22 มิ.ย. 2022 เวลา 05:12 • หนังสือ
📚จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง
แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้
김난도의 내:일
FUTURE: MyJob
ต่อกันที่รีวิวที่ 2 ของแอดมินของหนังสือเล่มนี้ หากท่านใดที่ยังไม่ได้อ่านรีวิวแรก ขอเชิญตามลิ้งค์ด้านล่างได้เลยค่ะ
ไม่รอช้า ขอเชิญพบกับคีย์เวิร์ด “แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้” อีกสามคีย์เวิร์ด
1
✨คีย์เวิร์ดที่ 4
  • U: Unbelievable Power of Fun พลังของการบริหารแบบยืดหยุ่น ทำน้อยแต่ได้ผลมาก
คนทำงานหลายคนต่างก็มีความฝันเกี่ยวกับองค์กรที่ดี แต่กว่าครึ่งจากการสำรวจเผยให้เห็นว่า “องค์กรที่ดี” คือ “บริษัทที่ทำงานได้สนุกสนานและมีสวัสดิการที่ดี” มีหนุ่มสาวมากมายที่เลือกรูปแบบ work-life balance มากกว่าค่าตอบแทนที่สูงลิบจนความสนุกในการทำงานลดน้อยถอยลง แต่หากพูดถึงสังคมเกาหลี การจะหางานทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะแรงกดดันทางสังคมสูง
แต่จะเป็นอย่างไร เมื่อวิถีชีวิตแบบเฟรนช์พาราด็อกซ์ (French Paradox) ได้ฉายให้เห็นถึงบรรยากาศการทำงานที่สนุกสนาน และสร้างผลผลิตที่สูงอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งผ่อนคลายมากยิ่งสนุกมาก เช่นที่อเมริกา ณ ซิลิคัลวัลเลย์ หรือที่ฝรั่งเศสก็ดี
🇫🇷 ลอรีอัล ฝรั่งเศส & Second House
ความสำเร็จที่ร้อนแรงของประเทศที่ทำงานน้อยที่สุด
หากทุกท่านดูหนังหรือซีรี่ย์ของประเทศนี้ อาจสังเกตว่าในวันทำงานธรรมดา ๆ คนทำงานชาวฝรั่งเศสทั้งหลายต่างก็พักผ่อนในตอนกลางวันอย่างชิลล์ ไม่เร่งรีบ เหมือนกับภาพคุ้นตาของบ้านเราที่ต่างต้องรีบทานข้าว รีบเข้างาน
นั่นคือเคล็ดลับของวิถีชีวิตแบบเฟรนช์พาราด็อกซ์ ที่ไม่เน้นกินอาหารอย่างรีบร้อน ผ่อนคลายความตึงเครียดกับมื้ออาหาร เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวฝรั่งเศสคือการใช้เวลาในหนึ่งวันอย่างสนุกสนาน ไม่ใช่ใช้ชีวิตราวกับถูกไล่ล่า
ณ ลอรีอัล ฝรั่งเศส 🇫🇷
ลอรีอัล สวรรค์ของเวิร์คกิ้งมัม👩‍👦
ที่บริษัทเครื่องสำอางชั้นนำแห่งนี้ ทำไมถึงได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของเวิร์คกิ้งมัม นั่นเป็นเพราะที่นี่ให้ความยืดหยุ่นในการทำงาน ในหนึ่งสัปดาห์ทำงานเพียง 35 ชม. สตรีที่ตั้งครรภ์สามารถใช้สิทธิลาคลอดและหยุดชดเชยเพิ่มได้ จะวันหยุดหน้าร้อน หรือวันหยุดชดเชยก็มีให้ ในหนึ่งปีลาพักผ่อนได้ถึง 38 วัน
"ผมได้รับวันหยุดเพื่อดูแลภรรยาที่คลอดเป็นเวลา 6 เดือน นั่นเป็นการหยุดตามกฎหมาย แต่บริษัทก็ให้วันหยุดเพิ่มอีกสี่สัปดาห์ ในระหว่างนั้นคนอื่นก็จะทำงานแทนผม ซึ่งการให้วันลาคลอดยาวนานเช่นนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของลอรีอัล ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นชายหรือหญิง ลอรีอัลพยายามที่จะ
ช่วยให้คนเป็นพ่อแม่รักษาความสมดุลระหว่างงานและครอบครัวได้
เฟรดริก สกาเบเนกซ์
จะผู้หญิงหรือผู้ชายก็สามารถลาเพื่อดูแลเด็กแรกเกิด แถมความพิ้เศษของที่นี่คือมีสถานที่รับเลี้ยงเด็กอีกด้วย เพื่อช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูของพ่อแม่ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายต่อปีได้มากทีเดียว
ลอรีอัล เชื่อว่าสัดส่วนของการเติบโตของบริษัทแปรผันตามความสุขของพนักงาน เช่นนี้เองค่ะทุกท่าน พนักงานจึงทำงานกับที่นี่โดยเฉลี่ยเป็นเวลากว่า 20 ปี✨
2
ต่อไปนี้เขยิบมาอีกนิดทางฝั่งตะวันตกกันบ้างค่ะ มาดูกันที่การทำงานของบริษัทที่ทุกคนใช้เกือบจะทุกวัน ประเทศแหล่งกำเนิด Google
🇺🇸 กูเกิลอเมริกา
ที่ทำงาน “สนุก” แบบไม่ต้องอาย
กูเกิลแคมปัส
คุณจริงจังได้ แม้ไม่ใส่สูท!
คติของบริษัทกูเกิล
1
20 เปอร์เซ็นต์ของเวลางานในแต่ละวัน เรามาเล่นกันให้มันส์ไปเลย บริษัทที่อ่านหนังสือแล้วเดินเล่น ฟังเพลงแล้วก็เล่นเกม
บรรยากาศการทำงาน(ในเวลาเล่น)ของกูเกิล🔅
บรรดา Googler หรือพนักงานกูเกิลทั้งหลาย ไม่ได้เรียกที่นี่ว่าที่ทำงานแต่เรียกว่า ‘แคมปัส’ ที่ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่าการบังคับฝืนใจ
ดังนั้น งานที่ “อยากทำ” จึงมีมากกว่างานที่ “ต้องทำ” นั่นเอง
“FUN” คือวัฒนธรรมการทำงานของกูเกิล หากได้รับอนุญาตจากเจ้านาย พนักงานจะใช้ 20 เปอร์เซ็นต์ของเวลางานในแต่ละวันมาทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับงาน
สิ่งสำคัญคือ พนักงานต้องใช้เวลาในบริษัทอย่างสนุกและมีความสุข
แถมกูเกิลยังใช้ปรัชญาการบริหารที่ว่า
“Don't be evil” (อย่ากลายเป็นปีศาจร้าย) ด้วยความพยายามที่จะสร้างบรรยากาศในการทำงาน เราจึงไม่แปลกใจเลยที่มักจะได้ยินมาว่า กูเกิลเป็นบริษัทที่มีอัตราการลาออกของพนักงานต่ำที่สุด และได้รับการขนานนามจากผู้คนว่าเป็น"บริษัทที่อยากทำงานด้วยมากที่สุด"
ยังไม่พอ บริษัทยังจ่ายเงินไปกับค่าอาหารว่างถึง 70 ล้านดอลลาร์ทุกปี และใส่ใจสร้างความสุขเล็ก ๆ ให้กับพนักงาน
มีสแน็กบาร์และร้านอาหารที่ให้บริการฟรีทั้งหมด ทั้งยังมีอาหารที่ปรุงด้วยวัตถุดิบธรรมชาติและปลอดสารพิษ รออยู่ด้วย🥗🌿
คุณจริงจังได้ แม้ไม่ใส่สูท 👔🤷🏻
พอเห็นภาพของการทำงานที่ Google กันบ้างแล้วใช่ไหมคะ แอดมินขอพามาดูอีกบริษัทหนึ่งในอเมริกากันค่ะ ที่แนวคิดก็ยอดเยี่ยมเช่นกัน
🇺🇸 Smule อเมริกา
ทำงานสี่วันในหนึ่งสัปดาห์ก็ยังเหนื่อยไป
ต้องใส่เครื่องหมายเว้นวรรคและตกใจ
ลงไปในงานด้วย!
มาดูวิธีการที่ซิลิคอนแวลลีย์ใช้ประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการผสมผสานชีวิตและงาน โดยใส่เครื่องหมายเว้นวรรคและสร้างความตื่นเต้นลงไปในงาน
Smule เป็นบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชั่นในมือถือ ที่ใช้ระบบเวลางานที่ยืดหยุ่น ด้วยกฎการทำงานที่บริษัทสี่วันต่อสัปดาห์และทำงานที่บ้านเพียงหนึ่งวัน
แต่ทั้งนี้พนักงานยังสามารถจัดสรรเวลาทำงานให้น้อยลงกว่านั้นได้ ทำให้พนักงานแต่ละคนสามารถสร้างผลงานได้เต็มที่ตามการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป ในหนึ่งสัปดาห์ทำงานเพียง 15 ชั่วโมงก็ยังได้✨
พนักงานของบริษัททั้งหมดทำงานอย่างสนุกสนานและพักผ่อนอย่างชาญฉลาด การทำงานที่สมดุลด้วยการพักผ่อนนั้นเป็นทางเลือกที่ทรงประสิทธิภาพ และ Smule มีชื่อเสียงเรื่องการเล่น หากที่ Google เรียกว่าเป็นแคมปัส ที่นี่ก็เรียนที่ทำงานตนว่า “เวทีคอนเสิร์ต” มีเครื่องดนตรีหลากชนิดให้พนักงานเล่นกัน และพนักงานมีความสามารถทางด้านดนตรีไม่แพ้วงมืออาชีพอื่นใด
ดังนั้น พวกเขาจึงมีความสุข และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์จากพลังของเสียงดนตรี และพัฒนางานที่เกิดจากการเล่นนี้ได้อีกด้วย
เวลาสร้างสรรค์ของแต่ละคนนั้น “ต่างกัน”🤔
🪄 จากการอ่านในพาร์ทของคีย์เวิร์ดนี้ ทำให้เข้าใจในพลังของการทำงานน้อย ๆ แต่ได้มาก ที่ไม่ใช่ทำงานน้อยทุ่มเทให้งานน้อย แต่หมายถึงได้จัดสรรเวลาการทำงานให้น้อยลงด้วยการทำที่เปี่ยมไปด้วยพลังและประสิทธิภาพ ส่งผลให้งานที่ออกมามีประสิทธิผล
ไม่ว่าจะเป็นที่ฝรั่งเศส ที่ขึ้นชื่อว่าเวลาในการทำงานน้อย แถมยังไม่ต้องเร่งรีบในเวลาพักผ่อน สามารถสร้างประสิทธิผลของงานได้ดีเช่นกัน เราสามารถดูผ่านตัวอย่างจากลอรีอัล เช่นเรื่องความใส่ใจในพนักงานทั้งเวลาหยุดพักผ่อน ชดเชย และยังเพิ่มการดูแลในที่ทำงานของเวิร์คกิ้งมัม
หรือจะเป็นที่อเมริกาก็ดี แหล่งกำเนิดของเทคโนโลยีชั้นสูง ณ ซิลิคอนแวลลีย์ ทั้ง Google หรือ Smule น่าแปลกใจว่าทั้งสองต่างก็ไม่ได้ขนานนามตนเองว่าเป็นที่ทำงาน ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ทั้งการพักผ่อนหรือการเล่น(ที่บางคนอาจคิดว่าไม่จริงจังหรือไม่จำเป็นต่อการทำงาน) ก็เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จระดับโลกได้ด้วย
✨คีย์เวิร์ดที่ 5
  • R: Return to Local Places ยุคของคันทรีบอยได้มาถึง
คำว่า locavore มาจาก localfood หมายถึงอาหารพื้นถิ่น คำว่า vore มาจากภาษาละติน มีความหมายว่ากิน นั่นเอง ดังนั้นเมื่อมารวมกันจึงหมายถึง การผลิตสินค้าและบริโภคในท้องถิ่น ข้อดีคือผลิตภัณฑ์ราคาถูก สินค้าสดใหม่ ลดการปล่อยของเสียคืนสู่ธรรมชาติ
กระแสนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนฟื้นคืนชีพและยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง และการที่หนุ่มสาวทั้งหลายที่เลือกจะไม่ทนกับแสงสีของเมืองใหญ่ เดินทางกลับบ้านเกิดในบรรยากาศอันน่าพึงพอใจกว่า เราเรียกหนุ่มสาวเหล่านี้ว่า “คันทรีบอย”
เริ่มต้นค้นหาคีย์เวิร์ดกันที่ประเทศแรก ณ อิตาลี ในหัวข้อ
🇮🇹 เด็กหนุ่มสองคนที่ผมพบที่
มหาวิทยาลัยโพลิเทคนิกแห่งมิลาน อิตาลี
ในยุค 880,000 วอนของเกาหลี
ในยุค 100 ยูโรของอิตาลี
เป็นที่ทราบกับว่าที่อิตาลีนั้นเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมอันรุ่งเรือง แถมเป็นเมืองแห่งเทรนด์และแฟชั่นที่ทันสมัย ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ทว่าเมืองที่หรูหราอย่างมิลาน ก็ไม่อาจหลบเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปไปได้
รวมถึงการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยลดลงถึง 68% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (อ้างอิงจากปีของหนังสือ) และต่อให้มีใบปริญญาบัตร การจะเข้ามำงานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว ด้วยค่าเทอมที่สูง และการตัดสินมาตรฐานแรงงานทางวิชาการ เช่นนี้ทำให้คนที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีน้อยลง
สเตฟาโน่และจาโคโม่ หารายได้เสริมโดนการแจกใบปลิว
สเตฟาโน่ นักศึกษาจบใหม่ บอกว่าการที่คนจบมหาวิทยาลัยหางานในประเทศได้ยากกว่าการหางานในต่างประเทศเสียอีก เป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์สมองไหล คือคนที่มีความสามารถต่างก็นิยมออกไปทำงานนอกประเทศ
จาโคโม่ ที่แนะนำตัวว่าเป็น “หนุ่มตกงาน” เพื่อนของสเตฟาโน่ ยังเสริมอีกว่า
"สิ่งที่ผมเกลียดที่สุด คือการใช้เวลานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอด
ทั้งวัน แล้วก็ไกลห่างจากโลกภายนอกไปทุกที"
จาโคโม่
ถ้าอย่างนั้นเรามาเยือนธุรกิจครอบครัวของอิตาลีกันบ้างค่ะ
🇮🇹 ธุรกิจภัตตาคารกับไวเนอรี่ของครอบครัว อิตาลี
“การกลับบ้าน” ที่มีเหตุผลของหนุ่มสาวชาวอิตาลี
ปัจจุบันนี้ที่อิตาลีมีธุรกิจครอบครัวเกิดขึ้นมาก ด้วยจิตใจที่อยากจะพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดของหนุ่มสาวจำนวนมาก แน่นอนว่าการหางานในเมืองใหญ่ก็มีส่วน ทำให้หนุ่มสาววัยทำงานที่มุ่งหน้ากลับบ้านหลังสำเร็จการศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้น
จิโอบานีก็เป็นหนึ่งในคนหนุ่มสาวเหล่านั้น เขาเดินทางกลับมายังบ้านเกิดเพื่อสานต่อธุรกิจการทำไวน์ของครอบครัว ทั้งยังมีความรู้สึกเปี่ยมพลังหลังจากกลับมาช่วยงานที่บ้าน แน่นอนว่ามีคนไม่น้อยทำเช่นนี้ เขาจึงคิดแผนการตลาดที่ทันสมัยขึ้นผ่านระบบออนไลน์
ในธุรกิจครอบครัวแบบดั้งเดิม จงเพิ่มไอเดียแห่งความหนุ่มสาวเข้าไป
ไม่เพียงแต่เกิดเฉพาะธุรกิจเกษตรกรรมเท่านั้น ยังมีอย่างอื่นที่คนหนุ่มสาวได้ทำอย่าง ธุรกิจร้านอาหาร
เฟเดริโก้ หนึ่งในหนุ่มสาวที่กำลังจะเตรียมตัวสมัครงาน ทว่าการดำเนินธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็ก ทำให้เขามีความภูมิใจที่ได้สืบทอดต่อจากพ่อแม่
เขาบอกว่าทำงานนี้มีความสุขกว่า
และช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือตอนเสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้า
การเปลี่ยนค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานและความภูมิใจในบ้านเกิดผ่านธุรกิจครอบครัว มากกว่าฉวยคว้าสิ่งที่เหนื่อยสายตัวแทบขาดเช่นนี้ ได้สร้างโอกาสในการฟูมฟักเศรษฐกิจท้องถิ่น ไม่เพียงแต่มีคุณค่าต่อตนเองเท่านั้น ยังมีคุณค่ามหาศาลในสังคม และการจ้างงานในชุมชน
มาต่อกันกับงานอีกประเภทของอิตาลีอีกเช่นเคย
🇮🇹 โรงเรียนหัตถกรรมเครื่องหนัง อิตาลี
ดินแดนเรอเนสซองซ์ที่เบ่งบานไปพร้อม ๆ กับหนุ่มสาว
ถึงแม้อิตาลีจะอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ทว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นนั้นกำลังไปได้ดี ช่วยไม่ให้เศรษฐกิจของอิตาลีสั่นคลอนไปมากกว่านี้
ท่ามกลางความยากลำบาก สถานที่ที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ สามารถเพิ่มตำแหน่งงานออกสู่ชุมชนได้ คือ โรงเรียนหัตถกรรมเครื่องหนัง Scuola del Cuoio ที่ผลิตเครื่องหนังหลายรูปแบบและสอนทำเครื่องหนัง
ฟรานเชสโก ช่างชำนาญการวัย 28 ปี เรียนและทำงานที่นี่มากว่า 10 ปีแล้ว เป็นคนท้องถิ่นที่นี่ ผลิตเครื่องหนัง 2-3 อย่างต่อวัน เขาบอกว่าสามสิ่งที่ใช้แทนเครื่องจักร คือสมอง สองมือ และหัวใจในการสร้างทุกสิ่งทุกอย่างทำให้เกิดเสน่ห์ของงานฝีมือ
คงเพราะสินค้าที่มีเอกลักษณ์ซึ่งไม่สามารถหาซื้อได้จากที่ไหนในโลกนอกจากที่นี่ มันเป็นผลลัพธ์ของพลังงานชีวิตที่มาจากเศรษฐกิจท้องถิ่น แถมยังมีนักเรียนจากซึกโลกตะวันออกมาเรียนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ฟรานเชสโก ช่างแกะสลัก🔩
งานที่อิตาลีก็ยังไม่หมดค่ะทุกท่าน พอมาดูที่สำคัญอีกที่หนึ่งกันค่ะ
🇮🇹 “โครงการจิโอวานี” ของแคว้นตัสกานี อิตาลี
องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
รับประกันความเป็นไปได้ของคุณ
พลังของโครงการนี้คือการรวมตัวกันของภาคการศึกษา อาชีพ และบริการของเอกชน โดยการถามปัญหาโดยตรง แลกเปลี่ยนกับคนหนุ่มสาว ดำเนินนโยบายที่หลากหลายเพื่อสร้างงานออกสู่ตลาดแรงงาน
เพื่อการสั่งสมประสบการณ์หนุ่มสาวโดยให้การฝึกงานและสร้างความมั่นคงเมื่อเขาต้องเข้าสู่บริษัท และยังช่วยหนุ่มสาวที่ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินสามารถกู้เงินจากธนาคารได้ เพื่อที่จะป้องกันหนุ่มสาวออกไปทำงานนอกเมืองนั่นเอง
ด้วยสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่ถือเป็นจุดแข็ง ประกอบกับการใช้สัญญาจ้างรูปแบบใหม่ หนึ่งตำแหน่งงาน จ้างคนสองคนเพื่อให้คนสองคนมีอาชีพ ซึ่งเป็นการช่วยท้องถิ่นดีขึ้นอย่างแท้จริง
ข้ามมาอีกซีกโลก มาเยือนยังอเมริกา
🇺🇸 Coffee Roasters United เมืองพอร์ตแลนด์ &
Farmers Market อังกฤษ
“Made in หมู่บ้านของฉัน”
ที่เอาชนะแฟรนไชส์ใหญ่ของโลกอย่างสตาร์บัคส์
มาดูกันที่เมืองพอร์ตแลนด์ของอเมริกากันก่อนนะคะ เคยเป็นเมืองที่มีปัญหาการว่างงานมานับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เมื่อปี 2000 แต่มาตอนนี้กลับเป็นเมืองที่คนบอกว่าน่าอยู่ที่สุดในอเมริกาแล้ว
พอร์ตแลนด์ได้ทำการฟื้นฟูเศรษฐกิจในเมืองด้วยความเร็วอันน่าทึ่ง ผสมผสานกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเข้ากับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่นี่มีธุรกิจท้องถิ่นกว่า 95% เกิดการจ้างงานคนกว่าสองแสนกว่าคน
อดัม แม็คกัฟเวิร์น เจ้าของร้าน Coffeehouse Northwest
ร้าน Coffeehouse Northwest ของอดัม แม็คกัฟเวิร์น ผู้ก่อตั้ง Coffee Roasters United - CRU
สำหรับอดัมแล้วการชงกาแฟให้ออกมาเป็นรูปแบบของเขาเองจึงต้องสวมบทบาทเป็นทั้งผู้ชิมและชง
ส่วนงานที่เขาก่อตั้งนั้น Coffee Roasters United - CRU เป็นการช่วยเหลือเจ้าของร้านกาแฟขนาดเล็ก หลังจากร่วมมือกับร้านกาแฟอื่น ๆ ในเมืองจึงทำให้เราซื้อเมล็ดกาแฟที่ดีได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น และได้พันธมิตรในสายงานเดียวกัน หน้าที่หลัก คือการรักษาราคาเมล็ดกาแฟคุณภาพแก่ร้านพันธมิตรโดยไม่แบ่งแยก
ส่งผลให้ร้านกาแฟขนาดเล็กก็สามารถซื้อเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพในราคาที่ยุติธรรมได้ ช่วยเหลือร้านเล็ก ๆ ให้ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือการร่วมแรงร่วมใจกันของพันธมิตร เขาค้นหาจุดร่วมเพื่อเติบโตไปด้วยกันมากกว่าที่จะแข่งขันกัน
อดัม ‘มองข้ามการเป็นธุรกิจที่สร้างเงินก้อนโตไปสู่การสร้างจุดร่วมและเพิ่มพลังให้แก่ชุมชน’
คริสติน สมาชิกคนหนึ่งของ CRU เจ้าของร้าน “Case Study Coffee” ร้านของเธอเริ่มต้นมาจากความคิดเล็ก ๆ เท่านั้น
มีแนวคิดว่า ร้านในละแวกไม่มีร้านที่ตั้งอยู่โดด ๆ เมื่อมีคนอยากเข้ามาร้านเราเขาก็อยากเข้าร้านอื่นเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือการมอบความเป็นส่วนตัว พยายามที่จะรู้จักและ เข้าใจลูกค้าให้มากที่สุด ต้องมอบมิตรภาพให้แก่ลูกค้าในแบบที่ร้านใหญ่ ๆ ไม่สามารถมอบให้ได้ ยิ่งกว่าคือการนำเสนอ ‘กาแฟที่ยอดเยี่ยม’ ให้แก่ลูกค้าเรา
Farmers Market ตลาดในหมู่บ้านที่ขายความศรัทธา
ณ ใจกลางเมืองพอร์ตแลนด์ มีตลาดที่เกษตรกรผู้อยู่ละแวกใกล้เคียงนำผลผลิตของตัวเองมาขายทุกสัปดาห์ ตลาดชาวไร่ Farmers Market แห่งนี้ สินค้าไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางดังนั้นจึงถูกและมีคุณภาพดี เพราะชาวไร่ส่วนใหญ่เพาะปลูกพืชผลแบบเกษตรอินทรีย์
ภายในเมืองยังมีระบบการแลกเปลี่ยนเป็นของตนเองคือการใช้เหรียญเฉพาะที่มีมูลค่าเท่ากับเงินสด
เราจึงเห็นได้ว่าในความเรียบง่ายเช่นนี้ เจ้าของธุรกิจและผู้บริโภคได้บ่มเพาะความรู้สึกศรัทธาซึ่งกันและกัน อันสัมผัสได้ถึงความจริงใจและความรักในพื้นที่
กลับมาที่เกาหลี
🇰🇷 “บ้านพระจันทร์” เกสต์เฮ้าส์บนเกาะเชจู
ที่ทำงานไม่ใช่ที่ตายของเรา ถ้าหากเราตั้งใจ
ควรทำให้มันเป็นสถานที่แห่งการอยู่รอด
มีหนุ่มสาวเดินทางออกจากเมืองใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ การที่ได้ทำงานที่สัมผัสถึงชีวิตที่มีความสุข ปราศจากความเครียด มีความหมายกว่าการหาเงินได้ก้อนใหญ่ ๆ ส่วนสถานที่หลัก ๆ ที่ได้รับความสนใจคือ “เกาะเชจู“ นั่นเอง
ยิ่งยุคสมัยหมุนเร็วมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีคนอยากจะเปลี่ยนมาใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ✍️
เกสต์เฮ้าส์สำหรับนักท่องเที่ยว “บ้านพระจันทร์” นั้นราวกับจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากป้ายรูปพระจันทร์สีเหลืองสว่างที่ติดบนหลังคา เจ้าของก็คือคุณอันนา หญิงสาวชาวเมืองวัยสามสิบต้น ๆ สำหรับเธอแล้วการออกมาจากเมืองหลวงไม่ใช่เพื่อการหางาน แต่เป็นการจากมาเพื่อหาพื้นที่ที่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ เพื่อตั้งรกรากอยู่ในที่ที่ต้องการ
ของขวัญอีกอย่างที่ฉันได้รับหลังจากทำเกสต์เฮ้าส์ก็คือแขกที่มาพัก การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับพวกเขา ได้สนิทสนมกัน ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าได้รับการเยียวยา แม้ที่นี่จะเป็นบ้านที่เล็กมาก แต่ภายในก็เป็นที่ซึ่งทำให้ฉันได้ค้นพบความสุขใจ
อันนา
เกสต์เฮาส์ “บ้านพระจันทร์” 🌙
และบริษัทอินเทอร์เน็ต Daum ของเกาหลีก็ได้ย้ายสำนักงานใหญ่จากเมืองอย่างกรุงโซล ไปที่ชนบทอย่างเกาะเชจู ด้วยเช่นกัน
เป้าหมายของ Daum คือต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างธุรกิจกับธรรมชาติบนเกาะเชจู พนักงานกว่า 90.3% พึงพอใจกับการย้ายมาที่นี่ เพราะทำให้มีสมาธิและความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้น
แสดงว่าคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีความต้องการที่จะใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีมากกว่าที่จะออกมาทางจังหวัดเพื่อความผ่อนคลายเท่านั้น
ขยับมาที่เยอรมนี ชมอีกหนึ่งความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
🇩🇪 ศาสตราจารย์แฮร์มันน์ ซีมอน แห่งเยอรมนี
ห้องที่ซุ่มซ่อนความน่าประหลาดใจ
การขยายตัวของธุรกิจขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางถือว่าเป็นความสำเร็จในการสร้างฮิดเดนแชมเปี้ยนขึ้นมา (Hidden Champion) นั่นก็คือธุรกิจเล็ก ๆ ไม่เป็นที่รู้จัก แต่สามารถผงาดในตลาดอย่างแข็งแรง ในเยอรมนีมีฮิดเดนแชมเปี้ยนที่แข็งแกร่งท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป
โดยอัตราการผลิตของธุรกิจขนาดกลางนั้นสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ แถมยังดำเนินการด้วย พนักงานเก่ง ๆ ที่มีจำนวนน้อย แต่ทว่าโดดเด่นด้วยการพัฒนางานอันเข้มข้น ช่วยกันวางระบบการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งกว่าบริษัทใหญ่ ๆ นั่นจึงทำให้ฮิดเดนแชมเปี้ยนแกร่งกล้าและสร้างตำแหน่งงานเป็นจำนวนมาก
ถึงแม้ว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นก็ตาม พวกเขาจะใช้การบริหารแบบยืดหยุ่นมากกว่าไล่พนักงานออก เช่น การให้วันลาหยุดพิเศษ เพราะซีอีโอส่วนใหญ่ต่างตระหนักดีว่าการไล่พนักงานที่ทำงานด้วยกันมานานก็เท่ากับสูญเสียโนฮาวที่สำคัญไป
การทะยานไปข้างหน้าด้วยมุมมองที่ต้องการหางานซึ่งสร้างวันพรุ่งนี้ของตนเองได้อย่างแท้จริง🔅
🪄จากการอ่านในพาร์ทของคีย์เวิร์ดนี้ ภาพรวมจึงทำให้เข้าใจว่า การกลับบ้านของคนหนุ่มสาวเพื่อไปทำงานยังบ้านเกิดที่ตนเองจากมาหรือชนบทแห่งไหนก็ดีอันหนังสือฉายภาพให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการหางานทำในเมืองใหญ่ไม่ได้ การแข่งขันที่เข้มข้น การกดดันที่สูงลิ่ว แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
สิ่งที่สำคัญกว่านั้น หนุ่มสาวต่างก็ได้เติมเต็มเชื้อเพลิงให้ไฟของแพสชั่นในการทำงานมียิ่งขึ้น และประสบความสำเร็จได้ไม่แพ้การทำงานที่เมืองหลวงเมืองใหญ่
แอดมินก็เพิ่งจะเข้าใจว่า ไม่ว่าจะที่ไหนบนโลก ประเทศใด ๆ ที่หนังสือได้พาไปเยือนในคีย์เวิร์ดนี้ ส่วนใหญ่สังคมล้วนสร้างค่านิยมงานดี เงินเดือนมั่นคง ถึงจะถูกนับหน้าถือ
แต่ทว่าสำหรับคนหนุ่มสาวจบใหม่ทั้งหลาย ที่เลือกเดินทางเพื่อมาเป็นคันทรีบอยกลับบ้านเกิด คงจะไม่ใช่แค่ทางเลือกที่ทำให้คนเหล่านั้นกลับมา แต่เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานทั้งหลายท่ามกลางงานที่คนอยากจะไขว่คว้า อย่างไรก็ดีคันทรีบอยทั้งหลายต่างก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤติอันเลวร้าย และเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต
✨คีย์เวิร์ดที่ 6
  • E: Entrepreneurship for Micro - Startups ได้เวลาเกิดใหม่ ของธุรกิจขนาดเล็ก
แน่นอนว่าวิธีที่ชัดเจนในการหางานเพื่อตัวเรานั้น คือการลงมือสร้างงานของตัวเราเองขึ้นมา แต่ในยุคที่ไม่มีความมั่นคงใด ๆ แล้วเราจะสร้างงานของตัวเองขึ้นมาได้อย่างไรกัน
แต่ท่ามกลางความต้องการแห่งยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แสงสปอตไลต์กำลังส่องไปยังธุรกิจขนาดเล็ก (Micro - Startups Boom) ที่มุ่งเน้นไอเดียความสร้างสรรค์เฉพาะตัว
ขอเพียงแค่มีไอเดียที่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ สิ่งสำคัญคือการค้นพบความต่างของตัวเราและหาคุณค่าเฉพาะตนของตัวเราให้เจอ เพราะสายลมแห่งเทรนด์ใหม่กำลังมา
🇺🇸 นักเขียนคริส กิลเลอโบ อเมริกา
กระโดดโลดเต้นไปในโลก
ด้วยเงิน 100 ดอลลาร์
ธุรกิจเกิดใหม่เล็ก ๆ ที่ยึดมั่นในความต้องการของตนเอง และนักธุรกิจผู้เยี่ยมยอดเหล่านั้นก็ไปได้ไกลทั่วโลก และคริส กิลเลอโบคือหนึ่งในนั้น เขาเป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ด้วยการเขียนเรื่องราวของผู้คนที่มีฝีมือเหนือชั้นมากมาย เขาเขียนหนังสือ $100 Startup อันนำเสนอเรื่องราวความสำเร็จของคนทำธุรกิจแบบใหม่
ในขณะที่ผมเดินทางไปทั่วโลก ผมได้พบคนที่ทำงานหลากหลายด้วยเงินทุนจำนวนน้อยอยู่เสมอ / พวกเขาแค่นำไอเดียมาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมตามจำนวนเงินที่มีอยู่ เมื่อทำสิ่งที่ต้องการเหล่านั้นไปเรื่อย ๆ ก็เกิดเป็นธุรกิจเอง
คริส กิลเลอโบ
สำหรับเขาแล้ว คำว่าธุรกิจคือการหาจุดตัดผ่านระหว่างสิ่งที่เราชอบทำกับสิ่งที่คนอื่นต้องการให้เจอ จริงอยู่ที่เงินนั้นเป็นเรื่องสำคัญและต้องใช้เงินอยู่บ้าง แต่การจะทราบว่าธุรกิจใดจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ก็ไม่ได้ใช้เงินมากนัก
อาจารย์คิมรันโดกับนักเขียนคริส กิลเลอโบ
🇺🇸 ร้านขายไหมพรม “Happy Knits” อเมริกา
ลดขนาด แล้วเปิดหน้าต่าง
ในตอนที่เราเลือกอาชีพ เราอาจวางคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ไว้ที่ความมั่งคง มาในเวลานี้ เราคงไม่อาจตัดสินได้อย่างเด็ดขาด เพราะความเปลี่ยนแปลงของสังคม(เกาหลี ทว่าก็อาจเกิดขึ้นทุกมุมโลก) ท่ามกลางภาวะเช่นนี้ ธุรกิจขนาดเล็กเป็นทางเลือกที่ท้าทายมาก
คนบางคนอาจหาหนทางไปสู่ “งานของฉัน” ได้ แม้ไม่มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เงินทุน เช่นเดียวกับการกระโดดสูงที่ต้องย่อตัวก่อนจึงจะยืดตัวได้เต็มที่ ธุรกิจเองก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการลดขนาดลง โดยเริ่มจากที่ต่ำสุดก่อนจะทะยานขึ้นไปได้สูง
ณ เมืองพอร์ตแลนด์ ที่ผู้คนสนุกสนานไปกับงานของฉัน ไม่ใช่เพียงหาเงินแค่อย่างเดียว ที่ร้านไหมพรม Happy Knits มีบรรยากาศในร้านอันอบอวลไปด้วยความสุข ผู้คนที่มาต่างก็มาถักไหมพรมด้วยความเป็นกันเองกับเจ้าของร้าน
ลูกค้าจำนวนมากที่มาร้านต่างก็มีสมาชิกในครอบครัวที่กำลังป่วย จึงเรียนถักไหมพรมเพื่อมอบเป็นของขวัญ การเรียนถักไหมพรมและพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาตินั้นถือว่าเป็นการเยียวยาความเจ็บปวดไปด้วย
“สำหรับการถักไหมพรมแล้ว เมื่อมีการแลกเปลี่ยนจิตใจที่มีความสนใจร่วมกัน เราก็จะขายสินค้าได้มากโดยอัตโนมัติ”
ณ ร้าน Happy Knits 🧶
🇺🇸 Sprout ผู้เชี่ยวชาญด้านการโภชนาการ อเมริกา
หมอควบคุมอาหารประจำตัวของคนพอร์ตแลนด์
สกายเลอร์ เป็นเจ้าของกิจการแห่งหนึ่งในเมืองพอร์ตแลนด์ เป็นหญิงสาววัย 25 เริ่มสร้างกิจการของตนเองจากการทำงานที่อยากทำ เป็นงานที่ต้องไปจ่ายตลาดร่วมกับลูกค้าและช่วยจัดแจงเรื่องการกินให้กับลูกค้านั้น ก็ถือว่าเป็นงานที่แปลก ทว่ามันคืองานของเธอ เธอคือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและโภชนาการที่ Sprout
เธอผ่านการสร้างสตูดิโอสอนโยคะ แต่ก็ต้องปิดตัวลงเพราะมีคนเริ่มต้นทำธุรกิจนี้ มันผุดราวกับดอกเห็ด เวลาเดียวกันนี้เธอจึงหาเอกลักษณ์ของตนเอง ในตอนนั้นเองที่ลูกค้าถามเรื่องการกินอาหาร เธอก็ผุดไอเดียเกี่ยวกับเรื่องนี้และทำให้เป็นจริงโดยไม่รั้งรอ
ในขณะนั้นมีธุรกิจมากมายที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโภชนาการ แต่เธอคิดว่าอาหารชนิดเดียวกันอาจให้ผลกับคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงได้จัดรูปแบบการกิน ใช้เวลาสังเกตให้ถี่ถ้วนไปกับลูกค้า การคิดต่างออกไปแบบนี้จึงเป็นเอกลักษณ์ในงานของเธอ
ที่นี่ผู้คนต่างให้กำลังใจฉันอยู่เสมอว่า ‘งานนี้ช่างเป็นงานที่ยอดเยี่ยมเหลือเกิน’
สกายเลอร์
เพียงถ้อยคำให้กำลังใจอันแสนอบอุ่น🥰
🇺🇸 BASES ชมรมสร้างงานของ
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด อเมริกา
กองทัพสร้างงานของนักศึกษา
ที่ทำให้ซิลิคอนแวลลีย์ต้องสะท้าน
ณ ซิลิคอนแวลลีย์ เป็นสัญลักษณ์ทางเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในสหรัฐฯ กำลังถูกตามติดด้วยหนุ่มสาวผู้สร้างความท้าทายใหม่ ๆ จุดเริ่มต้นไอเดียมากมายที่เป็นจุดกำเนิดที่น่าสนใจของกระแส Start-Up Boom
ชมรมสร้างงานที่ดำเนินการโดยนักศึกษาอย่าง BASES (Business Association of Stanford Entrepreneurid Students) เป็นชมรมกิจกรรมสู่การเป็นองค์กรเพื่อธุรกิจขนาดเล็กของมหาวิทยาลัย
BASES คือชมรมที่บริหารโดยนักศึกษา แต่ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากองค์กรทางกฎหมาย องค์กรทางการเงิน และธุรกิจชุมชน ไม่เพียงแต่สนับสนุนด้านจิตวิญญาณ คือการให้การยอมรับเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือด้านการเงินด้วย
นักศึกษาผู้เข้าร่วม BASES ในปี 1930-2011 นั้นสร้างธุรกิจมากกว่า 39,000 ธุรกิจ สร้างงานกว่า 54,000,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้หมุนเวียนทั่วโลกกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปี บัณฑิตที่จบจากสแตนฟอร์ดสามารถสร้างสังคมเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู และถ้ามองในแง่ GDP ได้สร้างให้ประเทศมีความเข้มแข็งเป็นอันดับที่ 11 ของโลก
และยังพบว่า บัณฑิตที่เรียนจบไปเหล่านี้มีรายได้หมุนเวียนต่อปีราว 2.7 - 3 ล้านล้านดอลลาร์ (คำนวณเฉพาะธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่เท่านั้น) ความสำเร็จของสแตนฟอร์ดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อซิลิคอนแวลลีย์ที่อยู่เคียงข้าง (BASES เป็นสปอนเซอร์ให้กับซิลิคอนแวลลีย์) วงจรที่เอื้อกันระหว่างองค์กรธุรกิจกับมหาวิทยาลัยนั้นมีอิทธิพลต่อนักศึกษา
บรรดารุ่นพี่ที่ต่างเคยล้มเหลวมาก่อน ต่างก็นำความล้มเหลวมาเป็นบทเรียนสอนใจให้รุ่นน้องเพื่อจะช่วยให้ประสบความสำเร็จ การลงมือทำนั้นไม่ได้เริ่มต้นจากการใช้กลยุทธ์ที่ถูกตั้งแต่แรก แต่เป็นการปรับกลยุทธ์ และนำกลยุทธ์อื่นมาใช้เป็นแนวทางใหม่อันพบเห็นได้ในความสำเร็จที่บรรดารุ่นพี่นำมาถ่ายทอด
ในโลกธุรกิจ ความล้มเหลวเป็นเพียงขั้นตอนสำคัญเพื่อการปรับกลยุทธ์ไม่ใช่การจบเกม ยิ่งกว่านั้นความล้มเหลวคือโอกาสในการสร้างกลยุทธ์ใหม่
มาปิดท้ายธุรกิจเล็ก ๆ อีกที่หนึ่งในคีย์เวิร์ดนี้ที่เกาหลีใต้
🇰🇷 พ่อค้าหนุ่ม
ร้านของคนรุ่นใหม่ ที่ขายความปรารถนา
อย่างแรงกล้าและสร้างความประทับใจ
กลุ่มพ่อค้าหนุ่ม คือกลุ่มที่ตั้งใจจะสานต่อวัฒนธรรมการค้า เน้นการให้การศึกษาและความร่วมมือเกี่ยวกับธุรกิจ พวกเขารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือเจ้าของกิจการหนุ่มสาว และพัฒนาการค้าในชุมชนให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น
ชายหนุ่มวัย 26 ปี นามว่าคิมยุนกยู ผู้ทำธุรกิจโดยรวมตัวกับเพื่อน ๆ เปิดร้านเล็ก ๆ ขึ้นมา เขากับเพื่อนได้สร้างโปรเจ็กต์ร่วมกันที่ช่วยเหลือด้านการค้า อย่าง “ร้านกาแฟหน้าวัด” “มันฝรั่งแห่งความปรารถนา” “หมูย่างเสียบไม้แห่งความปราถนา”
แรงบันดาลใจที่ว่าในการเปิดร้านหรือโปรเจ็กต์ธุรกิจเหล่านั้นคือการที่เขาได้พูดคุยกับกลุ่มเพื่อนถึงสิ่งที่สามารถทำร่วมกันได้ และอยากจะมีชีวิตที่อยู่ดีกินดีด้วยกัน และไม่เฉพาะพวกเขาเท่านั้น แต่เขาอยากให้หนุ่มสาวทุกคนมีชีวิตที่อยู่ดีกินดีไปด้วยกัน
แต่ถึงจะอย่างนั้นก่อนพวกเขาจะประสบความสำเร็จได้ ก็เคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก่อน
สำหรับเขาแล้ว การค้าขายไม่ใช่งานที่จะสมบูรณ์ลงตัวได้อย่างอัตโนมัติ แต่เป็นอาชีพที่เหมาะสมกับตัวตนของเขา ผ่านความผิดพลาดในการลงมือทำนับครั้งไม่ถ้วน
และกลุ่มพ่อค้าหนุ่มไม่เพียงแต่ชี้ทางให้ใช้สิ่งง่าย ๆ เพื่อช่วยในการเปิดร้าน แต่ยังปลูกฝังถึงความสำคัญของการเป็นทีมเวิร์คกับจิตสำนึกสาธารณะผ่านการให้คำปรึกษา
โดยมีร้านกาแฟหน้าวัดที่เป็นจุดรวมไอเดียของพ่อค้าหนุ่ม เป็นที่รับรองให้ความช่วยเหลือคนในชุมชน เกิดการค้าในหมู่บ้านมากกว่า 70% เป็นร้านที่มีแค่โต๊ะตัวเดียวอันทำให้เกิดการเผชิญหน้าพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เกิดความคิดสร้างสรรค์แลกเปลี่ยนกันกับคนในชุมชนได้
ด้วยความจริงใจของคนรุ่นใหม่นี้เอง พื้นที่สร้างสรรค์แบบนี้ทำให้บรรดาช่างศิลป์ในหมู่บ้านมารวมตัวกัน กลุ่มพ่อค้าไม่เพียงแค่ค้าขายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรับผิดชอบในการสร้างวัฒนธรรมของหมู่บ้านขึ้นมาอีกด้วย ผ่านการประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์รายเดือน คนมาเยือนไม่ขาดสาย
ผมมอบความประทับใจ และในขณะที่ทำงาน ผมก็ได้รับความประทับใจกลับคืนมา
🪄 จากการอ่านในพาร์ทของคีย์เวิร์ดนี้ จึงทำให้รับรู้ถึงมุมมองของการทำธุรกิจขนาดเล็กของแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มก้อน อันล้วนเกิดการจากการมีไอเดียสร้างสรรค์และพร้อมจะอยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลท์อันจะเผยให้เห็นความระยับของเอกลักษณ์เฉพาะตัวของธุรกิจเล็ก ๆ เหล่านั้น
ในคีย์เวิร์ดนี้ พาไปสำรวจธุรกิจขนาดเล็กในอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เราเห็นว่า ที่อเมริกามีคนที่สนใจทำธุรกิจประเภทนี้ สิ่งสำคัญจากการอ่านเราสามารถรับรู้ได้ว่า ขอแต่เพียงมีไอเดีย สามารถค้นพบคุณค่าใหม่พร้อมทั้งแสดงมันออกมา
ไม่ว่าจะเป็นงานขายไหมพรม หรืองานให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโภชนาการ งานชมรมอันมีส่วนสำคัญของซิลิคอนแวลลีย์ ความสำเร็จนั้นก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ แม้จะใช้เงินจำนวนเพียงน้อยนิดอย่างที่คริส กิลเลอโบพูด แต่มันก็เป็นไปได้
และเมื่อมองกลับมายังเกาหลีใต้ กลุ่มพ่อค้าหนุ่มไม่เพียงแต่ทำการขายสินค้าเท่านั้น แต่ส่วนสำคัญอันเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จทางด้านธุรกิจของพวกเขาคือการรวมตัวเพื่อสานต่อวัฒนธรรมการค้า สร้างวัฒนธรรมของหมู่บ้านด้วยสิ่งรายล้อมรอบตัว ด้วยการร่วมใจจากเพื่อน ๆ ไปสู่การร่วมใจของผู้คนทั้งหมู่บ้าน
จบไปแล้วทั้ง 6 คีย์เวิร์ดสำคัญ “แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้” by อ.คิมรันโด
  • FUTURE 💯✨
คีย์เวิร์ดของภาคต่อในเล่มที่สอง🪄
  • ส่วนของรีวิวหนังสือเล่มนี้ 100% ขอสรุปมาเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้:
- จากการอ่านครบทุกหน้า ทุกคีย์เวิร์ด ของแอดมิน สิ่งสำคัญที่สุดมันคือการเปิดโลกของงานแห่งอนาคต รู้สึกว่าหนังสือถ่ายทอดให้เห็นโลกของงานแต่ละประเภท งานสำคัญเช่นไร และที่สำคัญมันทำงานกับเราในเรื่องที่ว่าเราหาจุดสมดุลและความพึงพอใจจากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ได้หรือไม่ หรือ work-life balance ที่คนในยุคนี้กำลังโหยหากันมาก เป็นไปได้ว่ายิ่งเราโหยหามากขึ้น มันก็ยิ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในงาน
- เป็นหนังสือจิตวิทยาและพัฒนาตนเองที่เหมาะสำหรับคนทำงานมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านเพื่อให้เข้าใจการทำงานของคนเรา งานแปลก ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือเพื่อเติมเชื้อไฟและแพสชั่นในการทำงานที่กำลังลดลงหรือเพื่อเพิ่มเอเนอจี้ให้มีแรงทำงานเพิ่มขึ้นก็ดีเช่นกัน นับว่าเป็นการจุดประกายไอเดีย ความสร้างสรรค์ ไม่มากก็น้อย หรือว่าเราควรจะกลับไปสู่ถิ่นฐาน ไปเป็นคันทรีบอยดีไหม นั่นก็น่าครุ่นคิดค่ะ
- อีกทั้งยังเหมาะสำหรับหนุ่มสาวผู้จบการศึกษามาใหม่ ๆ จริง ๆ แล้วเล่มนี้ชี้ให้เห็นถึงสถิติของการเข้าเรียนในหลักสูตร ทั้งนักศึกษาผู้จบใหม่ และตัวเลขของความสำเร็จหรือล้มเหลวของการทำงาน(แต่เป็นเพียงแค่ส่วนนึงของการสำรวจในประเทศที่นักเขียนเขียนถึงและที่เกาหลีเป็นหลักเท่านั้น) และเพื่อเป็นไอเดียสำหรับการทำงานหรืออยากสร้างงานสร้างสรรค์ หรือสร้างธุรกิจเป็นของตนในอนาคต
- ไม่อาจบอกได้ว่าเมื่ออ่านจบเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงงานของเราได้ทันทีทันใด เนื่องจากสภาพ สภาวะชีวิตการทำงานเรื่องจำเป็นและสำคัญ (Priority) ของแต่ละคนนั้นต่างกัน จุดประสงค์หลักในเล่มแอดมินคิดว่าอ่านเพื่อจะพบหนทางที่จะนำเราไปสู่อนาคต แด่วันพรุ่งนี้ของเรา ไม่แน่ว่าหากเราสั่งสมประสบการณ์ทางความคิดเมื่ออ่านเล่มนี้จบ สักวันหนึ่งเราจะสามารถมี “งานของฉัน” ได้อย่างแน่นอน
- เมื่อพูดถึงราคากับจำนวนหน้าหนังสือ ถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ หากคนที่ชอบเปรียบเทียบราคากับหน้า แถมในเล่มยังมีภาพประกอบสีอีกด้วย ทำให้เราอ่านเนื้อไปก็เพลิดเพลินได้ไม่ยาก แต่จุดนึงที่เหมือนจะอ่านได้ยากคือการใช้สีเขียวเข้มเป็นพื้นหลังบนตัวหนังสือสีดำของอินโทรในแต่ละคีย์เวิร์ด
- เรื่องเล่าภายในเล่มนี้ ถูกนำเสนอในรูปแบบสารคดีผ่านการออกอากาศทางช่อง KBS ของเกาหลีใต้ และเวอร์ชั่นหนังสือหมวดจิตวิทยาและพัฒนาตนเอง เมื่ออ่านไปเราก็ได้อรรถรสเหมือนอ่านหนังสือสารคดีนำเสนอข้อมูล แต่คนแปลแปลได้สละสลวยดีค่ะ จึงไม่รู้สึกอึดอัดเวลาอ่านที่เหมือนจะแน่นเอี๊ยดไปด้วยสาระความรู้ แถมยังจรรโลงใจอีกด้วย
- ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์ครั้งที่สามเมื่อปี 2557 แต่เนื้อหาในเล่มก็ยังดูร่วมสมัย ไม่ได้เก่าสักเท่าไหร่(ยกเว้นข้อมูลตัวเลข)
เรียบเรียงการรีวิวได้เพียงเท่านี้ ซึ่งอาจจะไม่เหมือนมุมมองของนักอ่านท่านอื่น เป็นเพียงความเห็นจากการได้อ่านของแอดมินเท่านั้น เมื่อได้ลองอ่านเอง ทุกท่านอาจจะมีมุมมองต่างออกไป
รีวิวนี้อาจจะยาวมาก ขอจบการรีวิวตอนสุดท้ายไว้เพียงแต่เท่านี้ และขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่าน(จนจบ😅)และให้ความสนใจในบทความนี้ค่ะ 🙏
แล้วพบกันใหม่ในบทความรีวิวถัดไป
แด่ วีรบุรุษผู้บุกเบิกทั้งหลาย✨
นักเขียน : อาจารย์คิมรันโด
นักแปล : นาริฐา สุขประมาณ
สำนักพิมพ์ : springbooks
จำนวนหน้า : 255 หน้า
สนนราคาหนังสือ(ปก) : 195 บาท
โฆษณา