27 พ.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง : กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร...มหานครที่เดียวดาย
“โอ้กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร สมเป็นนครมหาธานี สวยงามหนักหนายามราตรี งามเหลือเกินเพลิดเพลินฤดี ช่างงามเหลือที่จะพรรณา”
เพลงอันแสนไพเราะที่พรรณาความงดงามของกรุงเทพในเรื่อง Bangkok Breaking ขับร้องขึ้นท่ามกลางฉากหลังคือ ความวุ่นวาย ความน่ากลัว และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ แห่งนี้ เรื่องราวของกรุงเทพฯ ถูกเล่าผ่านสายตาของ วันชัย (แสดงโดย เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ) ที่มาจากต่างจังหวัด เขาเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับต้องไปพัวพันกับเรื่องดำมืดที่เกิดขึ้นในมหานครแห่งนี้
และมีตัวละครหลักที่สำคัญอีกคนคือ แคต (แสดงโดย ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง)
นักข่าวที่ต้องการค้นหาความจริงบางอย่าง และเสี่ยงชีวิตเปิดโปงความลับของผู้มีอิทธิพล โดยในซีรีส์ตั้งใจที่จะใช้อาสากู้ภัยเป็นแกนของเรื่องเนื่องจากเป็นอาชีพที่เข้าถึงทุกระดับ ทุกชนชั้น ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะมาเล่าเรื่องการพัฒนาของกรุงเทพฯ มหานครที่หลายคนต่างฝันใฝ่จะเข้ามาเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดี แต่กลับซุกซ่อนบางสิ่งเอาไว้ใต้แสงไฟในยามค่ำคืน
📌 การกระจุกตัวของความเจริญในกรุงเทพฯ
“กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” ประโยคที่ใครหลายคนเคยเห็นอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะใครที่เคยรถติดอยู่บนถนนอโศกมนตรี
ในปัจจุบัน มีประชากรอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เกือบ 10 ล้านคน หรือประมาณ 13% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และมีความหนาแน่นของประชากรอยู่ที่ 6,718 คนต่อตารางกิโลเมตร
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยพบว่ามีประชากรเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่มีทะเบียนบ้านอยู่ที่กรุงเทพฯ และหากรวมประชากรที่เดินทางจากปริมณฑลเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่ละวัน จะทำให้มีประชากรถึง 15 ล้านคนเลยทีเดียว
ประชากรในกรุงเทพฯ สร้าง GDP ได้ราวๆ 30 % ของ GDP โดยรวมทั้งประเทศ แต่กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละปีสูงถึง 46 % อาจจะมีหลายคนแย้งว่า ก็เพราะคนกรุงเทพฯ จ่ายภาษีมากกว่าถึงควรได้รับงบประมาณมากกว่า บางทีเขาอาจจะลืมนึกไปว่า ที่ต้องจ่ายภาษีมากกว่าเพราะงานที่รายได้ดีมักจะอยู่ในกรุงเทพฯ
และนั่นก็เพราะกรุงเทพฯ ได้รับงบประมาณไปพัฒนาโครงสร้างต่างๆ มากกว่าจังหวัดอื่นหรือเปล่า? ทำให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ อย่างเช่นรถไฟฟ้า ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น เนื่องจากมีประชากรกระจุกตัวสูง คุ้มค่าแก่การลงทุน ในขณะที่ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในต่างจังหวัดหลายๆ แห่งอย่างรถประจำทางยังไม่ครอบคลุมเลยด้วยซ้ำ
📌 กรุงเทพมหานคร...มหานครที่เติบโตอย่างโดดเดี่ยว
ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและถนนหนทางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกรุงเทพฯ และปฏิรูปการบริหารประเทศให้เป็นแบบรวมศูนย์การปกครอง (Centralization) ส่งผลให้กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศที่สำคัญ และเป็นเอกนคร (Primate city) หรือเมืองโตเดี่ยวมาตั้งแต่นั้น
เมืองโตเดี่ยว หากพูดง่ายๆ ก็คือการที่เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีจำนวนประชากรมากกว่าเมืองใหญ่อันดับ 2 เป็นอย่างมาก ถ้าดูจากข้อมูลจะพบว่า ในปี 1947 ประชากรในกรุงเทพฯ
คิดเป็น 20 เท่าของเมืองที่มีขนาดรองลงมาอย่างเชียงใหม่ และยิ่งโตแบบทิ้งห่างขึ้นไปเรื่อย
ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา กรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนสภาพจากเมืองโตเดี่ยว มาเป็นมหานครโตเดี่ยว (Primate Megalopolis) โดยมีลักษณะที่สำคัญ คือ
  • 1.
    ประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว,
  • 2.
    มีการอพยพจากชนบทเข้ามาทำงาน
  • 3.
