9 มิ.ย. 2022 เวลา 13:20 • การศึกษา
Data StoryTelling EP.2 Part 1 -- เมืองน้ำท่วม ภาคแรก
ความเดิมตอนที่แล้ว: กระต่ายหนุ่มกับภารกิจในการสำรวจดวงดาว ที่เกิดจากข้อมูล DATA มารวมกัน ข้ามผ่านช่วงเวลาและบีบอัดจนกลายเป็นดาวเคราะห์ วันนี้กระต่ายหนุ่มจะได้พบเจอกับดาวเคราะห์ดวงไหน และดาวเคราะห์นั้นจะบอกข้อมูลอะไรกับเราบ้าง เรามาเอาใจช่วยไปพร้อมๆกันนะคร้าบ
Data StoryTelling EP.2 Part 1 -- เมืองน้ำท่วม ภาคแรก
ติ๊ด ติ๊ด เสียงเรดาร์ดังขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ยานลำน้อยข้ามผ่านอวกาศมาได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง กระต่ายหนุ่มรีบรุดมาดูที่หน้าจอด้วยความตื่นเต้น
"นี่เรากำลังเข้าใกล้ดาวเคราะห์ดวงใหม่แล้วสินะ" กระต่ายหนุ่มน้อยพูดพลางมองดูหน้าจอเรดาร์ สิ้นเสียงคำพูดของกระต่ายหนุ่ม ยานอวกาศลำน้อยถูกแรงดึงดูดของดาวเคราะห์ดวงนั้นดูดเข้าสู่วงโคจรทันที "อะไรกันนะ" กระต่ายหนุ่มหลับตาด้วยความตกใจ
ตู้มมม!!!!! เสียงยานอวกาศตกลงไปในน้ำ กระต่ายหนุ่มลืมตาพร้อมกับมองออกไปข้างนอก เขามองเห็นผืนน้ำอันกว้างใหญ่รายรอบตัว สักพักหนึ่ง ยานอวกาศลำน้อยก็ลอยขึ้นมาพ้นผิวน้ำ โชคดีที่ประตูยานลอยอยู่เหนือน้ำ กระต่ายหนุ่มรีบเปิดประตูยานเพื่อสำรวจ
"ที่นี่มีแต่น้ำงั้นหรือ" กระต่ายหนุ่มพูดกับตัวเอง ทันใดนั้น เขารู้สึกราวกับว่ามีใครกำลังจ้องมองอยู่ด้านหลัง
แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ
"สวัสดี เธอมาเยือนที่ดาวเราเพราะอยากรู้ข้อมูลของดาวดวงนี้ใช่มั้ย" กระต่ายหนุ่มหันกลับไปทางเสียงนั้น เขาพบกับเจ้าของเสียงที่ดูสดใสร่าเริงอยู่ด้านหลัง
เจ้าของเสียงเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากข้อมูลบนดาวเคราะห์มารวมกัน สร้างขึ้นจนมีรูปร่างคล้ายปลาโลมา เพื่อเป็นผู้นำทาง และบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับดวงดาว ให้แก่ผู้มาเยือน
"สวัสดี ที่นี่คือที่ไหน และเธอพอจะบอกข้อมูลของดาวดวงนี้ให้เราได้มั้ย" กระต่ายหนุ่มตอบกลับเจ้าสิ่งมีชีวิตตัวนั้น สิ่งมีชีวิตตัวนั้นช่างดูเป็นมิตร และร่าเริงสดใสเสียเหลือเกิน
"ได้สิ" เจ้าโลมาน้อยพยักหน้า พร้อมพูดด้วยเสียงสดใส "ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นข้อมูลของเมืองๆหนึ่ง ที่อยู่บนดาวเคราะห์สีน้ำเงิน บนประเทศที่ชื่อว่าประเทศไทย เมืองๆนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของของประเทศนั้น มีชื่อเรียกว่ากรุงเทพมหานคร" เจ้าโลมาน้อย เริ่มเล่า พร้อมกับกระต่ายหนุ่มที่นั่งฟังและบันทึกข้อมูลอย่างตั้งใจ
"กรุงเทพมหานคร เขตเมืองเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แต่หากเมืองนี้เป็นเมืองที่มีสถิติน้ำท่วมค่อนข้างสูงสักหน่อย ด้วยลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นถนนคอนกรีต และที่อยู่อาศัย จึงทำให้ไม่มีการซึมน้ำลงดินเหมือนพื้นที่อื่นๆ" เจ้าโลมาน้อยเริ่มเกริ่น
กรุงเทพมหานครบ้านเรานี่เอง
"ผู้คนบนดาวเคราะห์ดวงนั้นได้ทำงานวิจัยออกมามากมาย 1 ในงานวิจัยนั้น เป็นข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ที่มีแนวโน้มจะได้รับความเสียหายรุนแรงเมื่อเกิดน้ำท่วม (Flood Hazard Mapping and Flood Preparedness Literacy of the Elderly Population Residing in Bangkok, Thailand)"
"จากข้อมูลย้อนอดีตในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูลตั้งแต่ปี 2010 - 2021) เราสามารถแบ่งพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในเมืองกรุงเทพมหานครได้ ซึ่งจะเห็นว่ากรุงเทพมหานครในเขตรอบนอกตัวเมือง เป็นพื้นที่เกษตรกรรม จะมีความถี่ในการท่วมสูง ในขณะที่ใจกลางเมืองพบว่ามีโอกาสท่วมน้อยกว่า"
ข้อมูลสถิติพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในกรุงเทพมหานคร
"แต่ข้อมูลน้ำท่วมจริงในรอบ 12 ปี นั้น ไม่ได้บอกถึงความเสี่ยงและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นๆได้ เพราะกรุงเทพมหานครมีระบบการจัดการน้ำอยู่ภายในเมือง ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากไม่มีการระบายน้ำได้ทัน เราสามารถแบ่งระดับความรุนแรงที่อาจจะเกิดผลกระทบจากน้ำท่วม จากปัจจัยในพื้นที่ได้ ยกตัวอย่างเช่น"
"1. การใช้พื้นที่ เช่นพื้นทีเกษตรกรรม พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ป่า และอื่นๆ
2. ความหนาแน่นของการระบายน้ำ
3. ปริมาณฝนตกสะสมสูงสุดต่อปี
4. ความหนาแน่นของถนน
เป็นต้น"
"และนำปัจจัยดังกล่าวนั้นมาให้คะแนน ออกมาเป็นระดับความรุนแรงของพื้นที่น้ำท่วมได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถซ้อนทับด้วยข้อมูลสำรวจจากประชากรผู้สูงอายุ เพื่อดูปริมาณประชากรผู้สูงอายุ ในเขตพื้นที่เสี่ยง"
ข้อมูลพื้นที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่  บนแผนที่ความรุนแรงของน้ำท่วม
"จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า พื้นที่ที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่นั้น เป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ทำให้ไม่ค่อยประสบปัญหาน้ำท่วมมากนัก" เจ้าโลมาน้อยกล่าว "แล้วถ้าหากเกิดน้ำท่วมขึ้นมาจริงๆ ผู้สูงอายุเค้าจะสามารถรู้ตัวก่อนได้มั้ย เค้าต้องเตรียมตัวก่อนสิ" กระต่ายหนุ่มพูด
"ใช่แล้ว" เจ้าโลมาน้อยตอบ ก่อนที่จะกล่าวต่อไปว่า "จากข้อมูลสำรวจพบว่าผู้สูงอายุติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับภัยน้ำท่วมจาก วิทยุ โทรทัศน์ แต่พวกเขาเองก็ไม่ได้ปิดกั้นหากจะรับรู้ข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์ โดยสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมที่ผู้สูงอายุได้เข้าถึง จากการสำรวจคือ LINE,Facebook,Twiter ที่มีมากเป็นอันดับต้นๆ ในขณะที่เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการนั้นจะมีการใช้งานอยู่เป็นจำนวนน้อยมาก"
แสดงช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้อายุสามารถเข้าถึงได้
"ถึงแม้ว่างานวิจัยจะสามารถบอกเราถึงข้อมูลพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากความรุนแรงของน้ำท่วม แต่เราเองก็ได้เห็นแล้วว่า แท้จริงแล้ว กรุงเทพมหานครมีระบบการจัดการน้ำที่ค่อนข้างดี มีการขุดลอกคูคลองที่เป็นเส้นทางเดินของน้ำ ให้ไหลลงสู่ทะเลย หรือระบายน้ำลงสู่อุโมงค์ระบายน้ำที่ได้จัดเตรียมไว้อยู่แล้ว ทำให้จากสถิติพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากนั้นมีน้อยมาก"
"และทางกรุงเทพมหานคร โดยสำนักระบายน้ำเองยังมีการสร้างช่องทางเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชน ติดตามสถานะการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ในจุดต่างๆที่มีอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจวัดติดตั้งอยู่ เพื่อให้ประชาชนในเมืองสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั่นเอง" เจ้าโลมาน้อยกล่าวจบ
เสียงของเจ้าโลมาน้อยที่เงียบลง ทำให้กระต่ายหนุ่มที่กำลังเพลิดเพลินกับเรื่องเล่าของเจ้าโลมาน้อยหยุดชะงักลงไป "จบแล้วหรือ" กระต่ายหนุ่มถามขึ้นด้วยความรู้สึกเสียดาย หากแต่เจ้าโลมาน้อยกลับยิ้มอย่างเป็นมิตร และถามกระต่ายหนุ่มด้วยด้วยน้ำเสียงร่าเริง "ยังอยากฟังต่อหรือ" กระต่ายหนุ่มพยักหน้าเป็นคำตอบ
เจ้าโลมาน้อยกล่าวต่อ "ภายใต้ผิวน้ำอันเงียบสงบนี้ ยังมีกระแสข้อมูลมากมายที่จะบอกเรื่องราวอื่นๆอีกนะ เธออยากจะไปกับฉันมั้ย" เจ้าโลมาน้อยกล่าวเชิญชวน กระต่ายหนุ่มครุ่นคิดถึงคำเชิญชวนนั้น และใช้เวลาสักพักในการตัดสินใจ
ติดตามตอนต่อไปกันด้วยนะครับ
อ้างอิงจาก:
โปรดติดตามตอนต่อไป และเอาใจช่วยกระต่ายหนุ่มน้อยกันด้วยนะคร้าบบ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา