18 มิ.ย. 2022 เวลา 11:30 • ธุรกิจ
รู้จัก Viettel รัฐวิสาหกิจเวียดนาม ที่มีมูลค่าไม่แพ้บริษัทชั้นนำของไทย
เชื่องช้า ไม่มีประสิทธิภาพ และขาดทุนบ่อย
คือภาพจำที่เรามีต่อรัฐวิสาหกิจ
แต่กับบริษัท Viettel ที่ Billion Money จะพาไปรู้จักในวันนี้ กลับไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะแม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ Viettel นั้น เติบโตอย่างรวดเร็ว
และยังขยายการลงทุนไปจนถึงทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้อีกด้วย
ในปัจจุบันรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมแห่งนี้
มี Market Cap หรือมูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 124,519 ล้านบาท
ซึ่งถ้าหากวันนี้เรานำ Viettel มาวางลงในตลาดหุ้นไทย
จะเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับที่ 36 ของไทยเลยทีเดียว
โดยแรกเริ่มนั้นชื่อของบริษัท Viettel คือ SIGELCO
ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกตั้งขึ้นในปี 1989 โดยกระทรวงกลาโหมของเวียดนาม
เพื่อให้บริการด้านโทรคมนาคมกับหน่วยงานทางทหารเท่านั้น
จนกระทั่งปี 1993 รัฐบาลเวียดนามต้องการที่จะปฏิรูปภาคโทรคมนาคม
ให้มีความเสรีมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายโด๋ยเม้ย ที่เป็นการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ
จากสังคมนิยมที่ทุกอย่างถูกผูกขาดโดยรัฐ ให้เป็นการแข่งขันตามระบบตลาดมากขึ้น
จึงได้เปิดให้ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเข้ามาขอใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจ
โดย SIGELCO ณ ขณะนั้นก็ได้ทำการขอใบอนุญาตเช่นกัน
และได้รับใบอนุญาตในปี 1995 และเปลี่ยนชื่อเป็น Viettel อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
ซึ่ง Viettel ใช้เวลาเพียง 10 ปีในการขึ้นมาเป็นผู้นำแทน VNPT
รัฐวิสาหกิจอีกแห่งที่เป็นเสือนอนกินในตลาดโทรคมนาคมมาอย่างยาวนาน
จากการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า Viettel ไม่ได้จำกัดการเติบโตอยู่ในประเทศเวียดนามเท่านั้น
แต่ยังเข้าไปเป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมในอีก 10 ประเทศ ได้แก่
กัมพูชา, ลาว, เฮติ, โมซัมบิก, ติมอร์-เลสเต, เปรู, แคเมอรูน, บุรุนดี, แทนซาเนีย
และล่าสุดคือประเทศเมียนมา ในปี 2018
1
การลงทุนในต่างประเทศอย่างรวดเร็วของ Viettel ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
เพราะบริษัทลูกของ Viettel ในกัมพูชา, ลาว, โมซัมบิก และติมอร์-เลสเต
ต่างก็สามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ของประเทศเหล่านั้นได้
ส่งผลให้ Viettel มีลูกค้ามากถึง 90 ล้านคน
โดยแบ่งเป็นเวียดนามประมาณ 60 ล้านคน
และในประเทศอื่น ๆ อีกประมาณ 30 ล้านคน
 
โดยผลประกอบการของ Viettel ใน 3 ปีที่ผ่านมาเป็นไปตามนี้
ปี 2019 รายได้ 25,665.35 ล้านบาท ขาดทุน 818.19 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 28,434.48 ล้านบาท กำไร 642.86 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 28,853.15 ล้านบาท กำไร 520.08 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่ารายได้ของ Viettel มีการเติบโตอยู่ตลอด แม้จะมีการขาดทุนในปี 2019
แต่ก็เป็นการขาดทุนจากการลงทุนในตลาดใหม่อย่างเมียนมา
รวมทั้งซ่อมแซมเสาสัญญาณที่เสียหายจากพายุในเฮติ
โดยกลยุทธ์เบื้องหลังความสำเร็จของ Viettel นั้น
หลัก ๆ แล้วมีด้วยกันอยู่ 2 อย่าง นั่นคือ
อย่างแรกคือ การตั้งราคาให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย
เนื่องจากลูกค้าของ Viettel ต่างก็เป็นประชากรในประเทศรายได้ต่ำ
การตั้งราคาที่สูงเกินไปก็อาจทำให้ลูกค้าไม่สามารถเข้าถึงบริการได้
ทำให้การแย่งส่วนแบ่งตลาดเป็นไปได้ยาก
ซึ่งการตั้งราคาให้ถูกกว่าคู่แข่งเช่นนี้
นอกจากจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากแล้ว
ยังเป็นการเจาะเข้าตลาดที่มีการแข่งขันอยู่ก่อนได้อย่างดีด้วย
โดย Viettel จะยอมขาดทุนในช่วงแรก จากการให้โปรโมชัน
แต่ก็แลกมาด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
จนสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ในเวลาไม่นาน
วิธีนี้เองจึงทำให้ Viettel สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจนขึ้นมาเป็นผู้นำ
ทั้งในประเทศเวียดนามเอง และประเทศอื่น ๆ ที่เข้าไปลงทุน
ซึ่งนอกจากกลยุทธ์ด้านราคาแล้ว
Viettel ยังไม่หยุดมองหา “น่านน้ำสีน้ำเงิน (Blue Ocean)” ใหม่ ๆ อีกด้วย
โดยจะเห็นได้ว่าประเทศที่ Viettel เข้าไปลงทุนนั้น
ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีประชากรมาก แต่ระบบโทรคมนาคมยังไม่พัฒนา
ทำให้ Viettel มีโอกาสขยายฐานลูกค้าได้อีกมาก
โดยไม่ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่เก่งกว่ามาก หรือการแข่งขันที่ดุเดือด
จากทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่า
กลยุทธ์การทำธุรกิจของ Viettel
ค่อนข้างคล้ายคลึงกับการทำธุรกิจของสตาร์ตอัปมากทีเดียว
เพราะฉะนั้นรัฐวิสาหกิจและบริษัทของไทย
ที่กำลังจะออกไปลงทุนยังต่างประเทศในอนาคต
อาจต้องปะทะกับคู่แข่งจากเวียดนาม ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้..
โฆษณา