13 มิ.ย. 2022 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 70] Review คอร์สเรียนออนไลน์ “ภาษาอินโดนีเซีย 1” ของศูนย์ภาษา คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
**หมายเหตุ**
บทความนี้เป็น Customer Review (CR) ที่เจ้าของบล็อกไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว หรือได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากทางศูนย์ภาษา คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ แต่เป็น Review ในฐานะที่เจ้าของบล็อกสมัครลงทะเบียนเรียนเอง
เนื่องจากช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคมของปีนี้ ผมได้ไปสมัครลงคอร์สเรียนออนไลน์ภาษาอินโดนีเซีย 1 (สำหรับผู้ไม่มีพื้นฐานมาก่อน) จากมหาวิทยาลัยในไทย เลยเขียน Review หลังจบคอร์สสักหน่อยครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านได้เลยครับ
ทางศูนย์ภาษา คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้เปิดหลักสูตรภาษาอินโดนีเซีย (แบบเรียนออนไลน์) เมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคม ค.ศ.2022 ซึ่งเจ้าของบล็อกก็มีโอกาสสมัครลงเรียน สำหรับเนื้อหาตอนนี้จึงจะกล่าวถึง “คอร์สภาษาอินโดนีเซีย 1” ที่ทางศูนย์ภาษาเปิดคอร์สในตอนนั้นเพียงระดับเดียวครับ
รายละเอียดคอร์สเรียนออนไลน์ "ภาษาอินโดนีเซีย 1" รอบเดือน เม.ย. - มิ.ย. 2022 ในเพจของศูนย์ภาษา ม.เกษตรศาสตร์
1) จำนวนคนเรียนในคอร์ส :
จำนวนคนเรียนประมาณ 7 คน
2) อาจารย์ผู้สอนและภาษาที่ใช้ในการสอน :
อาจารย์ผู้สอนในคอร์สนี้เป็นอาจารย์คนไทย และใช้ภาษาไทยในการสอน
3) โปรแกรมที่ใช้เรียนออนไลน์ :
โปรแกรม Zoom และจะไม่มีการอัดวีดีโอระหว่างการเรียนการสอนให้ดูย้อนหลัง ตามนโยบายของทางศูนย์ภาษา
4) เอกสารหรือหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียน :
คอร์สนี้ใช้หนังสือ “อินโดนีเซียที่รัก: ระดับพื้นฐาน 1” โดย ดร.ฮามัม สุปรียาดี พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หน้าปกหนังสือ "อินโดนีเซียที่รัก: ระดับพื้นฐาน 1" ที่ใช้ในคอร์สภาษาอินโดนีเซีย 1 ของศูนย์ภาษา ม.เกษตรศาสตร์
5) ขอบเขตของเนื้อหาของคอร์ส :
เนื้อหาในคอร์สภาษาอินโดนีเซีย 1 ของศูนย์ภาษา คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จะเป็นไปตามเนื้อหาในหนังสือ ที่แบ่งเนื้อหาแต่ละบทออกเป็นส่วนต่าง ๆ ได้แก่ คำศัพท์, บทสนทนา, ไวยากรณ์, แบบฝึกหัด และเกร็ดวัฒนธรรม
คอร์สนี้มีเนื้อหาครอบคลุมระดับ A1 และมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเข้าระดับ A2 ตามมาตรฐานระดับทักษะภาษาต่างประเทศแบบ CEFR ของทางยุโรป
6) เนื้อหาที่เรียนในคอร์สภาษาอินโดนีเซีย 1 :
**ไม่ได้เรียงตามลำดับเป็นบทเรียนแต่ละบท แต่ “หนุ่มมาเก๊า” จัดกลุ่มตามลักษณะของเนื้อหา**
6.1 ระบบเสียงในภาษาอินโดนีเซีย
- ตัวอักษรและหน่วยเสียง
- สระ และสระประสม
- พยัญชนะ และพยัญชนะประสม
- การแบ่งพยางค์เวลาอ่านคำ
6.2 คำศัพท์และสำนวน
- สำนวนที่ใช้การทักทาย การขอบคุณ การขอโทษ และการบอกลา
- การแนะนำตัว
- ตัวเลขจากหลักหน่วยถึงหลักล้าน
- การอ่านตัวเลขที่เป็นลำดับและเศษส่วน
- คำศัพท์บอกจำนวนแบบนับไม่ได้
- คำลักษณนาม
- การบอกเวลา
- การบอกสัญลักษณ์ในการคำนวณพื้นฐาน
- วันในสัปดาห์ วันหยุดสำคัญ วันที่ เดือน ปี
ตัวอย่างสำนวนที่ใช้ทักทายและบอกลาในภาษาอินโดนีเซีย
- สมาชิกครอบครัว และอาชีพ
- อาหารอินโดนีเซีย เครื่องดื่ม การสั่งอาหาร
- ความรู้สึกที่เกี่ยวกับการกินดื่ม รสชาติ สี
- ทิศ ตำแหน่ง
- ท้องถนนและการจราจร ยานพาหนะ และขนส่งมวลชน
- อวัยวะ
- อารมณ์-ความรู้สึก
- คำศัพท์ที่ใช้ในโรงพยาบาล
- บ้าน-สิ่งแวดล้อมรอบบ้าน กิจวัตรในบ้าน
- ไม้ดอก-ไม้ประดับ
- กิจวัตรประจำวัน
- การศึกษา
- รูปสำนวนใช้กล่าวแสดงความเห็นใจ และแสดงความยินดี
6.3 ตัวอย่างบทสนทนา
- การทักทาย
- การแนะนำตัวเองและแนะนำคนอื่น
- การถามถึงหมายเลขโทรศัพท์, วันเกิด, อายุ-ปีเกิด, ตารางเรียน, ราคา-ขนาดของสินค้า, ระยะทาง-ค่าโดยสารพาหนะ
- การถามถึงอาชีพของพ่อแม่ ครอบครัว อาชีพและสถานที่ทำงาน
- การถามว่าอีกฝ่ายกินข้าวแล้วหรือยัง, การสั่งอาหาร-เครื่องดื่มที่ร้านอาหาร, การให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับรสชาติ, การถามวิธีทำอาหาร
ตัวอย่างบทสนทนาในการทักทาย ระหว่างเรียนคอร์สภาษาอินโดนีเซีย 1
- การถามเกี่ยวกับที่อยู่ การถามทิศทาง การถามที่ตั้งของร้านที่ต้องการไป
- การถามเกี่ยวกับสุขภาพ การพบแพทย์ที่คลินิก และการอธิบายอาการเจ็บป่วย
- การอธิบายที่พักอาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรม และกิจวัตรประจำวัน
- เรื่องกิจวัตรประจำวัน การศึกษาในอินโดนีเซีย และการแสดงความเห็นใจ
6.4 ไวยากรณ์ภาษาอินโดนีเซีย
- คำ ini (นี่/นี้), itu (นั่น/นั้น) และการบอกว่าประธานคืออะไร (หรือมีลักษณะอย่างไร)
- บุรุษสรรพนาม (ทั้งบุรุษที่ 1-2-3 บุรุษสรรพนามเอกพจน์-พหูพจน์ และสรรพนามตามความสุภาพ)
- คำแสดงคำถาม
- โครงสร้างของประโยคพื้นฐานและวลี
- คำ prefix "ber-" และ suffix "-nya"
- คำกริยา ada (มี/อยู่) และ adalah (เป็น คือ)
- คำ prefix “meN-” และกฎการใช้คำนี้
- คำเชื่อม ได้แก่ dan (และ), tetapi (แต่), atau (หรือ), karena (เพราะ), kecuali (ยกเว้น) และ yang (ที่/ซึ่ง/อัน)
6.5 เกร็ดวัฒนธรรมอินโดนีเซีย
- ท่าทางการทักทายตามธรรมเนียมอินโดนีเซีย
- วัฒนธรรม basa-basi
- วิธีบอกเวลาในอินโดนีเซีย และวัฒนธรรม jam karet
- ตัวอย่างเมนูอาหารอินโดนีเซีย
- การจราจรในประเทศอินโดนีเซีย
- วัฒนธรรมการแต่งกายของคนอินโดนีเซีย
- “Kos” บ้านพักแบ่งเช่าหรือห้องแถวแบ่งเช่า ที่นักศึกษาในอินโดนีเซียส่วนมากนิยมเช่าอยู่อาศัย
- “Nasi kuning” (ข้าวเหลือง)
แบบฝึกหัดการเขียนระหว่างเรียนในคอร์สภาษาอินโดนีเซีย 1
7) สิ่งที่เจ้าของบล็อกชอบในคอร์สภาษาอินโดนีเซียคอร์สนี้ :
- อาจารย์ผู้สอนจะช่วยออกเสียงคำศัพท์ในแต่ละบทให้ผู้เรียนออกเสียงตามตลอด ช่วยให้ทราบการออกเสียงสระในคำว่าออกเสียงแบบใด โดยเฉพาะคำที่มีสระ E และ O ซึ่งสระ E ออกเสียงได้ทั้ง “เออ” และ “เอ” ส่วนสระ O ออกเสียงได้ทั้ง “โอ” และ “ออ”
- ช่วงเวลาที่เรียนต่อสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 2 ชั่วโมงถือว่าค่อนข้างเหมาะสม
8) สิ่งที่เจ้าของบล็อกอยากให้มีการปรับปรุง :
- อยากให้ศูนย์ภาษาพิจารณาอีกครั้งถึงนโยบาย “ไม่อัดวีดีโอระหว่างการเรียนการสอนให้ดูย้อนหลัง” เนื่องจากมีผู้เรียนส่วนหนึ่งที่เป็นวัยทำงาน และอาจมีคนที่ช่วงเวลาทำงานไม่สม่ำเสมอแต่อยากลงสมัครเรียน (เช่น มาเรียนในคาบเรียนส่วนใหญ่ได้ แต่ขาดบางคาบเนื่องจากมีงานพอดี)
9) การสอบเพื่อวัดผลการเรียนในคอร์ส และใบประกาศนียบัตร :
- มีการสอบท้ายคอร์ส
- ทางศูนย์ภาษา คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จะส่งใบประกาศนียบัตรหลังจบคอร์ส แบบอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้เรียนทางอีเมล์ หากต้องการใบประกาศนียบัตรแบบพิมพ์ลงกระดาษ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
10) จำนวนชั่วโมงและค่าเรียน :
30 ชั่วโมง 3,000 บาท (ช่วงที่มีส่วนลดมากที่สุด จะเหลือ 2,700 บาท) รวมค่าเอกสารประกอบการเรียน แต่ไม่รวมค่าส่งใบประกาศนียบัตรแบบพิมพ์ลงกระดาษ ทางไปรษณีย์อีก 30 บาท
หวังว่า Review คอร์สเรียนออนไลน์ “ภาษาอินโดนีเซีย 1” ของศูนย์ภาษา คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จะเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจมองหาคอร์สเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม ในช่วงตอนเย็นหลังทำงานเสร็จครับ
สำหรับเพจ Facebook ของศูนย์ภาษา คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่จะมีประกาศและรายละเอียดคอร์สภาษาอื่น ๆ สามารถดูได้ที่ https://www.facebook.com/KULANGUAGECENTRE/
โฆษณา