17 มิ.ย. 2022 เวลา 02:27 • ข่าว
จุดจบ "เรือดำน้ำ" ซื้อเรือ-ไร้เครื่อง เดิมพัน "ทัพเรือ" 60 วันชี้ชะตา
มีความเป็นไปได้สูงที่การจัดซื้อ เรือดำน้ำ S26T (Yuan Class) ของ "กองทัพเรือไทย" จะไม่ได้เครื่องยนต์ MTU 396 ตามสเปกที่ต้องติดตั้งมากับตัวเรือ เพราะล่าสุด บริษัท CSOC แจ้งว่าได้ใช้ความพยายามในการเจรจา กับบริษัท MTU สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทั้งในระดับ บริษัท-บริษัท รัฐบาล-รัฐบาล และช่องทางทางการทูต ในการจัดหาเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงได้
1
พร้อมเสนอเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่น CHD 620 ให้ "กองทัพเรือ" พิจารณาทดแทนรุ่น MTU 396 และยืนยันถึงประสิทธิภาพว่า เทียบเท่ากับ MTU แต่ฝ่ายไทยยังยืนยันต้องเครื่องยนต์ต้องเป็นไปตามสัญญาที่ได้ลงนามใน MOU เท่านั้น แม้ปัจจุบันสัญญาการส่งมอบถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2567 แล้วก็ตาม
อีกทั้งทางฝ่ายเยอรมนีได้ออกมาชี้แจงแล้ว ไม่เคยได้รับการติดต่อจากประเทศจีน เพื่อซื้อเครื่องยนต์ MTU สำหรับติดตั้งเรือดำน้ำที่ขายให้กับประเทศไทย
ขณะที่ "จีน" พยายามเปิดเกมบีบ "กองทัพเรือ" ให้ยอมรับเงื่อนไขใน โดยเตรียมข้อเสนอการเพิ่มออปชันแถมอาวุธ และของแถมต่างๆ เพื่อโน้มนาวมิให้ ทร.ไทยปฏิเสธ
รวมถึงมีข้อเสนอเพื่อเป็นการปลอบใจให้ ทร.ไทย โดยจะยก เรือดำน้ำชั้นซ่ง (Song) มือสอง 2 ลำ ให้ทหารเรือได้ฝึก ศึกษา โดยเป็นการเสนอแบบให้เปล่า ในฐานะมิตรประเทศ ซึ่งโครงสร้างภายในเรือใกล้เคียงกับ เรือดำน้ำ S26T ชั้นหยวน เพื่อให้กำลังพลประจำการในเรือดำน้ำ S26T ระหว่างต่อเรือ และรอจัดหาติดตั้งเครื่องยนต์ MTU จากเยอรมนี ก่อนครบกำหนดส่งมอบได้เรียนรู้
จึงเป็นที่รับรู้กันว่าจีนจะไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ได้ตามระบุไว้ในสัญญา ทำให้ทั้งฝ่ายไทยและจีนอยู่ในช่วงกังวลไม่แพ้กัน เพราะกำหนดระยะเวลาส่งมอบเรือดำน้ำลำแรกให้ ทร.ไทย งวดเข้ามาทุกขณะ
ล่าสุดการประชุมระหว่าง พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ
เป็นประธานฝ่ายไทย และ Mr. Liu Song รองประธาน บริษัท CSOC เป็นประธานฝ่ายจีน และมีรองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตจีน ณ กรุงเทพฯ ร่วมในการประชุม ที่อาคารส่วนบัญชาการกองทัพเรือ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ฝ่ายจีนบอกแต่เพียงพยายามเจรจาเพื่อให้ได้มาอย่างดีที่สุด แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ผลสรุป
ขณะที่ พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ออกมาระบุ "กองทัพเรือ" ยังยืนยันเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในข้อตกลงให้ทางบริษัท CSOC จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานการใช้งานจริงในเรือดำน้ำ มีความปลอดภัยในการใช้งานจริง มีการรับประกัน การบริการหลังการขาย และการซ่อมบำรุง ตอบสนองด้านความต้องการใช้งานทางยุทธการของกองทัพเรือ
1
พร้อมขอให้ทางบริษัท CSOC จัดทำข้อเสนอแนวทาง ระยะเวลา และแผนงานการดำเนินการแก้ไขปัญหา ตลอดจนกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบเรือดำน้ำให้ "กองทัพเรือ" พิจารณา ภายใน 60 วัน กำหนด 9 สิงหาคม 2565
จนถึงขณะนี้ดูเหมือน โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T ระหว่างกองทัพเรือไทยกับบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Company หรือ CSOC มูลค่า 13,500 ล้านบาท ด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 3 ระบบ รุ่น MTU396 จากบริษัท Motor and Turbine Union Company หรือ MTU ของเยอรมนี เซ็นสัญญาเมื่อปี 2560 จากเดิมจะได้รับมอบใน 2566 แต่ได้เลื่อนออกไปเป็น 2567 มีโอกาสที่จะไม่ได้สูงมากเกือบ 99%
ถือเป็นบทเรียนของการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ ที่จะได้ของไม่ตรงปก รับเครื่องไม่ตรงสเปก เพราะจนถึงปัจจุบันไม่มีอะไรที่จะบ่งบอกได้ หรือยืนยันได้ว่า เรือดำน้ำไทย จะได้เครื่องยนต์ตรงความต้องการ
เพราะแม้แต่กองทัพนานาชาติ ต่างก็รู้ "กองทัพเรือไทย" อาจมีสิทธิ์ได้เรือดำน้ำ แบบไร้เครื่องยนต์ เพราะจีนไม่ได้ประสานงานกับทางเยอรมนีก่อนลงนามข้อตกลง และฝ่ายเยอรมนียึดตามคำประกาศห้ามส่งอาวุธของสหภาพยุโรป ซึ่งเกิดหลังเหตุการณ์นองเลือดในจัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989
ดังนั้นการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกของ "กองทัพเรือ" อาจเป็นการเสียค่าโง่ และเสียเวลา ที่จะได้ของไม่ตรงปก และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับจีน เพราะหากบริษัท CSOC หาเครื่องยนต์อื่นมาแทน ศักยภาพและความต้องการก็ไม่เท่าเทียมกับเครื่องยนต์ MTU จากจุดนี้อาจถึงขั้นทำให้ลามไปถึงความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับจีน
และการได้เครื่องไม่ตรงปกของเรือดำน้ำไทย ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ทางฝ่ายการเมืองจ้องที่จะฮุบ โดยฝ่ายค้านพร้อมที่จะนำไปเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จึงมีความเป็นไปได้ที่ "กองทัพเรือ" อาจจะต้องฉีกสัญญาเดิม พร้อมกับยอมสูญเงินที่จ่ายไปก่อนหน้าแบบเสียเปล่าด้วย
ผู้เขยน : ยุทธจักรเขียว
กราฟิก : Varanya Phae-araya
👇อ่านบทความเพิ่มเติม👇
โฆษณา