3 มิ.ย. 2022 เวลา 15:19 • กีฬา
#MSInfographic : 10 อันดับเจ้าของทีมฟุตบอลที่รวยที่สุดในโลก
ฤดูกาล 2021-22 อันยาวนานได้สิ้นสุดลงไปแล้ว หลังจากนี้ข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเสริมทัพ ซื้อ-ขาย นักเตะจะขึ้นมายึดพาดหัวข่าวกีฬาแต่ละฉบับเหมือนกับที่เป็นมาทุกปี
1
นี่คือความสนุกของแฟนบอลที่จะได้เห็นเหล่าทีมเงินหนาพาเหรดเสริมทัพ เจ้าของแต่ละสโมสรทุ่มแหลกเพื่อทำให้ทีมพัฒนาและก้าวขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ในลีกของตัวเอง
ก่อนที่ตลาดซื้อขายสุดเร้าใจจะเริ่มขึ้น Main Stand จะพาไปสำรวจดูกันว่าสโมสรใดบนโลกนี้ที่มีเจ้าของสโมสรรวยที่สุด 10 อันดับแรก แต่ละคนซื้อทีมมาแพงขนาดไหน พวกเขามีทรัพย์สินเท่าไหร่ และทุ่มเงินขนาดไหนให้ต้นสังกัดของตัวเอง ... ติดตามได้ที่นี่
1
10. จาง จินตง : อินเตอร์ มิลาน
ทรัพย์สิน : 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ / 260,000 ล้านบาท
จาง จินตง มหาเศรษฐีชาวจีน คือหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของแดนมังกร เป็นเจ้าของ ซูหนิง กรุ๊ป ที่มีธุรกิจหลายรูปแบบ ตั้งแต่อุตสาหกรรมหนัก, ก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์ ก่อนที่เขาจะเดินหน้าเข้าสู่การซื้อทีม อินเตอร์ มิลาน ต่อจาก เอริค โธเฮียร์ นักธุรกิจชาวอินโดนีเซียในปี 2016
โดยถือหุ้นทั้งหมด 70% คิดเป็นเงิน 270 ล้านยูโร หรือราว 1 หมื่นล้านบาท ... และส่งต่อให้ สตีเว่น จาง ลูกชาย เป็นประธานสโมสรตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลาที่ ซูหนิง กรุ๊ป บริหารสโมสรอินเตอร์ มิลาน พวกเขาทุ่มเงินไปมากกว่า 700 ล้านยูโร (ไม่หักลบกับรายรับ) เพื่อซื้อนักเตะชื่อดังอย่าง โรเมลู ลูกากู, คริสเตียน อีริคเซ่น และ เลาตาโร่ มาร์ติเนซ รวมถึงการจ้างกุนซือฝีมือดีอย่าง อันโตนิโอ คอนเต้ เข้ามาสู่ทีม จนกระทั่งในฤดูกาล 2020-21 พวกเขาก็ทวงคืนความสำเร็จให้กับ อินเตอร์ มิลาน ด้วยการคว้าแชมป์ เซเรีย อา ครั้งแรกในรอบ 11 ปีได้สำเร็จ
1
แม้ในปี 2021 จาง จินตง จะลาออกจากตำแหน่งประธาน ซูหนิง กรุ๊ป แต่ก็ยังนั่งอยู่บนเก้าอี้ของประธานกิตติมศักดิ์ โดย Forbes ประเมินสินทรัพย์สุทธิของเขาอยู่ที่ 7.4 -7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 2.6 แสนล้านบาท
9. นาสเซอร์ อัล-เคไลฟี่ : ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง
ทรัพย์สิน : 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ / 274,000 ล้านบาท
นาสเซอร์ อัล-เคไลฟี่ เป็นประธานของบริษัท Qatar Sports Investments (QSI) องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 โดยเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนด้านกีฬา สันทนาการ และความบันเทิงเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ยังเป็นซัปพลายเออร์เครื่องกีฬาชั้นนำของโลก และมีความเชี่ยวชาญในด้านการตลาดและการวางกลยุทธ์สำหรับการสร้างแบรนด์ ซึ่งองค์กรนี้มีเงินทุนมหาศาลจากการสนับสนุนของกระทรวงการคลังของประเทศกาตาร์
เพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างแบรนด์กีฬาระดับโลก อัล-เคไลฟี่ คือคนที่ผลักดันให้ QSI เทคโอเวอร์สโมสร ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ในปี 2011 ที่คาดว่าใช้เงินประมาณ 80 ล้านยูโร (ประมาณ 2,670 ล้านบาท)
เขาเปลี่ยนให้ เปแอสเช กลายเป็นสโมสรที่ร่ำรวยที่สุดในฝรั่งเศส และเหนือสิ่งอื่นใดพวกเขาได้ยกระดับแบรนด์ของสโมสรให้ติดอันดับท็อป 10 ของสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ทัดเทียมกับบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง Hyundai, Spotify, 7-Eleven และ Pinterest
แม้จะซื้อสโมสรมาด้วยเงินไม่ถึง 100 ล้านยูโร แต่จนถึงปัจจุบันกลุ่มทุนจากกาตาร์ที่นำโดย อัล-เคไลฟี่ ใช้จ่ายเงินไปกับการซื้อนักเตะเข้าสู่สโมสรมากกว่า 1 พันล้านยูโรไปเป็นที่เรียบร้อย
และเขย่าโลกลูกหนังด้วยทุ่มซื้อนักเตะทีแพงที่สุดในโลกอย่าง เนย์มาร์ ด้วยราคา 222 ล้านยูโร, เซ็นสัญญานักเตะที่เก่งที่สุดในโลกช่วงทศวรรษหลังอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ และล่าสุดจ่ายค่าเหนื่อยอันดับ 1 ของโลกให้ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ด้วยตัวเลขที่สูงถึง 1 ล้านปอนด์ต่อสัปดาห์
แม้จะทุ่มเงินขนาดนี้ แต่ทรัพย์สินของ อัล-เคไลฟี่ ยังคงเพิ่มขึ้นจากวันที่เขาพา QSI เข้าเทคโอเวอร์สโมสร เปแอสเช โดย Forbes ระบุตัวเลขไว้ล่าสุดเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาว่าเขามีทรัพย์สินขยับขึ้นมาแตะหลัก 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเงินไทยประมาณ 2.7 แสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
8. สแตน โครเอนเก้ : อาร์เซน่อล
ทรัพย์สิน : 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ / 298,000 ล้านบาท
มหาเศรษฐีระดับบิลเลียนแนร์ชาวอเมริกัน คือหนึ่งในเจ้าของสโมสรฟุตบอลที่แฟนบอลของตัวเองเกลียดมากที่สุด เหตุผลก็คือแม้เขาจะร่ำรวยแค่ไหนแต่ความทุ่มเทที่เขามอบให้กับ อาร์เซน่อล กลับน้อยจนแฟนบอลปืนใหญ่ไม่พอใจ
โครเอนเก้ มีธุรกิจในมือหลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นหนึ่งในซีอีโอของ Walmart ห้างสรรพสินค้ายอดนิยมของชาวอเมริกัน เป็นเจ้าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ชื่อว่า THF Realty, เจ้าของธุรกิจโรงกลั่นไวน์ Napa Valley และเป็นเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่เบอร์ต้น ๆ ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
อย่างไรก็ตามธุรกิจที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือบริษัท Kroenke Sports & Entertainment ที่ลงทุนด้านกีฬา ซึ่งในส่วนนี้เขาได้เริ่มซื้อทีมกีฬามากมายทั้ง ลอสแอนเจลิส แรมส์ ในศึกอเมริกันฟุตบอล NFL, เดนเวอร์ นักเก็ตส์ ในบาสเกตบอล NBA และ โคโลราโด ราปิดส์ ในเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ก่อนที่จะประกาศรุกฆาตซื้อหุ้นสโมสร อาร์เซน่อล 90% ในปี 2018 หลังจากค่อย ๆ ทยอยซื้อหุ้นของทีมปืนใหญ่มาตั้งแต่ปี 2007
แม้จะใช้เงินมากมายในการซื้อทีม แต่การบริหารที่ให้งบประมาณทีมแบบจำกัดจำเขี่ยและแทบไม่ให้ความสำคัญกับสโมสรแห่งนี้มากนัก เมื่อดูเหมือนเจ้าตัวจะมอง แอลเอ แรมส์ เป็นลูกรักมากกว่า เนื่องจากเขาส่งไม้ต่อให้ จอช โครเอนเก้ ลูกชายของเขาเข้ามาดูแลทีมแทน หลากหลายเรื่องราวและปมที่เกิดขึ้นมานานทำให้แฟนบอลอาร์เซน่อลส่วนใหญ่เกลียดชังตระกูลโครเอนเก้ และมีป้าย Kroenke Out ปรากฏอยู่ในสนามเหย้าของพวกเขาจนถึงทุกวันนี้
2
7. ฟิลิป อันชูตซ์ : แอลเอ กาแล็กซี่
ทรัพย์สิน : 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ / 343,000 ล้านบาท
ฟิลิป อันชูตซ์ คือเจ้าของสโสร แอลเอ กาแล็กซี่ ทีมดังแห่งมหานครลอสแอนเจลิส ในเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ที่สร้างความสั่นสะเทือนหลายครั้งในการคว้านักเตะดังระดับโลกมาร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็น เดวิด เบ็คแฮม, สตีเว่น เจอร์ราร์ด และ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ... แต่นี่เป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น
1
อันชูตซ์ เป็นเจ้าขององค์กร The Anschutz Corporation ที่มีธุรกิจหลากหลายช่องทาง ทั้ง อุตสาหกรรม, อสังหาริมทรัพย์, น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, รถไฟ และธุรกิจความบันเทิง ซึ่งทำให้เขามีทรัพย์สินถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.4 แสนล้านบาท จากการสำรวจในปี 2021 ที่ผ่านมา
ธุรกิจด้านกีฬาถือเป็นการตอบสนองความชอบของตัวเองที่ทำให้ อันชูตซ์ ลงทุนกับทีมกีฬาหลายทีม โดยเขาคือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ เคยเป็นเจ้าของหลายสโมสร ทั้ง ชิคาโก ไฟร์, โคโลราโด ราปิดส์, ฮิวส์ตัน ไดนาโม, ซานโฮเซ เอิร์ธเควกส์ ก่อนปล่อยมือเหลือเพียงแค่ แอลเอ กาแล็คซี่ ทีมเดียว
นอกจากฟุตบอลหรือซอคเกอร์แล้ว อันชูตซ์ยังเป็นเจ้าของทีมฮอกกี้น้ำแข็ง แอลเอ คิงส์ รวมถึงเป็นเจ้าของสนามกีฬาหลายแห่ง ที่ดังที่สุดคงหนีไม่พ้น คริปโตดอตคอม อารีนา รังเหย้าของ แอลเอ เลเกอร์ส นั่นเอง
6. ดีตมาร์ ฮ็อปป์ : ฮอฟเฟนไฮม์
ทรัพย์สิน : 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ / 353,000 ล้านบาท
"ดีตมาร์ ฮ็อปป์ มึงมันไอ้ลูกกะ***" ประโยคนี้เคยเป็นประเด็นในวงการฟุตบอลบุนเดสลีกาเยอรมันมาแล้วในช่วงไม่กี่ปีก่อน จากฝีมือแฟนบอล บาเยิร์น มิวนิค ที่ชูป้ายด่า ฮ็อปป์ ที่เป็นเจ้าของสโมสรฮอฟเฟนไฮม์
เพราะแฟนบอลเยอรมันส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ฮ็อปป์ นั้นได้แหกกฎเหล็กของฟุตบอลเยอรมัน นั่นคือกฎ 50+1 ที่กำหนดให้แฟนบอลต้องเป็นเจ้าของสโมสร ด้วยการถือหุ้นอย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการรับประกันว่าสโมสรจะไม่อยู่ในเงื้อมมือของนายทุนที่จะเข้ามาเทคโอเวอร์และนำสโมสรฟุตบอลไปทำอะไรก็ได้ตามใจตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ฮ็อปป์ ผู้เป็นเศรษฐีนักธุรกิจด้านซอฟต์แวร์บริษัท SAP ผู้มีทรัพย์สิน 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.5 แสนล้านบาท ก็แทรกซึมเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรนี้ได้
โดยเริ่มจากการเป็นสปอนเซอร์รายหนึ่งที่ให้การสนับสนุนสโมสรแห่งนี้ จนในช่วงปี 2000 ที่ทีมกำลังจะล้มละลาย ฮ็อปป์ ได้อัดฉีดเงินก้อนโตให้สโมสรจนพาทีมรอดพ้นวิกฤตครั้งนั้นมาได้ ซึ่งความดีความชอบในครั้งนั้นทำให้เขาได้เข้ามาเป็นผู้ดูแลทางการเงินของสโมสรมาตั้งแต่บัดนั้น
แม้สิ่งที่ ฮ็อปป์ ทำจะไม่ได้ละเมิดกฎ 50+1 ทว่าสิ่งที่ยังไม่จบลงคือความขัดแย้งระหว่าง ดีตมาร์ ฮ็อปป์ กับเหล่าแฟนบอลอุลตร้าของทีมต่าง ๆ ซึ่งฝังใจว่ามหาเศรษฐีผู้นี้คือคนที่แหกกฎอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา
5. อันเดรีย อันเญลลี่ และครอบครัว : ยูเวนตุส
ทรัพย์สิน : 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ / 463,000 ล้านบาท
อันเดรีย อันเญลลี่ คือหนึ่งในหัวหอกของตระกูลอันเญลลี่ ผู้ทรงอิทธิพลในประเทศอิตาลี โดยตระกูลนี้เป็นเจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นผู้ก่อตั้ง Fiat แบรนด์รถยนต์เบอร์ใหญ่ของแดนรองเท้าบูท ก่อนจะขยายกิจการตั้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งชื่อ Exor ในปัจจุบัน
ซึ่งเป็นยานแม่ของค่ายรถยนต์หลายแบรนด์ ทั้ง Fiat, Alfa Romeo, Lancia, Maserati, Chrysler (ทุกแบรนด์ข้างต้นมีบริษัท Stellantis ดูแลอีกที) รวมถึง Ferrari อีกด้วย
1
ณ ปัจจุบัน อันเญลลี่แฟมิลี่ มีทรัพย์สินอยู่ที่ 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4.6 แสนล้านบาท ซึ่งนอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ตระกูลอันเญลลี่ ยังสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับ ยูเวนตุส มานานจนกลายเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอิตาลี
โดยในปี 2010 อันเดรีย อันเญลลี่ ได้เข้ามานั่งตำแหน่งประธานสโมสร ก่อนนำทีมม้าลายที่หลับไหลมานานจากคดี "กัลโช่โปลี" กลับมาผงาดอีกครั้งด้วยการคว้าแชมป์เซเรีย อา 9 สมัยติดต่อกัน
4. ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ : เชลซี
ทรัพย์สิน : 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ / 466,000 ล้านบาท
มหาเศรษฐีชาวอเมริกันวัย 47 ปีรายนี้ ร่ำรวยมาจากธุรกิจต่าง ๆ มากมาย และมีความเกี่ยวข้องกับวงการกีฬามาไม่น้อยตลอดช่วงชีวิตของเขา
ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เคยเป็นอดีตแชมป์มวยปล้ำระดับรัฐมาแล้วในสมัยที่เขายังเรียนอยู่ในช่วงมัธยม โดยเขาได้แชมป์ IAC Championships ถึง 2 สมัย ก่อนที่ในอีก 5 ปีต่อมาหลังจากเรียนจบ ม.ปลาย เขาก็เข้าศึกษาด้านธุรกิจโดยตรงที่ London School of Economics และเริ่มทำงานประจำสะสมประสบการณ์ที่บริษัทด้านการเงินอย่าง Credit Suisse First Boston
เส้นทางสายธุรกิจของ ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังหลังจากนั้น เขาประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหุ้นและตราสารอยู่พักใหญ่ ก่อนจะขยับมาสนใจเรื่องการเป็นหุ้นส่วนในสโมสรเบสบอลในลีก MLB อย่าง ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส ในปี 2013
