต้องมองภาพในระยะยาว
มากกว่าที่จะหวังผลประโยชน์ในระยะสั้น
1
ไม่เช่นนั้นถ้าปัญหาบานปลาย และสุดท้ายต้องกลับมาใช้ยาแรง
ก็อาจจบลงด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเวลานาน
ซึ่งเป็นการทำร้ายทุกคนในระบบเศรษฐกิจนั่นเอง..
2
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
1
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา