10 มิ.ย. 2022 เวลา 13:00 • การศึกษา
[ตอนที่ 69] คำศัพท์ “ฝน” ในภาษาต่าง ๆ แถบกลุ่มประเทศ ASEAN
ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นภูมิภาคที่พื้นที่ส่วนใหญ่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น (ไม่ว่าจะเป็นแบบย่อยต่าง ๆ ได้แก่ แบบทุ่งหญ้าสะวันนา, แบบมรสุมเขตร้อน และแบบป่าดิบชื้น) ซึ่งมีปริมาณฝนตกค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น (เช่น เขตอบอุ่น หรือทะเลทราย)
ดังนั้น คำว่า “ฝน” จึงเป็นคำศัพท์พื้นฐานที่มีในกลุ่มหรือตระกูลภาษาแถบนี้ โดยไม่ต้องยืมคำจากภาษาต่างประเทศมาใช้
ทางเดินข้ามคูรอบปราสาทพระขรรค์ท่ามกลางฝนตกหนัก จ.เสียมเรียบ กัมพูชา เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2014 (ถ่ายโดย "หนุ่มมาเก๊า")
เรามาดูกันว่าคำว่า “ฝน” ในภาษาต่าง ๆ ตามแถบภูมิภาคนี้มีคำอะไรบ้างครับ
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังประกอบระหว่างอ่านบทความ :
ดนตรีบรรเลงรินดิก (ระนาดไม้ไผ่ในดนตรีพื้นเมืองของเกาะชวาและบาหลี) เคล้าเสียงฝนตกในเขตชนบทของเกาะบาหลี [Credit ดนตรี : Youtube Channel "wiswani amerta 56"]
1. ภาษาพม่า : မိုး “โม"
คำนี้มีสองความหมายคือ "ท้องฟ้า" และ "ฝน"
2. ภาษาไทย : "ฝน"
มีรากศัพท์มาจากภาษาไทดั้งเดิม (Proto-Tai) ร่วมกับภาษาล้านนา ภาษาลาว และภาษาไทใหญ่ (คำว่า ၽူၼ် “ผูน" หรือ ၾူၼ် ”ฝูน")
3. ภาษาลาว : ຝົນ "ฝน"
อักษรลาวมีการเขียนสระโอะลดรูปด้วย "ไม้กง" ทางด้านบนของพยัญชนะ เช่นเดียวกับ "ไม้ก๋ง" ในอักษรธรรมล้านนา อย่างคำว่า "ฝน" ในภาษาล้านนา ᨺᩫ᩠ᨶ
4. ภาษาเขมร : ភ្លៀង "เพลียง"
ภาษาเขมรมีคำประสมจากคำนี้ที่ใกล้เคียงภาษาไทย ตามการออกเสียงคำที่มีรากจากภาษาบาลี-สันสกฤตร่วมกัน
- រដូវភ្លៀង "โรเดอวเพลียง" (ฤดูฝน)
- ព្យុះភ្លៀង "ปยุห์เพลียง" (พายุฝน)
5. ภาษาเวียดนาม : mưa "เมือ"
ภาษาเวียดนามนั้นเคยรับอักษรจีนมาใช้เป็นอักษรหลักในระบบการเขียน และมีอักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ตามแบบอักษรจีน เรียกว่า “อักษรจื๋อโนม” (Chữ Nôm) ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใชัอักษรโรมันเป็นหลักแบบในปัจจุบัน
คำ mưa จะมีอักษรจื๋อโนมถึง 3 ตัว ที่แตกต่างกันตรงส่วนรากคำ/หมวดคำ (มี 2 แบบ คือ ส่วนรากคำบ่งชี้ความหมาย กับส่วนรากคำบ่งชี้การออกเสียง)
อักษรจื๋อโนม 3 ตัวของคำว่า mưa ได้แก่
- 湄 มีรากคำ 氵ในความหมายว่า “น้ำ” และรากคำ 眉 เพื่อบ่งชี้การออกเสียง (ปกติแล้วอักษรจีนที่เป็นรากคำตัวนี้ออกเสียงในภาษาเวียดนามไปในแนว mi, mày, mầy, mì, my)
- 𩄎 ยังคงรากคำ 眉 เพื่อบ่งชี้การออกเสียงเหมือนเดิม แต่ใช้เฉพาะรากคำ ⻗/雨 “ฝน”
- 𩅹 เป็นอักษรจื๋อโนมที่ใช้ทั้งรากคำบ่งชี้ความหมายทั้ง 2 แบบ (รากคำ 氵“น้ำ” และรากคำ ⻗/雨 “ฝน”)
6. ภาษามลายู-ภาษาอินโดนีเซีย : hujan "ฮูจัน"
แต่ในภาษามลายูสำเนียงอื่น หรือภาษาร่วมกลุ่มภาษามาลาโย-โพลีเนเซียในแถบมาเลเซีย-อินโดนีเซียจะออกเสียงต่างออกไป
- ภาษามลายูถิ่นบรูไน : ujan "อูจัน"
- ภาษาชวา : udan "อูดัน" และ jawah “จาวะห์” (คำรูปสุภาพ)
- ภาษาบาหลี : ujan “อูจัน” และ sabeh "ซาเบห์" (คำรูปสุภาพ)
7. ภาษาตากาล็อก : ulan "อูลัน" มีรากศัพท์ร่วมกันกับกลุ่มภาษามาลาโย-โพลีเนเซีย ที่ภาษาตากาล็อกเป็นสมาชิกร่วมกลุ่มเช่นเดียวกับภาษามลายู-ภาษาอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ กลุ่มประเทศ ASEAN ก็เป็นภูมิภาคที่มีนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก แม้ว่าปริมาณฝนตกที่มากอาจเป็นอุปสรรคแก่กิจกรรมการท่องเที่ยวไปบ้าง แต่ปริมาณน้ำฝนกับจำนวนนักท่องเที่ยว ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในแง่ที่ว่ายิ่งฝนตกเยอะ ก็ยิ่งมีนักท่องเที่ยวอยากมานอนดูบรรยากาศยามฝนตกแต่อย่างใดครับ
ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจำนวนนักเดินทางของปี ค.ศ.2019 (ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด) และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยแบบทั้งปี
- กรุงเทพฯ : จำนวนนักเดินทาง 25.85 ล้านคน / ปริมาณน้ำฝน 1,058 มิลลิเมตร
- สิงคโปร์ : จำนวนนักเดินทาง 19.12 ล้านคน / ปริมาณน้ำฝน 1,367.5 มิลลิเมตร
- กรุงจาการ์ตา (เมืองหลวงของอินโดนีเซีย) : จำนวนนักเดินทาง 4.70 ล้านคน / ปริมาณน้ำฝน 2,975 มิลลิเมตร
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit หรือเพจบน Facebook : https://www.facebook.com/NumMacau/ ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
โฆษณา