17 มิ.ย. 2022 เวลา 11:53 • ท่องเที่ยว
✈️จะเดินทางไปต่างประเทศ ต้องระวังโรคฝีดาษลิงไหม?✈️
ช่วงนี้มีการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะสถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้น บางสายการบินจึงเริ่มลดมาตรการป้องกันลง
แต่โรคใหม่ๆอย่างฝีดาษลิงนี่ล่ะ เราควรกังวลมากน้อยแค่ไหน?
โชคดีที่โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) นี้ไม่ได้ติดต่อกันง่ายเหมือนโควิด 19 ค่ะ
การติดต่อจากคนที่เป็นโรคสู่คนอื่นๆ โดยผ่านการสัมผัสใกล้ชิด เช่น สัมผัสกับผื่น หรือน้ำหนองในตุ่มพอง การใช้ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าปูที่นอนร่วมกับผู้ป่วย
ถ้าเราระมัดระวังตัวอย่างดี ไม่ไปสัมผัสใกล้ชิดติดตัวกับคนป่วย ก็คงมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยค่ะ
☄️ขณะนี้ฝีดาษลิงมีการระบาดในกี่ประเทศ?☄️
ทั่วโลกมีรายงานคนที่เป็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในมากกว่า 30 ประเทศ ณ วันที่ 15 มิย 65 พบผู้ป่วยจำนวน 1806 ราย
ประเทศ 5 อันดับแรกที่พบฝีดาษลิงมากที่สุด คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส เยอรมัน และ คานาดา
ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิงในประเทศไทย
☄️ทำไมถึงใช้ชื่อ ฝีดาษลิง ( Monkeypox) ?☄️
ไวรัสฝีดาษลิง อยู่ในกลุ่ม Orthopoxvirus
แยกเชื้อ ไวรัสนี้ ครั้งแรก ในปี 1958 จากลิงในห้องทดลองที่สถาบัน Statens Serum Institut เมือง โคเปนเฮเกน ประเทศ เดนมาร์ก ค่ะ
แต่เชื้อนี้ยังพบได้ในสัตว์กัดแทะประเภทอื่นๆด้วย เช่น กระรอก, หนูGambian, หนู dormouse ในทวีปอาฟริกา
หนู dormouse หนึ่งในแหล่งโรคฝีดาษลิง
เชื้อฝีดาษลิงจึงเป็นเชื้อที่ปกติติดต่ออยู่ในสัตว์ แต่เมื่อมีคนไปอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสนี้ เชื้อจึงติดต่อมายังคนได้
เรียกว่า เป็นเชื้อ Zoonosis (โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน)
☄️พบคนเป็นฝีดาษลิงคนแรก เมื่อไร?☄️
รายงานคนที่ติดเชื้อฝีดาษลิง คนแรกในปี 1970 ที่ประเทศ Congo ในทวีปอาฟริกา
และเชื้อก็วนเวียนอยู่แต่ในทวีปอาฟริกา
จนกระทั่งปี 2018 มีผู้เดินทางจากไนจีเรีย ไปประเทศอังกฤษ และได้นำเชื้อฝีดาษลิงไปติดบุคลากรทางการแพทย์
ใน 5 ปีที่ผ่านมามีคนเป็นฝีดาษลิงหลายร้อยรายใน ไนจีเรีย หลายรายเป็นผู้ชายและมีรอยโรคที่อวัยวะเพศ บ่งว่า อาจจะมีการติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัสทางเพศได้
☄️ระยะฟักตัว หลังจากรับเชื้อจนถึงแสดงอาการ คือ 5วัน ถึง 3 สัปดาห์
☄️อาการนำ
ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ําเหลืองโต บางรายมีอาการเจ็บคอ
ต่อมน้ําเหลืองโตถือเป็นลักษณะเด่นที่ทําให้แยกจากโรคไข้ออก ผื่นชนิดอื่นๆได้
☄️อาการแสดงทางผิวหนัง
ตุ่มแดงบนผิวหนัง ผู้ป่วยฝีดาษลิง
จุดที่เชื้อโรคเข้าผิวหนัง จะเกิดตุ่มแดงนูนก่อน แล้วค่อยกลายเป็นตุ่มน้ำใส ต่อมาตุ่มขุ่นเป็นหนอง แล้วจึงแตกออกเป็นรอยบุ๋มตรงกลาง สุดท้ายแผลแห้งตกสะเก็ด
เริ่มต้นตุ่มใส ตุ่มขุ่น ตุ่มหนอง มีรอยบุ๋ม ตกสะเก็ด
ส่วนใหญ่การติดเชื้อจะหายเองได้ในเวลา 2-4 สัปดาห์
แต่ในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ติดเชื้อที่ตา
☄️ลักษณะผื่นและตุ่มของฝีดาษลิง ต่างจาก อีสุกอีใส (chicken pox) อย่างไร?
ผื่นของฝีดาษลิง จะคล้ายกับ ฝีดาษ (small pox) เพราะเกิดจากไวรัสกลุ่มเดียวกัน
ผื่นของฝีดาษจะกระจายที่แขนขามากกว่าลำตัว มีตุ่มที่ฝีมือและฝ่าเท้าด้วย บริเวณที่เกิดตุ่มจะเป็นระยะเดียวกันหมด มีรอยบุ๋มตรงกลาง
ผื่นของอีสุกอีใส จะอยู่บริเวณกลางลำตัว ไม่มีตุ่มที่ฝ่ามือ ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง จะมีตุ่มหลายๆระยะอยู่รวมกัน
ซ้ายมือ ผื่นฝีดาษ หนาแน่นที่แขนขาและหน้า ขวามือ ผื่นสุกใส ผื่นมากที่กลางลำตัว และหน้า
ความแตกต่างสำคัญ คือฝีดาษลิง จะมีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วๆไป หรือโตเฉพาะที่ที่คอ และรักแร้
☄️ไวรัสนี้มี 2 สายพันธุ์ คือ
1.สายพันธุ์ West African Clade อัตราป่วยตาย1%
2. สายพันธุ์ Central African Clade
อัตราป่วยตาย 10%
สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในช่วงนี้คือ West African Clade
☄️ลดความเสี่ยงการติดเชื้อฝีดาษลิง 💥
เมื่อเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด
1.เลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์กลุ่ม หนู ลิง กระรอก กระต่าย และหมูป่า
2.ไม่กินเนื้อสัตว์ดิบๆ ให้ปรุงสุกก่อน
3.หลีกเลี่ยงสัมผัสผู้ที่เป็นโรคฝีดาษลิง
4. หมั่นล้างมือ
5. สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง
6. ติดตามข่าวสาร ถ้าสงสัยให้พบแพทย์ทันที
สรุปและเขียนบทความโดย
พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์
เอกสารอ้างอิง
โฆษณา