ซึ่งเขาก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากด้วยการบริหารทีมจนคว้าแชมป์กลุ่มตะวันตกไปถึง 8 หนในรอบ 10 ปีหลัง, คว้าแชมป์ เนชั่นแนล ลีก (ที่จะได้ไปแข่งใน เวิลด์ ซีรีส์) 3 สมัยในรอบ 10 ปีหลัง พ่วงด้วยแชมป์ใหญ่ประจำฤดูกาล World Series ในปี 2020 อีกด้วย
ในปี 2015 เขาได้ก่อตั้งบริษัทโฮลดิ้งอย่าง Eldridge Industries โดยทำหน้าที่ทั้งประธานบริษัทและซีอีโอไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งธุรกิจนี้ต่อยอดเขาไปยังธุรกิจสายอื่น ๆ อีกมากมาย
ทั้งการเปิด Draft Kings ที่เป็นบริษัทพนันกีฬาถูกกฎหมาย และการแข่งขันกีฬาแบบแฟนตาซีรายวัน (รับเงินตามผลงานของผู้เล่นแต่ละคนในห้ากีฬาหลักของอเมริกา) ทั้งใน MLB, NHL, NFL, NBA และ PGA นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับกีฬาอื่น ๆ อีก ทั้ง ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ไปจนถึงการแข่งขันรถ NASCAR
การเทคโอเวอร์ เชลซี แบบสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ โบห์ลี่ย์ กลายเป็นเจ้าของสโมสรในพรีเมียร์ลีกที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 3 ด้วยทรัพย์สิน 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 466,004 ล้านบาท
3. ดีทริช มาเทสชิตซ์ : แอร์เบ ไลป์ซิก
ทรัพย์สิน : 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ / 666,000 ล้านบาท
ดีทริช มาเทสชิตซ์ เป็นมหาเศรษฐีชาวออสเตรีย ผู้ร่วมก่อตั้งและเจ้าของเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัท Red Bull โดย มาเทสชิตซ์ ถือหุ้น 49% ส่วน เฉลิม อยู่วิทยา ทายาทของ เฉลียว อยู่วิทยา ผู้ให้กำเนิด กระทิงแดง ที่เป็นสารตั้งต้นสู่การให้กำเนิด Red Bull ถือหุ้น 51%
แน่นอนเมื่อเอ่ยถึงชื่อ Red Bull ทุกคนรู้ดีว่าพวกเขาให้การสนับสนุนและเป็นเจ้าของทีมกีฬามากมาย ทั้งในกีฬาเอ็กซ์ตรีม, กีฬาความเร็ว อย่างทีม Red Bull Racing กับ Scuderia AlphaTauri ใน F1 และแน่นอนรวมถึงการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลทั่วโลกมากมายในนาม Red Bull Group
โดยสโมสรฟุตบอลที่ มาเทสชิตซ์ เป็นเจ้าของได้แก่ เรดบูล ซัลซ์บวร์ก, แอร์เบ ไลป์ซิก, นิวยอร์ก เรดบูลส์ เป็นต้น ... ทว่าในส่วนของ แอร์เบ ไลป์ซิก นั้นก็ประสบปัญหาเรื่องการโดนต่อต้านจากแฟนฟุตบอลเยอรมันด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกับที่ ดีตมาร์ ฮ็อปป์ และ ฮอฟเฟนไฮม์ ต้องเจอ
สาเหตุเพราะ Red Bull เลี่ยงบาลีสารพัด ตั้งแต่ซื้อทีมจากสมัยที่เล่นในดิวิชั่น 5 ของประเทศ ซึ่งกฎ 50+1 ไม่มีผลบังคับใช้, ใส่ชื่อพนักงานบริษัทให้เป็นผู้ถือหุ้นเพื่อให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นของ Red Bull เกิน 51% รวมถึงแอบใส่ชื่อ Red Bull เป็นชื่อทีมได้แบบเนียน ๆ กับคำว่า RB หรือ RasenBallsport (กีฬาลูกกลม)
2. ชีค มานซูร์ : แมนเชสเตอร์ ซิตี้
ทรัพย์สิน : 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ / 687,000 ล้านบาท
ชีค มานซูร์ เข้ามาสานต่อเรือใบสีฟ้าต่อจาก ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2008 ในราคา 150 ล้านปอนด์ และตั้งเป้าเปลี่ยน แมนฯ ซิตี้ ให้เป็นสโมสรที่เก่งที่สุดในโลก ซึ่งอย่างที่เรารู้กัน ในเวลานี้เขาและกลุ่มทุนจากอาบูดาบี ภายใต้ชื่อ City Football Group สามารถทำให้สโมรแห่งนี้มาได้ไกลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้อย่างแท้จริง
โดยตัวของ ชีค มานซูร์ นั้นถือเป็นหนึ่งในเชื้อพระวงศ์ของกรุงอาบูดาบี ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีตำแหน่งทางการเมืองในประเทศและมีธุรกิจมากมาย ทั้งองค์กรด้านการลงทุนอย่าง Mubadala Investment Company และ Abu ​​Dhabi Investment Authority
นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย โดยในส่วนของ City Football Group นั้นก็มีทีมฟุตบอลอยู่ในเครือหลายอีกทีม ทั้ง เมลเบิร์น ซิตี้, นิวยอร์ก ซิตี้ เอฟซี, มุมไบ ซิตี้, ทรัวส์ และอีกเพียบแทบทุกมุมโลก
เพียงเท่านั้นก็มากพอที่จะทำให้ ชีค มานซูร์ มีทรัพย์สินส่วนตัวมากถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 6.8 แสนล้านบาท กลายเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลที่รวยที่สุดอันดับ 2 ของโลก ณ เวลานี้ ส่วนสาเหตุที่เป็นอันดับ 2 เพราะเจ้าตัวเพิ่งโดนอันดับ 1 ที่เราจะกล่าวต่อไปแซงหน้าไม่นานนี้เอง
1. Public Investment Fund : นิวคาสเซิล
ทรัพย์สิน : 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ / 14.7 ล้านล้านบาท
นอนมาอันดับ 1 ชนิดรวมทรัพย์สินของ 9 อันดับที่เหลือรวมกันยังสู้ไม่ได้ คงหนีไม่พ้น Public Investment Fund (PIF) จากประเทศซาอุดีอาระเบีย เจ้าของหุ้น 80% ของ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ที่เป็นบริษัทเกี่ยวกับการเงินการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ทั้งกองทุนสาธารณะ รวมถึงกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุดีอาระเบียด้วย
PIF มีธุรกิจหลากหลาย ทั้ง ธุรกิจขนส่ง, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด, พลังงานปิโตรเคมี, ก๊าซธรรมชาติ, โทรคมนาคม, สื่อมวลชน แม้แต่วงการเกมและอีสปอร์ต PIF ยังไปถือหุ้นและเป็นเจ้าของหลายบริษัทเรียบร้อยแล้วด้วย
โดยเบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของกลุ่มทุนที่มีทรัพย์สิน 4.3 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 14.7 ล้านล้านบาทนั่นคือ "มุฮัมมัด บิน ซัลมาน" หรือ MBS มกุฎราชกุมารในราชวงศ์ซาอุด และเป็นราชโอรสของ สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลอะซิซ อัล-ซาอุด กษัตริย์ของประเทศซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งภายในประเทศยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศอีกด้วย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ระเบิดเวลาของบอลเยอรมัน : ทำไมแฟนบาเยิร์นเรียกประธานฮอฟเฟนไฮม์ว่า ‘ลูกโสเภณี’?
รู้จักเจ้าของทรัพย์สิน "16 ล้านล้านบาท" นายใหญ่คนใหม่แห่ง นิวคาสเซิล
แอร์เบ ไลป์ซิก : ทีมลูกหนังพลังกระทิงหนุ่มที่คนเยอรมันชังมากที่สุด
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา