28 พ.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
สนธิสัญญาแบ่งโลกใหม่ระหว่าง 'สเปน' และ 'โปรตุเกส' หนึ่งในสนธิสัญญาพลิกโฉมประวัติศาสตร์โลก
เมื่อมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มีโอกาสเสมอที่จะมีความขัดแย้งตามมา และยิ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจด้วยแล้ว ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างเหมาะสม
หนึ่งกรณีตัวอย่างในหน้าประวัติศาสตร์ ที่มีการสร้าง “ทางออกของความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ” ขึ้นมา เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1494 ในรูปแบบสนธิสัญญาที่มีชื่อว่า “Treaty of Tordesillas” ซึ่งอาจจะเรียกสั้นๆ ว่า เป็นสนธิสัญญาแบ่งโลกใหม่ระหว่างสเปนและโปรตุเกส
ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของหลายประเทศทั่วโลกต่อมา
ทาง Bnomics จึงได้ตัดสินใจนำเรื่องราวนี้มาเล่าให้ทุกคนอ่านกัน ท่ามกลางความร้อนระอุของการเมืองระหว่างประเทศทั่วโลก ที่ยังหาทางออกไม่ได้
📌 ต้นเหตุมาจากโคลัมบัส
ความขัดแย้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชื่อก้องโลกเดินทางกลับมาจากการสำรวจดินแดนทวีปอเมริกา หรือ ที่หลายคนเรียกกันว่า “โลกใหม่”
ในตอนนั้น รัฐบาลสเปนเป็นผู้สนับสนุนการเดินทางของโคลัมบัส ทำให้ดูกันเผินๆ แล้ว ดินแดนที่พึ่งถูกค้นพบนี้คงจะเป็นของสเปน แต่เรื่องจริงมันกลับไม่ง่ายขนาดนั้น
เพราะก่อนที่จะกลับไปรายงานกับสเปน โคลัมบัสเลือกที่จะมาขอเข้าเฝ้ากษัตริย์ของโปรตุเกสเสียก่อน และแจ้งว่า ทางตะวันตกเฉียงใต้ของดินแดนของ “Canary Island” ยังมีเกาะอื่นๆ อยู่อีก
📌 ทำไม Canary Island ถึงสำคัญ?
ต้องเล่าย้อนความกันสักนิดนึง คือในช่วงก่อนหน้าการสำรวจของโคลัมบัส ทั้งสเปนและโปรตุเกสก็เคยมีความขัดแย้งกันมาก่อนครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนั้นได้มีการทำสนธิสัญญาขึ้นมาเพื่อยุติปัญหา ชื่อว่า “Treaty of Alcáçovas”
ใจความสำคัญส่วนหนึ่งที่มีการตกลงกัน คือ “ดินแดนทั้งหมดที่อยู่ทางใต้ของ Canary Island ให้ยกเป็นสิทธิของโปรตุเกสในการเข้าไปยึดครอง”
เรื่องนี้จึงทำให้ทางโปรตุเกสบอกว่า ดินแดนที่โคลัมบัสค้นพบควรจะเป็นของพวกเขา ไม่ใช่ของสเปน
ทำให้ในตอนนั้น กษัตริย์เฟอร์ดินาน และราชินีอิซาเบลล่า แห่งสเปน ก็ลองทำการบวกลบคูณหารในใจดู เมื่อโปรตุเกสเรียกร้องดินแดนมาแบบนี้ จะทำอย่างไรดี
ถ้าต้องต่อสู้กันทางทหารคงจะต้องแพ้โปรตุเกสอย่างแน่นอน (กองทัพเรือโปรตุเกสในตอนนั้นแข็งแกร่งมาก) จึงได้เลือกที่จะจัดการปัญหาด้วยวิธีทางการทูตดีกว่า
โดยได้รับความช่วยเหลือจากสันตะปาปา Alexander VI ผู้ซึ่งเป็นชาวสเปนโดยกำเนิด ที่ออกสารตราพระสันตะปาปา (Papal bull) หรือเอกสารสิทธิจากสันตะปาปา ประกาศให้
“มีเส้นแบ่งดินแดน ลากจากขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ ตั้งอยู่ห่างจากหมู่เกาะเคปเวิร์ด (Cape Verde Islands) ไปทางตะวันตกประมาณ 320 ไมล์ และดินแดนทางด้านตะวันตกของเส้นนี้ทั้งหมด ก็ให้เป็นสิทธิของสเปนในการเข้าไปสำรวจปกครอง ส่วนดินแดนด้านตะวันออกก็ยกให้โปรตุเกส”
อย่างไรก็ดี ดินแดนที่ถูกยึดครองโดยเจ้าอาณานิคมอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ก็ให้เจ้าผู้ปกครองเดิมเป็นผู้ปกครองต่อไป ซึ่งดินแดนสำคัญที่เข้าข่ายข้อนี้ ก็คือ อินเดีย ที่สเปนเข้าไปมีอิทธิพลอยู่
