17 มิ.ย. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
6 บทเรียนจากหนังเรื่อง The Big Short…จากวิกฤติการเงินในอดีตสู่ตลาดคริปโตฯ ในปัจจุบัน
หนัง The Big Short ซึ่งเป็นหนังที่ได้รับรางวัลออสการ์ในปี 2015 ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในช่วงกลางทศวรรษ 2000
ในช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์การเงินโลกปี 2008 โดยฉายภาพจากหลายมุมมองของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตลาดการเงินและอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ผู้จัดการกองทุน หัวหน้าทีมขายสินเชื่อ ตลอดจนประชาชนธรรมดาๆ
บุคคลสำคัญคนหนึ่งในเรื่องที่จะไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้ คือคุณ Michael Burry ผู้ที่มองเห็นภาพฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่แรก ในวันที่ไม่มีใครเชื่อ เพราะในช่วงนั้นราคาบ้านในสหรัฐฯ ก็ขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และเป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด จนหลังจากที่เกิดวิกฤติขึ้นมาจริงๆ ทุกคนจึงได้ตระหนักถึงคำเตือนของเขา
แล้วเมื่อสักปีก่อน ชื่อคุณ Michael Burry ก็กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อเขาออกมาเตือนเรื่องเงินเฟ้อ และฟองสบู่ในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี แต่ก็ไม่รู้ว่ามีคนเชื่อมากน้อยแค่ไหน หรือว่าจะเป็นเหมือนในอดีตที่คนส่วนมากไม่เชื่อ…จนนำพาให้เกิดวิกฤติการเงินทั่วโลกมาแล้ว
Michael Burry รับบทโดย Christian Bale
เครดิตภาพ : Dimitrios Kambouris/Getty Images North America
📌 อะไรทำให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินในปี 2008
ถ้าเราดูหนังเรื่องนี้จนจบ อาจจะสรุปได้ว่าวิกฤติครั้งนั้นเกิดขึ้นเพราะ “ความโลภ” ของหลายๆ ฝ่าย ในช่วงก่อนปี 2007 - 2008 ราคาบ้านในสหรัฐฯ สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แล้วด้วยความที่อัตราดอกเบี้ยในตอนนั้นก็ต่ำมาก
คนจำนวนมากก็เลยใช้ประโยชน์จากตรงนี้โดยกู้ซื้อบ้านแม้ว่าตัวเองก็รู้ว่าไม่ได้มีสถานะทางการเงินดีพอถึงเกณฑ์ที่จะกู้บ้านไหวในช่วงอัตราดอกเบี้ยและกฎเกณฑ์การกู้ปกติ หรือเรียกว่าผู้กู้ที่เป็นพวกซับไพรม์ ส่วนสถาบันการเงินก็ยอมปล่อยกู้ให้แก่ผู้กู้ที่มีเครดิตไม่ค่อยดีเช่นนี้ก็เพราะมองว่าราคาบ้านยังไงก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี จึงถือเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อย่างดี
แต่แทนที่หนี้จะหยุดอยู่แค่ระหว่างผู้กู้บ้านกับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินกลับนำหนี้เหล่านั้นไปมัดรวมกันแล้วขายเป็นตราสารหนี้ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (mortgage-backed securities : MBS) ให้แก่นักลงทุน แล้วตัว MBS ก็ยังถูกนำไปมัดรวมกับพันธบัตร และหุ้นกู้อื่นๆ เพื่อขายให้แก่นักลงทุนอีกรอบ ที่ทำได้ขนาดนี้ก็เพราะว่าในตอนนั้นกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินค่อนข้างหละหลวมกว่าในปัจจุบัน
2
แต่แล้วเมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการซื้อบ้านก็มาถึงจุดอิ่มตัว ราคาอสังหาริมทรัพย์จึงเริ่มตกลง ผู้คนที่กู้บ้านไปก็เริ่มผิดนัดชำระหนี้ อันที่จริงแล้วปัญหานี้มันก็ควรจะเกี่ยวข้องแค่สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้บ้าน กับผู้กู้บ้าน
แต่อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าหนี้บ้านเหล่านี้ถูกมัดรวมกันแล้วนำไปขายต่อเป็นตราสารหนี้ เมื่อผู้กู้บ้านผิดนัดชำระหนี้ มันจึงกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ต่อกันไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นมูลค่าความเสียหายนับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และความเสียหายนี้ก็ไปแพร่ขยายไปเป็นวงกว้างทั่วโลก
ชาวอเมริกันเกือบ 4 ล้านคนต้องถูกธนาคารยึดบ้านไป หลายคนตกงาน ธนาคารหลายแห่งประกาศล้มละลาย จนกลายเป็นวิกฤติการเงินที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ขึ้นศตวรรษใหม่มา
📌 แล้วเราสามารถเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ได้บ้าง?
ผ่านมาเกิน 10 ปีแล้วนับจากวันที่เกิดวิกฤติการณ์การเงินโลก วิกฤติครั้งนั้นได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการการเงิน กฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินมีความเข้มงวด ธนาคารก็ปล่อยกู้อย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้วิกฤติเช่นนั้นเกิดขึ้นซ้ำอีก ถ้าลองมองย้อนกลับไปจากตรงนี้ วิกฤตินั้นได้สอนบทเรียนต่างๆ แก่เรามากมาย ไม่ว่าจะเป็น
1. การที่ตลาดมองในแง่ดี ไม่ได้การันตีว่ามันจะไม่พัง
ในสถานการณ์ที่นโยบายการคลังช่วยให้เงินแข็งค่า และใช้นโยบายแบบผ่อนคลาย สถาบันการเงินลดกฎเกณฑ์การให้สินเชื่อ เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบในปริมาณมาก ฟังดูแล้วเหมือนเป็นช่วงที่ตลาดกำลังมองในเชิงบวก แต่สถานการณ์เหล่านี้กลับก่อให้เกิดฟองสบู่ที่รอวันแตกได้ ดังนั้นต้องระลึกไว้ว่า
แม้นักลงทุน ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์ทางการเงิน มองไม่เห็นว่าตลาดกำลังจะพัง ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่มีโอกาสจะพังเลย มันแค่อาจกำลังคืบคลานเข้ามาโดยที่ทุกคนไม่รู้ตัวก็ได้
2 อย่าเอาแต่ลงทุนตามคนอื่น โดยไม่ได้ทำการบ้านด้วยตนเอง
ไม่ว่าเราจะลงทุนอะไรก็ตาม จงอย่าหลับหูหลับตาเชื่อตามคำแนะนำของคนอื่นโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดด้วยตนเอง ในโลกธุรกิจและการเงิน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ บางครั้งผู้ที่บอกว่าเชี่ยวชาญ ก็อาจไม่ได้สังเกตถึงสัญญาณอันตรายในตลาด อีกทั้งบางทีเขาก็มีเป้าหมายในการลงทุนในแบบของตัวเอง ที่ไม่ได้เหมือนกันกับเรา
3. อย่าประเมินอะไรต่ำจนเกินไป
ประโยคที่บอกว่า High Risk High Return มันก็อาจทำให้เรารู้สึกอย่างจะลองเสี่ยงดูบ้าง แต่อย่างลืมว่าเราก็ไม่ควรประเมินความเสี่ยงนั้นต่ำเกินจริง
4. ต้องรู้จักกระจายความเสี่ยง
“อย่าวางไข่หลายใบไว้ในตระกร้าเพียงใบเดียว” คำพูดนี้ใช้ได้เสมอในทุกวิกฤติ เราไม่ควรจะเอาเงินทั้งก้อนไปลงทุนอยู่ที่เดียว แม้ว่ามันจะให้ผลตอบแทนสูงแค่ไหนก็ตาม
5. อย่าโลภ หมั่นสังเกตสถานการณ์อยู่ตลอด
แม้เราจะมองเห็นว่าตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ก็อย่าเพิ่งโลภจนเกินไป เพราะมันสามารถกลายเป็นขาลงได้ทุกเมื่อ เราต้องมีความกระตือรือร้นที่จะสังเกตสัญญาณต่างๆ ในตลาด ไม่ว่าจะเป็นเชิงลบหรือเชิงบวกก็ตาม แต่ถ้าเราปล่อยให้ความโลภเข้าครอบงำ เรามักจะมองไม่ค่อยเห็นร่องรอยนี้สักเท่าไหร่
6. จงมองไปในระยะยาว
อย่าพยายามคิดหาทางรวยภายในชั่วข้ามคืน เพราะมันคงเป็นไปได้ยากและมีความเสี่ยงมากมาย แต่จงมองไปถึงการลงทุนในระยะยาว เพราะมันมักจะให้ผลตอบแทนมากกว่าในระยะสั้นเสมอ
ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้นักลงทุนทุกท่านในขณะนี้ ที่กำลังลงทุนอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและวิกฤติมากมาย ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เชื่อ และศรัทธาในคำเตือนของคุณ Michael Burry หรือไม่ แต่อย่างน้อยประโยคนี้น่าจะใช้เตือนสติได้เสมอ
1
เพราะไม่มีใครมองเห็นฟองสบู่ นั่นแหละจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟองสบู่
("No one can see a bubble. That's what makes it a bubble.)
Michael Burry
1
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : Paramount Pictures

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา