24 มิ.ย. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
The Wolf of Wall Street เมื่อหมาป่าล่อแมงเม่าเข้าตลาดหุ้น
3
The Wolf of Wall Street น่าจะเป็นหนังที่เล่าเรื่องราวในวงการการเงินและตลาดหุ้นได้ดุเดือดและบ้าบิ่นที่สุดเรื่องหนึ่ง โดยถ่ายทอดผ่านตัวละครหลักคือ คุณ Jordan Belfort ที่ใช้ชีวิตโดยมีเงินเป็นเป้าหมายอันสูงสุด
เขาเริ่มงานในสายการเงินด้วยการเป็นโบรกเกอร์ขายหุ้นที่ L.F. Rothschild บน Wall Street ถนนซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก
ฉากหลังของเรื่อง เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในตลาดหุ้น และเหตุการณ์นี้เองที่เป็นเหมือนจุดพลิกผันครั้งสำคัญในชีวิตคุณ Jordan Belfort
Bnomics จึงอยากจะมาอธิบายความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่แฝงอยู่ในหนังเรื่องนี้ เผื่อว่าใครที่ลองกลับไปเปิดหนังเรื่องนี้ดูอีกครั้ง จะเข้าใจฉากต่างๆ ได้มากกว่าเดิม
📌 เหตุการณ์ Black Monday…วันโลกาวินาศของตลาดหุ้น
ในตอนต้นเรื่อง เราจะเห็นว่าคุณ Jordan Belfort ทำงานสักพักจึงสอบผ่านได้ใบอนุญาตเป็นโบรกเกอร์ขายหุ้น แต่โชคร้ายที่วันเริ่มงานวันแรกในฐานะโบรกเกอร์ที่มีใบอนุญาต คือวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 1987 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ Black Monday
1
มันก็เป็นเหมือนวันจันทร์ธรรมดาๆ วันหนึ่ง แต่สำหรับนักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงิน วันนั้นเป็นวันที่หลายคนสูญเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต หลายคนตกงาน เมื่อดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 508 จุด หรือกว่า 23% ส่วนดัชนี S&P 500 ก็ร่วงกว่า 20.4% ภายในวันเดียว
1
Jordan Belfort ตัวจริง | เครดิตภาพ : Michael Loccisano via The Independent
ถ้าถามว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก่อนหน้า ตลาดหุ้นถึงได้ร่วงระนาวขนาดนั้น ก็เพราะว่าเหตุการณ์หลายๆ อย่างก่อนหน้า ก่อให้เกิดบรรยากาศความกังวลในหมู่นักลงทุนพอดี ไม่ว่าจะเป็น การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่มากขึ้น จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า สหรัฐฯ อาจต้องปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง
การที่บริษัทซื้อขายหุ้นใน Wall Street หลายๆ แห่ง เริ่มเทรดโดยใช้คอมพิวเตอร์ โดยที่การซื้อขายนั้นจะถูกดำเนินการอัตโนมัติโดยดูจากระดับดัชนีราคาอ้างอิงของหุ้นนั้นๆ แน่นอนว่าเวลาที่ราคาหุ้นกำลังขึ้น มันช่วยทำให้เราสามารถออกคำสั่งซื้อได้มากขึ้น แต่หากราคาลง มันก็สามารถออกคำสั่งขายได้ในปริมาณมาก และรวดเร็วเช่นกัน
1
Jordan Belfort แสดงโดย Leonardo Dicarprio
ประกอบกับในช่วงนั้น ประเทศคูเวต และอิหร่าน เกิดความไม่ลงรอยกัน จนทำให้อุปทานน้ำมันเกิดขาดแคลน ก็ยิ่งพาให้นักลงทุนเกิดความกระวนกระวายใจเข้าไปใหญ่ เมื่อทุกองค์ประกอบเข้าล็อคกันอย่างลงตัว การเทขายหุ้นอย่างหนักจึงเกิดขึ้นภายในวันเดียว แต่ใช้เวลากว่า 2 ปี กว่าที่ตลาดจะกลับไปยังจุดเดิมก่อนวัน Black Monday
📌 Penny Stock…ถ้าอยากรวยต้องกล้าเสี่ยง?
ทีนี้ในหนังก็ได้เล่าเรื่องราวหลังจากเหตุการณ์ Black Monday ที่คุณ Jordan Belfort ไปรู้จักกับหุ้น Pink sheets หรือ Penny Stock ที่เรียกแบบนี้เพราะมันมักจะเป็นหุ้นที่ซื้อขายกันในราคาต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ต่อหุ้น
แล้วก็เป็นหุ้นของบริษัทขนาดเล็กๆ ที่คนไม่ได้เทรดบ่อยๆ ไม่ค่อยมีสภาพคล่อง ไม่มีคนพร้อมรอซื้ออยู่ในตลาด นักลงทุนส่วนมากที่เข้าใจเรื่องนี้ดีจึงมักจะไม่ค่อยอยากซื้อ เพราะมันขายยาก และราคานั้นก็อาจจะไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นอีกด้วย
2
ดังนั้นคนที่ซื้อ Penny stock ถ้าไม่ใช่คนที่ไม่ค่อยมีความรู้มากนัก ก็คือคนที่ยอมรับความเสี่ยงสูงได้และเก็งกำไรหุ้นนี้โดยหวังว่าราคาจะขึ้นแบบมหาศาล หรือจะเรียกว่านักพนันก็ยังได้ เพราะหุ้นชนิดนี้มีความผันผวนและความเสี่ยงสูงมาก คุณอาจจะได้กำไรจนปิดหนี้บ้านได้ หรือไม่ก็สูญเสียเงินเก็บที่นำมาลงทุนทั้งหมดเลยก็เป็นได้
1
📌 กลยุทธ์ Pump and Dump…ใครลุกช้าจ่ายรอบวง
ในหนัง คุณ Jordan Belfort ใช้เทคนิคการพูดจาหว่านล้อมที่ยอดเยี่ยมเพื่อชักจูงให้คนเข้ามาซื้อ Penny Stock แม้ว่ามันจะไม่ใช่หุ้นที่มีพื้นฐานดีอะไร หรือที่เขาเปรียบเทียบอย่างเย้ยหยันว่าเป็นการ “ขายขยะ”
3
กลยุทธ์ที่เขาใช้ เรียกว่า Pump and dump คือการโทรไปหาลูกค้า หรือถ้าเป็นสมัยใหม่หน่อยก็เป็นการหาลูกค้า (หรือเหยื่อ) ผ่านทางออนไลน์ โดยหลอกว่ารู้ข้อมูลวงในเกี่ยวกับบริษัทแห่งนี้ว่าราคาหุ้นจะเติบโตเป็นอย่างมาก แต่ก็อย่างที่บอกว่าหุ้นเหล่านี้ไม่ค่อยมีสภาพคล่อง ไม่ค่อยมีคนซื้อขาย
ดังนั้นเมื่อมีปริมาณการซื้อเข้าไป ราคาก็จะพุ่งสูงขึ้นทันที ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นให้คนที่ซื้อตอนแรกอยากซื้อเพิ่ม แล้วก็มีคนต่อๆ มาอยากซื้อตามเพราะหวังรวยทางลัดบ้าง แต่เมื่อหุ้นราคาขึ้นไปมากพอถึงจุดหนึ่งแล้ว โบรกเกอร์ก็จะทุ่มขายหุ้นทำกำไร ทำให้ราคาหุ้นร่วงลงไปต่ำกว่าราคาขาย ซึ่งส่งผลให้คนที่ขายไม่ทันต้องขาดทุนอย่างหนัก
1
ถ้าลองมองดีๆ กลยุทธ์นี้อาจจะดูคล้ายกับทฤษฎีคนโง่กว่า หรือ Greater fool theory ที่คุณ Bill Gates ยกขึ้นมาเพื่อเตือนคนที่อยู่ในตลาด NFT และคริปโตเคอร์เรนซี
2
ในปัจจุบัน อธิบายง่ายๆ เลย ทฤษฎีนี้ตั้งอยู่บนที่ว่าราคาสินทรัพย์นั้นสูงขึ้นได้เพราะมีคนโง่เข้ามาซื้อ และขายต่อให้กับคนที่โง่กว่า ซี่งราคาที่เราเห็นว่าสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้นก็เพราะมีคนที่โง่กว่าเข้ามาซื้ออยู่เรื่อยๆ (ขออนุญาตแปลตามความหมายของทฤษฎี ไม่ได้มีเจตนาจะชี้แนะหรือว่ากล่าวใคร - ผู้เขียน)
3
ถ้าฟังแบบนี้แล้วก็น่าคิดว่า สิ่งที่คนในอดีต กับคนในปัจจุบันมีคล้ายกันคือ ความหวังที่จะรวยทางลัด รวยในชั่วข้ามคืน ทำให้ยังคงมีสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ในลักษณะนี้ยังออกมาอยู่เสมอ ดังนั้นก่อนจะลงทุนอะไรคุณควรจะลองศึกษาถึงพื้นฐานของมันให้ดีก่อนแล้วพิจารณาว่ามูลค่าที่เห็นนั้นใช่มูลค่าที่มันควรจะเป็นหรือเปล่า
ตราบใดที่ยังมีคนโลภ และหวังรวยชั่วข้ามคืนอยู่ ก็จะมีคนอย่าง Jordan Belfort ที่ยังคงหาทางหลอกพานักลงทุนหน้าใหม่ให้กลายเป็น “แมงเม่าบินเข้ากองไฟ” ในตลาดหุ้นอันร้อนแรงได้อยู่เสมอ…
1
“ทำงาน ทำงาน ทำงาน
จงทำงานไปจนกว่าตัวเลขเงินในบัญชีจะมีหน้าตาเหมือนเบอร์โทรศัพท์
Jordan Belfort
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : Paramount Pictures Studios

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา