7 มิ.ย. 2022 เวลา 00:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินเฟ้อส่งผลกับเรายังไง
ช่วงนี้มักจะได้เห็นข่าว ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป ในบ้านเราเงินเฟ้อขึ้นมาล่าสุดมาอยู่ที่ 7% ของอเมริกาเงินเฟ้ออยู่ที่ 8% มาอ่านกันว่า เงินเฟ้อคืออะไร และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบกับเรายังไงบ้าง
เงินเฟ้อ คือ การที่สินค้าและบริการโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าอาหาร ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าน้ำมัน ค่ายา ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่าห้องพัก และอื่นๆ ซึ่งการวัดเงินเฟ้อที่นิยมใช้คือ การใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Prices Index; CPI)
CPI เป็นดัชนีที่คำนวณจากตัวอย่างข้อมูลราคาของสินค้าและบริการทั่วประเทศ ซึ่งในแต่ละประเทศสินค้าและบริการที่เข้ามาคิด CPI ก็จะมีความแตกต่างกัน ตามลักษณะการใช้จ่ายของประชาชน
อัตราเงินเฟ้อ คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ยของราคาสินค้าและบริการ ซึ่งคิดอออกมาเป็น % เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 2% ก็คือราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการที่ประชาชนทั่วไปจ่ายสูงกว่าก่อนหน้า 2% หรือก็คืออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2% นั่นเอง
เงินเฟ้อแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทุกประเภทที่บริโภคโดยทั่วไป ครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในหมวดต่างๆ ตามที่เล่ามา
2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ที่ตัดรายการสินค้าออก 2 หมวด คือ หมวดอาหารสดและพลังงาน เพราะ 2 หมวดนี้เคลื่อนไหวขึ้นลงตามฤดูกาล และอยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน ที่ตัดออกเพื่อให้เหลือแต่รายการสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดที่นโยบายการเงินกำกับดูแลได้
ผลกระทบของเงินเฟ้อต่อประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ
ราคาสินค้าและบริการต่างๆ แพงขึ้น ทำให้เรามีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการซื้อสินค้าลักษณะเดิม อย่างเช่น ตอนนี้หลายคนจะรู้สึกแล้วว่าปกติเติมน้ำมันเต็มถัง ใช้เงินเพิ่มขึ้นมากในการเติมให้เต็มถังเหมือนเดิม
ทำให้มูลค่าเงินลดลงตามเวลา จากอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ยิ่งอัตราเงินเฟ้อสูงมาก มูลค่าของเงินเราจะยิ่งลดลงเร็ว แบงค์พันใบเดิม แต่ซื้อของได้ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงนี้
ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลง (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงคืออัตราดอกเบี้ยที่หักด้วยเงินเฟ้อ) เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 0.5% เงินเฟ้ออยู่ที่ 2% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง – 1.5% การฝากเงินได้รับผลตอบแทนจริงๆ ติดลบ ทำให้พยายามหาการลงทุนที่ผลตอบแทนดีขึ้น
แต่ช่วงนี้สินทรัพย์หลายอย่างก็ผันผวน เพราะเมื่อเงินเฟ้อมากเกินไป ธนาคารของแต่ละประเทศต้องพยายามคุมเงินเฟ้อให้อยู่ ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลต่อตราสารหนี้และสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ อย่างหุ้นด้วย
เงินเฟ้อก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปทั้งหมด การมีภาวะเงินเฟ้ออย่างอ่อน 2 - 3% เป็นผลดี ช่วยจูงใจให้ผู้ผลิตมีการลงทุนขยายการผลิต และการจ้างงาน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งจะเห็นว่าธนาคารกลางของประเทศก็มีเป้าหมายการคุมเงินเฟ้อให้อยู่ประมาณนี้
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #เงินเฟ้อ #เงินเฟ้อคืออะไร #มูลค่าของเงินตามเวลา
#มูลค่าเงินลดลง #อัตราดอกเบี้ย #อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง #ดอกเบี้ยที่แท้จริง #ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
โฆษณา