12 มิ.ย. 2022 เวลา 04:00 • ธุรกิจ
ทำไมแบรนด์เครื่องดื่ม ถึงหันมาผลิตสูตร “หวานน้อย” มากขึ้น ?
เวลาเดินเข้าไปเลือกซื้อน้ำ ตามร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน หรือซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ ๆ ก็ตาม
เคยสังเกตไหมว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้บนเชลฟ์เครื่องดื่ม เริ่มมีเครื่องดื่มสูตรหวานน้อย หรือเครื่องดื่มสูตรไม่มีน้ำตาลเกิดขึ้นใหม่มากมาย
ถ้าลองยกตัวอย่างเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น
- น้ำอัดลม และเครื่องดื่มผสมโซดา ได้แก่ Coke Zero, Coke Light, Sprite สูตรไม่มีน้ำตาล, Fanta สูตรไม่มีน้ำตาล, Pepsi สูตรไม่มีน้ำตาล และ Schweppes มะนาวโซดา สูตรไม่มีน้ำตาล
- น้ำผัก และน้ำผลไม้ ได้แก่ น้ำส้ม Minute Maid สูตรน้ำตาลน้อย และดอยคำ น้ำเก๊กฮวยและคาโมไมล์ สูตรไม่เติมน้ำตาล
- น้ำชา และกาแฟ ได้แก่ Lipton Iced Tea Lemon Zero Sugar, Tes + ชาอู่หลง สูตรไม่มีน้ำตาล, Birdy Espresso สูตรน้ำตาลน้อย และ BOSS Coffee กาแฟปรุงสำเร็จปราศจากน้ำตาล
- อื่น ๆ ได้แก่ Hooray Protein Shake สูตรไม่เติมน้ำตาล, Sponsor Fitt Drink, Meiji Live Zero นมเปรี้ยว สูตรไม่มีน้ำตาล, Tofusan น้ำเต้าหู้ที่มีทั้งสูตรหวานน้อย และสูตรไม่ใส่น้ำตาล และยาคูลท์ ไลท์ สูตรน้ำตาลน้อย ซึ่งเป็นโปรดักต์ใหม่ในรอบ 47 ปี
เคยสงสัยกันไหมว่า แล้วทำไมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แบรนด์เครื่องดื่มเหล่านี้ ถึงหันมาผลิตสูตรหวานน้อย หรือสูตรไม่มีน้ำตาลกันมากมาย จนกลายเป็นน่านน้ำสีแดง ที่มีการสู้รบกันอย่างดุเดือดเสียแล้ว ?
สาเหตุหลัก ๆ ก็น่าจะมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่
1. เทรนด์รักสุขภาพ
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทรนด์รักสุขภาพเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง และเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น
ประกอบกับการระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้คนหันมาดูแลตัวเองกันมากกว่าเดิม
1
โดยในช่วงปลายปี 2563 สวนดุสิตโพลได้ทำการสำรวจพบว่า คนไทยกว่า 45.4% หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น และยังยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อทางเลือกที่ดีกว่าในการดูแลสุขภาพด้วย ซึ่งสะท้อนได้จาก
- อาหาร คนไทยหันมาเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น ทานอาหารคลีนที่ถูกหลักโภชนาการ มีปริมาณเพียงพอ และครบ 5 หมู่ หรือทานอาหารคีโต เพื่อควบคุมน้ำหนัก
รวมถึงอาหารทางเลือก เช่น Plant-based Food อาหารที่ทำจากพืช ที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว, เห็ด, สาหร่าย โดยพัฒนาให้หน้าตาและรสชาติ ออกมาเหมือนเนื้อสัตว์มากที่สุด
จึงทำให้ที่ผ่านมา มีแบรนด์ใหม่ ๆ ที่ทำอาหารเพื่อสุขภาพ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด
หรือแม้แต่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ก็ปรับตัว โดยเริ่มมีอาหารเพื่อสุขภาพเข้ามาเสริมธุรกิจด้วย
- ออกกำลังกาย คนไทยหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด 19 ที่ฟิตเนสถูกสั่งปิด แต่ก็ยังสามารถออกกำลังกายได้ง่าย ๆ ตามคลิปวิดีโอบน YouTube
เช่น ช่อง BEBE FIT ROUTINE ของคุณเบเบ้-ธันย์ชนก ฤทธินาคา ดาราสาว ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.2 ล้านบัญชี และมีคลิปวิดีโอ ที่มียอดวิวสูงสุด 19 ล้านวิว
นอกจากเรื่องเหล่านี้แล้ว อีกหนึ่งวิธีที่คนไทยหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ก็คือ
การเลือกดื่มน้ำหวานน้อยลง หรือเลือกเครื่องดื่มสูตรหวานน้อย สูตรไม่มีน้ำตาล และแคลอรีต่ำแทน
จึงเป็นเหตุผลให้แบรนด์ต่าง ๆ หันมาปรับสูตร และผลิตสูตรหวานน้อยนั่นเอง
ซึ่งเทรนด์เครื่องดื่มสูตรหวานน้อย ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในประเทศไทย
ยกตัวอย่าง ประเทศจีน พบว่า ชาวจีนหันมารักสุขภาพกันมากขึ้น จึงทำให้เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มในการเติบโตอย่างรวดเร็ว
วัดได้จากตลาดเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลในจีน เติบโตขึ้นจาก 16,000 ล้านบาท เป็น 60,200 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2563
นอกจากนี้ ยังคาดว่าในปี 2570 ตลาดดังกล่าวจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 142,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
2
2. ภาษีความหวาน
ประเทศไทย มีการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสังคม หรือสุขภาพของผู้บริโภค
ยกตัวอย่างเช่น ภาษีสุรา หรือภาษียาสูบ
ซึ่งแนวคิดนี้ ก็ได้นำมาใช้กับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เกิดเป็น “ภาษีความหวาน” เพื่อหวังว่าคนไทยจะบริโภคน้ำตาลน้อยลง
ตามปกติแล้วองค์การอนามัยโลก ได้ออกคำแนะนำว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 25 กรัมต่อวัน หรือ 4-6 ช้อนชาต่อวัน
แต่รู้หรือไม่ว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ย 100 กรัมต่อวัน ซึ่งมากกว่าคำแนะนำถึง 4 เท่า
1
ส่งผลให้คนไทยจำนวนมาก ป่วยเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงยังก่อให้เกิดฟันผุด้วย
จึงกลายเป็นที่มาของภาษีความหวาน ที่อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ภาษีที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บกับเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม, ชาเขียว, กาแฟ, เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำผลไม้
โดยเริ่มจัดเก็บตั้งแต่ปี 2560 และปรับขึ้นทุก ๆ 2 ปี เพื่อให้เวลาแก่ผู้ประกอบการในการปรับตัว
ปัจจุบัน การจัดเก็บภาษีความหวานยังอยู่ในเฟสที่ 2 คือ
- เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ได้รับการยกเว้นภาษี
- เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 6-8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.3 บาทต่อลิตร
- เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร
ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงกว่านี้ ก็จะยิ่งมีอัตราการจัดเก็บภาษีแพงกว่านี้
โดยอัตราภาษีสูงสุดคือ 5 บาทต่อลิตร
นั่นหมายความว่า เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย ก็อาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลย หรือเสียภาษีน้อย
กลับกัน เครื่องดื่มที่ยิ่งมีน้ำตาลสูง ก็จะยิ่งเสียภาษีแพง
จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่แบรนด์ต่าง ๆ ทยอยออกเครื่องดื่มสูตรหวานน้อย หรือสูตรไม่มีน้ำตาล เพื่อลดผลกระทบเรื่องภาษีนั่นเอง
ลองยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น Coke 1 กระป๋อง มีปริมาณ 325 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 31 กรัม
หมายความว่า Coke ราว 100 มิลลิลิตร มีน้ำตาลอยู่ที่ 9.5 กรัม
ผู้ผลิตจึงต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพสามิต จำนวน 1 บาทต่อลิตร หรือตกกระป๋องละ ​​0.325 บาท
แม้ว่าการเสียภาษี 0.325 บาทต่อกระป๋อง อาจจะดูไม่แพงนัก แต่ถ้าลองคิดในจำนวนมาก ๆ
เช่น 10,000,000 กระป๋อง เท่ากับว่า ผู้ผลิตต้องเสียภาษีกว่า 3,250,000 บาทเลยทีเดียว..
ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลไม่ถึงเกณฑ์ เช่น Coke Light มีปริมาณเท่ากัน แต่น้ำตาล 0 กรัม โดยหันไปใช้สารให้ความหวานอย่าง แอสปาร์แตม (Aspartame) แทน ทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องเสียภาษีความหวานเลยแม้แต่บาทเดียว
เพียงแต่มีความยากก็คือ ต้องใช้เวลาในการปรับปรุง และพัฒนาสูตรให้ถูกใจผู้บริโภคเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกแบรนด์จะแก้ปัญหาด้วยการวางขายเครื่องดื่มสูตรหวานน้อย หรือสูตรไม่มีน้ำตาล
บางแบรนด์อาจเลือกที่จะขึ้นราคาเครื่องดื่ม เพื่อทดแทนกับภาษีที่ต้องเสียเพิ่มขึ้น
ซึ่งกรมสรรพสามิตก็คาดว่า จะสามารถเก็บภาษีความหวาน จากแบรนด์ต่าง ๆ ได้ถึง 3,500 ล้านบาทต่อปี
สุดท้ายนี้ นอกจากแบรนด์เครื่องดื่มที่หันมาผลิตสูตรหวานน้อยกันมากขึ้นแล้ว
ในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะได้เห็น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารแช่แข็ง, ขนมขบเคี้ยว และซอสปรุงรส ในรูปแบบลดโซเดียม หรือลดความเค็มมากขึ้น
เพราะ “ภาษีความเค็ม” ที่หวังให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียม ใกล้คลอดเต็มที..
โฆษณา