17 มิ.ย. 2022 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จีนคลายล็อก พร้อมอัดฉีด จังหวะดีน่าเข้าลงทุน
ช่วงปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนเผชิญแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ส่งผลให้ดัชนีหุ้นจีนปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปีนี้ ภาพของตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มจะแตกต่างออกไปจากแรงกดดันที่ลดลงและมีโอกาสที่หุ้นจีนจะฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง
จีนคลายล็อก พร้อมอัดฉีด จังหวะดีน่าเข้าลงทุน
รัฐบาลจีนขึ้นชื่อว่ามีความชัดเจนเด็ดขาด การออกมาตรการต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การปรับให้กลุ่มติวเตอร์ออนไลน์เป็นกิจการที่ไม่แสวงหากำไร หากมีเนื้อหาการเรียนการสอนทับซ้อนกับเนื้อหาที่สอนในโรงเรียน การจำกัดเวลาและกลุ่มอายุของผู้เล่นเกมออนไลน์ ที่ทำให้ราคาหุ้นของกลุ่มเหล่านี้ปรับตัวลงอย่างรุนแรง
การควบคุมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อให้เกิดกรณี China Evergrande จนมาถึงการใช้นโยบาย Zero Covid อย่างเข้มงวด นำไปสู่การ Lock Down เมืองต่างๆ ในจีน หลังจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 กลับมาเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเงินของจีน ที่ถูก Lock Down นานเกือบ 2 เดือน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งภาคการบริโภคและภาคการผลิต และกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นจีนอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ปัจจัยภายนอกเช่น ประเด็นที่สหรัฐขู่จะถอดหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ (ADR Delisting) ออกจากตลาด และประเด็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นอีกปัจจัยกดดันตลาดหุ้นจีนอย่างหนักหน่วงเช่นกัน
เรียกว่าช่วงที่ผ่านมาหุ้นจีนเผชิญความท้าทายทั้งจากในบ้านและนอกบ้านอย่างต่อเนื่องจนทำให้ปัจจุบัน ดัชนี CSI 300 มี Fwd P/E เพียง 11.7 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ 11.8 เท่า ซึ่งหากมองในแง่ Valuation นับว่า ระดับราคานี้เป็นระดับที่น่าสนใจมากในการลงทุน
ประกอบกับในช่วงนี้เริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายนโยบายจากทางการจีนมากขึ้น ตั้งแต่การเริ่มคลายล็อกเมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา หลังจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และประกาศเตรียมปลดล็อกอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิ.ย. นี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จีนหวังจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากการ Lock Down ให้กลับมาโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนในปีนี้มีมูลค่าสูงถึง 5.3 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP ปี 2021 ที่มีมูลค่า 17 ล้านล้านดอลลาร์ โดยในปีนี้ธนาคารกลางจีน (PBoC) วางแผนจะถ่ายโอนกำไรสะสมจากทุนสำรองระหว่างประเทศ มูลค่ากว่า 1.58 แสนล้านดอลลาร์ ไปยังรัฐบาลกลางเพื่อนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีมีการโอนกําไรไปแล้วประมาณ 8 แสนล้านหยวน เทียบเท่ากับการลด RRR 0.4% การถ่ายโอนกำไรนี้ถือเป็นมาตรการที่เพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จีนใช้ และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเข้าด้วยกัน เพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนบรรลุได้ตามเป้าหมาย
ในขณะที่ยังคงดำเนินมาตรการอื่นๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น ล่าสุด ธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 5 ปี สำหรับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ลง 0.15% สู่ระดับ 4.45% จาก 4.6% ซึ่งนับเป็นการปรับลด LPR ครั้งใหญ่สุดตั้งแต่ปี 2019 และมากกว่าที่ Bloomberg Concensus คาดไว้ ว่าจะปรับลด 0.10%
การปรับลด LPR ครั้งนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า จีนกลับมากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจัง หลังเผชิญกับภาวะซบเซาในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เผยว่า จีนอาจกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้เพื่อดึงให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
ดังเช่นที่ทําในปี 2020 ที่ COVID-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก นำไปสู่การ Lock Down เช่นกัน โดยยังมีงบที่เหลือจากปี 21 อีก 2 ล้านล้านหยวน ที่สามารถนํามาใช้ได้ในปีนี้
นอกจากนั้น ในแง่ของมารตรการคุมเข้มบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีเริ่มมีสัญญาณที่ผ่อนคลายลง โดยได้มีการเจรจาระหว่างภาครัฐและตัวแทนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน เช่น Baidu NetEase และ Qihoo 360 Technologies
โดยรองประธานาธิบดี หลิว เหอ กล่าวว่า ทางการจีนจะสนับสนุนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมการจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหุ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากที่บริษัทในกลุ่มนี้ถูกตั้งกฎเกณฑ์อย่างเข้มข้นตลอดช่วงปีที่ผ่านมา
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีหุ้นจีน Underfperfporm ในช่วงปีที่ผ่านมา เกิดจากแรงกดดันจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ และหากปีนี้รัฐบาลจีนกลับมาผ่อนคลายกฎเกณฑ์และกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังอีกครั้ง ตลาดหุ้นจีนก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ และยิ่งเมื่อพิจารณาจาก Valuation ปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ ยิ่งตอกย้ำว่า หุ้นจีนมีความน่าสนใจมาก
แม้ภาพรวมของตลาดหุ้นทั่วโลกอาจไม่สดใสนัก แต่เชื่อว่าการลงทุนในหุ้นจีนด้วยระดับราคานี้ จะสามารถทนทานต่อความผันผวนได้ และหากตลาดหุ้นโลกฟื้นตัว จีนก็น่าจะเป็น 1 ในตลาดที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ไม่ยากนัก
บทความโดย: ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช
*หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 มิ.ย. 2565
โฆษณา