    มีการขยายพื้นที่ไปยังรอบๆ บริเวณใกล้เคียง
หากพิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3 ฉบับแรก พบว่าการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคเน้นในกรุงเทพฯ เป็นหลัก อาทิ ระบบไฟฟ้า ประปา ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ การศึกษา และระบบสาธารณสุข แล้วก็เริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (Export-oriented Industrialization)
จึงทำให้เกิดรูปแบบการเติบโตโดยมีพื้นที่เขตอุตสาหกรรม เขตที่อยู่อาศัย เขตพาณิชยกรรม ถูกพัฒนาขึ้นตลอดเส้นถนนหลัก ซึ่งต่อมาก็ขยายไปเรื่อยๆ บรรดาเมืองที่เป็นเขตการค้าของชนบทรอบๆ ก็ได้กลายมาเป็นเมืองบริวาร จนกระทั่งถูกรวมเข้าไปกับกรุงเทพฯ จากที่ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 290 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรราวๆ 3 ล้านคน
แต่ในปลายทศวรรษที่ 1980 เขตปกครองของกรุงเทพฯ กินพื้นที่ไปกว่า 1,560 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอาศัยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
📌 เมืองที่ผู้คนเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์บางอย่าง...แต่บางคนก็ผิดหวัง
ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ และความเจริญในกรุงเทพฯ ได้ดึงดูดให้ผู้คนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสในการมีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งด้านการศึกษาและหน้าที่การงาน เนื่องจากในกรุงเทพฯ นั้นเต็มไปด้วยมหาวิทยาลัยชั้นนำ ถึง 32 แห่ง โรงเรียนชื่อดัง และโรงเรียนนานาชาติอีกมากมาย ส่วนในด้านการงาน
ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมหนักๆ จะย้ายไปอยู่ที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกแล้ว แต่โรงงานอีกนับไม่ถ้วน สำนักงานใหญ่ของบริษัท สถาบันการเงิน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ศูนย์จัดแสดงขนาดใหญ่ ล้วนแล้วแต่อยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น จึงส่งผลให้ราคาที่ดินในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ มีราคาสูงมาก ทำให้หลายๆ คนขยับขยายออกมาอาศัยอยู่แถบชานเมือง และปริมณฑลใกล้เคียง
เพื่อให้สามารถเดินทางไปเรียนหรือทำงานในแต่ละวันได้ นั่นจึงตามมาด้วยปัญหาการจราจรที่คับคั่งบนท้องถนน รถติด มลพิษบนท้องถนน จากข้อมูลพบว่าในปี 2019 ทั้งปี โดยเฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ เสียเวลาไปกับรถติดบนท้องถนนในช่วงเวลาเร่งด่วนถึง 207 ชั่วโมง (เทียบเท่ากับการดู Game of Thrones 183 ตอน)
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เข้ามาในกรุงเทพฯ แล้วจะได้โอกาสในการมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างที่ตั้งใจ คนฐานะยากจนจากชนบทจำนวนมาก อพยพเข้ามาหางานในเมืองหลวงแล้วต้องใช้ชีวิตเป็นแรงงานราคาถูก และด้วยราคาที่อยู่อาศัยที่แพงจนพวกเขาไม่สามารถเอื้อมถึง ทำให้เขาต้องอยู่กันอย่างแออัด จนกลายเป็นชุมชนแออัดหรือที่เรียกว่าสลัม จากข้อมูลของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง
ในปี 2018 กรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดถึง 638 ชุมชน ซึ่งที่มักจะถูกพูดถึงบ่อยคือ ชุมชนคลองเตย ที่ผู้คนอยู่อาศัยกันมาอย่างยาวนานและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย และการศึกษาไม่สูงนัก เมื่อมีคนมาอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น และไม่มีระบบจัดการที่ดีพอ ก็เกิดปัญหาตามมาทั้งทางด้านอาชญากรรม ขยะในลำคลอง มลพิษทางสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย
ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ซึ่งคิดเป็นกว่า 38% จากจำนวนคนไร้บ้านทั้งหมดในประเทศ และส่วนใหญ่มักจะเป็นวัยแรงงานตอนปลาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเมือง ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีหลักประกันทางสังคมเพียงพอที่จะมีคุณภาพชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีได้
หากกรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งความเจริญและแสงสี ที่ผู้คนมากมายอยากเข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีในชีวิต ยามที่ฟ้ามืดลง แสงไฟยังคงส่องสว่างไปทั่วพื้นที่ในกรุงเทพฯ หลายคนได้กลับบ้าน ห่มผ้านอนเปิดแอร์อย่างมีความสุข แต่บางคนยังต้องอยู่อย่างแออัด บางคนไม่มีแม้แต่บ้านให้กลับไปนอนเสียด้วยซ้ำ
ความเจริญและการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ควรจะควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างทางสังคมอย่างสมดุล เพื่อไม่ให้มีใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งหลายคนอาจไม่เห็นคุณค่าของคนยากจนเหล่านี้ แต่อย่าลืมว่าเรามาจุดนี้ได้ก็เพราะคนเหล่านี้ โดยในอดีต โครงสร้างภาคอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ มักจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น อาทิ สิ่งทอ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง
และการก่อสร้างต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากแรงงานราคาถูกในเมืองจำนวนมากทั้งสิ้น จวบจนปัจจุบัน แรงงานราคาถูกก็ยังเป็นฐานการผลิตสินค้าราคาถูกให้กับชนชั้นกลางในเมือง
และเป็นฐานที่สำคัญให้เศรษฐกิจหมุนได้ต่อไป แม้ว่าพวกเขาจะเป็นได้แค่เพียงเงาในมหานครแห่งแสงสีนี้ก็ตาม จึงกล่าวได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาทบทวน แนวทางการพัฒนา เพื่อไม่ให้กรุงเทพเป็นมหานครที่โดดเดี่ยวเดียวดาย เป็นจุดสร้างความไม่สมดุลในระบบอย่างที่เกิดขึ้นใน 30-40 ปีที่ผ่านมา
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
  • กาญจนา ตั้งชลทิพย์. (2550). เมืองโตเดี่ยวตลอดกาลของประเทศไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัย ประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา