10 มิ.ย. 2022 เวลา 10:28 • ความคิดเห็น
เงินเฟ้อสูง....จัดพอร์ตรับมือยังไงดี ?
1
เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยมากในช่วงนี้
(บทความนี้ยาวหน่อย แนะนำแชร์เก็บไว้อ่านได้เลยค่ะ)
อย่างที่ทราบกันดีว่า นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐชัดเจนในเรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ย(พร้อมปรับลด QT) ซึ่งในไทยเองดูแนวโน้มแล้วก็คงต้องขึ้นตามในที่สุด เพียงแค่ว่า " เวลาไหน " เท่านั้น
ทีนี้หากมองกันตามหลักการและสถิติ
หุ้นกลุ่มที่จะรับมือกับเงินเฟ้อได้ดีที่สุดจะมีดังนี้ค่ะ
1. หุ้นกลุ่ม Value
สำหรับเคทแล้วหุ้นกลุ่มนี้ก็ดีทุกสภาวะตลาด จัดว่าเป็น
ดีเฟ้นด์ของพอร์ตเสมอ แต่ในยามที่ตลาดปกติ หรือ เป็นกระทิง หุ้นกลุุ่มนี้จะได้รับความสนใจน้อยกว่า พวกหุ้นเติบโต(Growth Stock) แต่ในยามวิกฤติ หรือสภาพตลาดฝืดเคือง หุ้น Value จะกลับมาเป็นที่สนใจเป็นพิเศษ
ด้วยเหตุผลอย่างแรกคือ มีปันผลที่แข็งแกร่ง ปัจจัยสนับสนุนต่อมาคือ มีความเสี่ยงที่ต่ำ (downside risk) ทนต่อสภาวะตลาดขาลงหรือในยามที่ตลาดผันผวนเป็นอย่างดี ด้วยความที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ราคาถูก
( นิยามของกลุ่ม value ง่ายๆคือ มีค่า P/E และ P/BV ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือของกลุ่มอุตสาหกรรม มีปันผลที่แข็งแกร่งสม่ำเสมอ)
สิ่งที่พึงสังเกตุคือ การลงทุนหุ้นในกลุ่ม Value กับ Growth จะกลับหัวกลับหางกัน
ในยามที่ตลาดฝืดเคืองหรือวิกฤติ หุ้น Growth มักจะถูกเทขายเพื่อล็อคกำไรก่อน เพราะหุ้นกลุ่มนี้มักจะมีต้นทุนที่สูงเมื่อดอกเบี้ยขึ้นจะเป็นปัจจัยลบต่อการดำเนินกิจการ และเมื่อไม่มีปันผลตอบแทน นักลงทุนก็ย่อมไม่อยากถือ และสิ่งสำคัญคือ หุ้นกลุ่มนี้ในยามปกติมักเทรดกันด้วย P/Eและ P/BV ที่สูง กล่าวง่ายๆคือ "แพง" นั่นเอง (ดังนั้นควรเลี่ยงกลุ่มนี้ไว้บ้าง)
อย่างไรก็ตามในภาวะเงินเฟ้อ บรรดาผู้จัดการกองทุนหรือโบรคต่างๆ มักจะลดน้ำหนักในพอร์ตหุ้นลงและเพิ่มน้ำหนักในกลุ่มตารสารหนี้เพิ่ม หรือ เข้าซื้อพันธบัตรเพิ่ม จึงเป็นเหตุให้ตลาดปรับตัวลง
(กรณีนักลงทุนที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้ ต้องศึกษารายละเอียดให้ดี เพราะมีเงื่อนไขแตกต่างจากการซื้อขายหุ้นอยู่มาก ทั้งเรื่องกรอบเวลาของผลตอบแทนตราสาร และภาวะปัจจัยดอกเบี้ย ตลอดการผิดนัดชำระ ฯลฯ)
2. หุ้นกลุ่มโภคภัณฑ์ (Commodity)
ก่อนอื่นต้องบอกว่า หุ้นกลุ่มนี้สำหรับเคทมองว่า "ไม่หมู" เล่นไม่ง่ายนัก ต้องมีความเข้าใจสูงเป็นกลุ่มที่มีการขึ้นลงของราคาแรง ผันผวนง่าย แต่...ในยามภาวะปกติไม่เป็นที่นิยมนักราคามักจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว แต่เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติสงคราม วิกฤติโรคภัยมาเยือน หุ้นกลุ่มนี้จะได้รับความนิยมมาก
และ...ในยามที่เศรษฐกิจดี จนเกิดเงินภาวะเงินเฟ้อ หุ้นกลุ่มนี้ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน !! เริ่มปวดหัวแล้วใช่ไหมคะ 5555 อย่างที่บอก หุ้นกลุ่มนี้ไม่ง่ายนัก (คุณต้องเข้าใจเรื่องของภาวะเศรษฐกิจแต่ละช่วงที่มีผลต่อเงินเฟ้อ)
สิ่งแรกที่คุณต้องเข้าใจคือ หุ้นกลุ่มนี้ มันแยกย่อยอยู่ในหลายกลุ่มอุตรสาหกรรมมาก มีสินค้าเป็นร้อยชนิด กระจายออกไปในหุ้นหลายกลุ่ม !!
ถ้าแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ จะได้ 3 ประเภท ดังนี้
(1) Soft commodities ได้แก่ สินค้าเกษตรทั้งหลาย ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง กาแฟ น้ำตาล ยางพารา หมู ไก่ ฯลฯ
(2) Hard commodities ได้แก่ แร่ต่างๆ เงิน ทองคำ ทองแดง ตะกั่ว เหล็ก ฯลฯ
(3) Energy commodities ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ฯ
คุณจะเห็นว่า ในยามวิกฤติต่างๆ ไม่ว่าสงคราม หรือ โรคร้าย สินค้าพวกนี้มักปรับตัวขึ้น อย่างเช่น น้ำมันเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แต่ ในทางกลับกัน ยามที่เศรษฐกิจดี สินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ ก็ปรับราคาขึ้นเช่นกัน เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี ผู้คนก็มีกำลังจับจ่ายสูง เกิดการบริโภคสูง ในภาวะที่ตลาดสมดุล ราคาจะนิ่งๆ
จุดแข็งของหุ้นกลุ่ม Commo ก็คือ การส่งผ่านอัตราเงินเฟ้อไปให้ผู้บริโภคได้โดยตรง หรือพูดง่ายๆคือ การผลักภาระราคาสินค้าบริการให้ผู้บริโภคนั่นเอง ทำให้รายได้ไม่กระทบมาก บางครั้งก็กำไรพุ่งสูงจากสต็อคคงค้าง
ดังนั้นการซื้อขายหุ้นกลุ่มนี้ให้ได้ผลต้องประเมินวงรอบของเศรษฐกิจให้ดี มีคำกล่าวที่ว่ากันว่า ...
....."หุ้มคอมโมซื้อเมื่อ PE แพงและขายเมื่อ PE ถูก" .....
เป็นหุ้นที่เล่นกันตามวงรอบ เวลาจบรอบ คือ จบ จริงๆ
ลุกช้าดอยยาว
หุ้นกลุ่ม Commo ก็จัดว่าเป็นหุ้นกลุ่ม วัฏจักร (Cyclical Stock) เช่นกัน อ่าา เวลาพูดถึงหมวดโภคภัณฑ์ ก็ต้องมี กลุ่มเดินเรือ พ่วงมาด้วยเสมอนะ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพิจารณา ในช่วงที่เศรษฐกิจเกิดรูปแบบ Stagflation อย่างในปัจจุบัน เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก
เพราะแม้จะเกิดเงินเฟ้อ แต่ขณะเดียวกันก็เกิดภาวะเงินฝืดไปพร้อมกัน ไม่ได้เฟ้อจากเศรษฐกิจที่แข็งแรงเติบโต เมื่อราคาสินค้าและบริการถีบตัวขึ้นสูง แต่ค่าแรงยังอยู่ในระดับต่ำ และอัตราว่างงานยังคงต่ำกว่าระดับปกติ ทำให้ ดีมานด์ ถดถอยไม่สอดคล้อง
ดังนั้น เมื่อสินค้าถีบตัวสูงขึ้น กำไรดีขึ้น แต่ปริมาณยอดขายอาจลดลง อาจทำให้สุดท้ายผลประกอบการโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีความจำเป็นมาก หรือเป็นสินค้าทางเลือก กำไรอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย
เพื่อให้เห็นภาพ..........
ขอยกกรณีศึกษาของ ร้านอาหารญี่ปุ่น นะคะ
ช่วงที่ผ่านมา ปลาแซลม่อน ราคาถีบตัวสูงเป็นประวัติการณ์ จากกิโลละ 350 พุ่งขึ้นไปแตะ 700 บาท (ฟิลเลย์ตกกิโลละ 1,000) ราคาพุ่งไปเท่าตัว ภายในระยะเวลาสั้นๆ จริงอยู่ที่ร้านค้าสามารถปรับราคาสินค้าหน้าร้านได้ แต่....ในความเป็นจริง ร้านค้าจะไม่สามารถปรับราคาได้ในระดับเดียวกับราคาวัตถุดิบที่ขึ้นมา เพราะจะทำให้เกิดภาวะช็อคของตลาดทันที !!
ลองนึกภาพนะคะ ปกติเราขายซาซิมิแซลม่อนราคา 200 บาท/ขีด แล้วปรับราคาขึ้นตามวัตถุดิบ 100% เป็น 400บาท / ขีด ถ้าเราเป็นฝั่งผู้ซื้อจะรู้สึกยังไง
แน่นอนค่ะ ดีมานด์ลดลงทันที ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ
ผู้ค้าจะปรับราคาได้ระดับนึง ไม่สัมพันธ์กับราคาวัตถุดิบที่พุ่งขึ้นมา ยอมลดกำไรลง เพื่อให้ขายได้ เห็นไหมคะจากเมื่อกี้ที่คิดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น กลายเป็นกำไรลดเพราะแบกต้นทุนเพิ่ม ราคาที่ปรับขึ้น ย่อมกดดันต่อ ดีมานด์ สุดท้ายมันก็ส่งผลกลับไปที่ ซัพพลาย เช่นกัน
สรุป หุ้นกลุ่มนี้ช่วงที่ตลาดรับรู้ภาวะเงินเฟ้อ ราคาหุ้นจะปรับพุ่งขึ้น แต่เมื่อผลประกอบการออกมาสิ่งที่คาดหวังอาจไม่เป็นตามที่คาดหมาย อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ละเอียดคือ บางบริษัทมีการทำ Hedging ไว้หรือไม่ ดังนั้นกลุ่มนี้เข้าให้ไวออกให้ไวนะคะ
.
3. หุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock)
ต่อจาก Commo ก็เป็นหุ้น วัฏจักรที่มีลักษณะคล้ายกัน
 
หุ้นวัฏจักรเคทจะแบ่งเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้นะคะ
 
(1) หุ้นกลุ่มธนาคาร (2) หุ้นกลุ่มอุตรสาหกรรม (3) หุ้นกลุ่มวัสดุและก่อสร้าง (4) หุ้นกลุ่มอสังหา (5) หุ้นกลุ่มโลจิสติกส์ (6) หุ้นกลุ่มบริการ
ที่ชัดเจนเลยคือ กลุ่ม แบงค์ หุ้นแบงค์จะได้ประโยชน์ทันทีเมื่อดอกเบี้ยปรับขึ้นตามกลไกสกัดเงินเฟ้อ ทำให้เก็บดอกเบี้ยได้เพิ่มขึ้น สินทรัพย์ที่ลูกค้าค้ำประกันไว้ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ในยามที่เศรษฐกิจดี สินเชื่อจะขยายตัวสูง หนี้เสียก็จะน้อยลง ทำให้กำไรเติบโตขึ้นพิเศษ
แต่ในยามที่เกิด Stagflation หล่ะ เงินเฟ้อพุ่ง ดอกเบี้ยปรับขึ้น แต่ สินเชื่ออาจจะหดตัว เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นจริงๆ และดอกเบี้ยอาจจะปรับไม่ได้มากนักเพราะกังวลหนี้เสีย ซึ่งพอเป็นแบบนี้ ก็เป็นไปได้ว่า แบงค์จะยืดการชำระหนี้ขึ้นแทนการผิดนัดชำระ และก่อให้เกิดหนี้เสีย แบงค์อาจจะไม่ได้กำไรเพิ่มขึ้นมากนัก แต่ก็ไม่ได้กระทบหนักเช่นกัน
1
หุ้นกลุ่มวัสดุและก่อสร้าง ,อสังหา, อุตรสาหกรรมพวกยานยนตร์ อิเลค การบริการ และ โลจิสติกส์ ยามที่เศรษฐกิจดี แรงซื้อของกลุ่มพวกนี้จะสูงค่ะ เงินเฟ้อเศรษฐกิจดี คนเปลี่ยนรถใหม่ ซื้อรถใหม่ ซื้อบ้านใหม่ การส่งออกดี คนท่องเที่ยวเยอะ ฯลฯ
แต่....ถ้าเฟ้อแบบ Stagflation ต้องระวังหน่อยนะคะ อย่างกลุ่มอสังหา เพราะดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น แต่รายได้ของประชากรยังตามหลัง และหนี้ครัวเรือนระดับสูง อาจเกิดเป็น npl ได้ หรืออย่างโลจิสติกส์ก็จะมีต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น
อย่างไก็ตามอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องระวังคือ บริษัทกลุ่มที่มีภาระกู้ยืมเงินในระดับสูง ตรงนี้ต้องพิจารณาโดยละเอียดหน่อยทั้งเรื่องของกรอบเวลา รวมถึงสกุลเงินที่กูยืม เพราะหากเงินเฟ้อ แต่บาทอ่อนตัวก็เป็นการเพิ่มภาระมากยิ่งขึ้น
พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงรู้สึกว่า หุ้นแต่ละกลุ่มก็ดูจะมีข้อควรระวังเป็นพิเศษทั้งนั้น ใช่ค่ะ !! ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะจากสภาวะของ Stagflation การจะหาหุ้นที่ได้ประโยชน์จริงๆนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย
1
แต่จากการพิจารณาสภาวะ ของ เงินเฟ้อทั้งแบบปกติและ แบบ Stagflation ทำให้เราพอจะเห็นว่า คุณสมบัติของหุ้นที่จะลอยตัว หรือ รับแรงเสียดทานเงินเฟ้อไปพร้อมกับกำลังซื้อถดถอยได้นั้น มักจะมีองค์ประกอบดังนี้
เป็น หุ้นที่มีศักยภาพผลักภาระราคาไปให้ผู้บริโภคได้ ควบคุมต้นทุนได้ดี เป็นสินค้าจำเป็น เป็นสินค้าหลัก เป็นบริการที่ขาดไม่ได้ เป็นหุ้นที่มีปันผลดี ราคาไม่แพง
หากยึดตามแนวทางนี้ เราก็จะเห็นตัวท๊อปของหุ้นในแต่ละอุตรสาหกรรมโดดเด่นขึ้นมามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะ กลุ่มโรงพยาบาลกลุ่มการแพทย์ โรงเรียน กลุ่ม ict การบริการอินเทอร์เน็ต กลุ่มประกันภัย ฯลฯ เป็นต้น
ซึ่งรวมๆแล้วเคทจะขอนิยามหุ้นกลุ่มนี้ว่า ...
................ " Reduce Friction " นะคะ ............
วันนี้ขอพอแค่นี้ก่อน ไว้วันหน้าว่ากันใหม่ค่ะ หากเพื่อนๆพี่ๆมีข้อเสนอแนะนำเพิ่มเติมได้เลยนะคะ แลกเปลี่ยนกันค่ะ
มิ้วๆ
โฆษณา