1
ในตอนแรกที่มีเอกสารสิทธินี้ออกมา ทางกษัตริย์โปรตุเกส King John II ก็ทรงไม่พอพระทัย เพราะ รู้สึกว่าตนเองถูกจำกัดพื้นที่จนเกินไป
แม้แต่ดินแดนในแอฟริกาตะวันตกที่โปรตุเกสได้สิทธิปกครองต่อไป เมื่อดูเส้นที่ขีดแบ่งมานี้ ก็ดูจะมาตีกรอบในแง่ของน่านน้ำ ไม่มีความมั่นคงอย่างที่ควรจะเป็นสำหรับเรือรบของโปรตุเกส
จึงได้ทำการไปเจรจากับสเปนโดยตรง เพื่อขอเลื่อนเส้นแบ่งเขตแดนนี้ไปทางด้านตะวันตกอีก จึงเกิดเป็นเส้นแบ่งเขตแดนใหม่ ที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกของหมู่เกาะเคปเวิร์ด 1,185 ไมล์ หรือคิดเป็นเกือบ 4 เท่าของระยะห่างเดิม
ซึ่งเส้นนี้นี่เอง ที่เป็นเส้นที่ได้รับการยอมรับจากทั้งสองประเทศจนเกิดเป็น Treaty of Tordesillas ในปี 1494
📌 ผลกระทบที่ตามมา
ผลกระทบสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากเส้นแบ่งใหม่นี้ คือ มันเปิดโอกาสให้โปรตุเกสสามารถเข้าไปยึดดินแดนตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้ได้บางส่วน ซึ่งปัจจุบันดินแดนแห่งนี้ ก็คือ ประเทศบราซิล
ทำให้ในแง่ของวัฒนธรรมแล้ว อย่างน้อยที่สุดเลย บราซิลก็เป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปอเมริกาใต้ที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในทวีปมีภาษาสเปนเป็นภาษาราชการของตนเอง
เส้นแบ่งนี้ ยังบีบให้ทั้งโปรตุเกสและสเปน ออกไปสำรวจอีกด้านของโลกมากยิ่งขึ้นในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เพราะเส้นแบ่งเดิมลากแค่จากขั้วโลกเหนือลงขั้วโลกใต้ของฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเท่านั้น
ทำให้ต่อมาจึงเกิดความขัดแย้งระหว่างสเปนกับโปรตุเกสขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในตอนที่ทั้งสองประเทศต่างอ้างสิทธิในการครอบครองหมู่เกาะ Maluku ทั้งคู่
ฝั่งสเปนเองก็บอกว่า หมู่เกาะนี้อยู่ทางด้านตะวันตกของเส้นแบ่งดินแดนโลกใหม่ ส่วนฝั่งโปรตุเกสเองก็บอกว่าหมู่เกาะนี้มันอยู่ฝั่งตะวันออกของเส้นต่างหาก
ทำให้สุดท้ายจึงต้องมีการทำสนธิสัญญาอีกฉบับ มีชื่อว่า Treaty of Zaragoza (หรือบางที่จะสะกดว่า Saragossa) ลากเส้นแบ่งดินแดนขึ้นมาอีกเส้น
เรื่องตลกของสนธิสัญญาทั้งหมดนี้อย่างหนึ่ง คือ มหาอำนาจยุโรปที่ได้ทำการสำรวจทะเลในยุคต่อมา ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา ฯ ไม่มีใครสนใจสนธิสัญญานี้เลย สำรวจทะเลและยึดครองดินแดนไปตามที่ตัวเองไปถึง
ส่วนเรื่องเศร้าที่สุดของสนธิสัญญาฉบับนี้ ก็คือ มันไม่เคยให้สิทธิอะไรแก่กลุ่มชนเผ่าหรืออาณาจักรอื่นที่อยู่ในพื้นที่ปลายทาง ที่ชาวยุโรปเข้าไปสำรวจเลย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สะเทือนใจไม่น้อย
ที่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของมหาอำนาจทั้งสองสำเร็จลงได้ เพราะส่วนหนึ่งไม่ได้คำนึงถึงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นกับคนที่มีกำลังน้อยกว่าที่เป็นเจ้าของพื้นที่อยู่เดิม
ซึ่งก็ไม่รู้ว่า หน้าประวัติศาสตร์แบบนี้จะย้อนมาฉายซ้ำอีกหรือไม่ ที่มหาอำนาจคุยกันเข้าใจดีแล้ว ก็ทิ้งต้นทุนไว้ให้กับประเทศอื่นที่มีเรี่ยวแรงและกำลังสู้ไม่ได้ต่อไป...
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา