18 มิ.ย. 2022 เวลา 01:09 • ปรัชญา
จิตของคนเรานั้นมีอารมณ์มีความอยาก ที่เรียกว่า ตัณหา ภาวะตัณหา วิภาวะตัณหา คือมีความอยาก ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา ได้มาแล้วยินดีพอใจในฐานะนั้น แล้วก็ทะเยอทะยานต่อไปอีก มันวนเวียนอยู่อย่างนี้ หรือ ว่ามีความอยาก.ได้อยากมี แต่ไม่สมหวัง หรือใครมาขัดขวางความอยากของตน..ก็โกรธโมโหรำคาญ หงุดหงิด ไม่พอใจไม่ชอบใจ
มันจึงมีคำว่า ตัณหาพาโลภพาโกรธพาหลง มันวนเวียนอยู่ในเรื่องนี้ เป็นอารมณ์นำพาจิตไปยึด เมื่อจิตมันไปยึด ..จิตมันก็สั่งกาย ให้เคลื่อนที่ไป วิญญาณทั้งหกก็เคลื่อนที่ ไปหาวิธีเพื่อจะเอาสิ่งที่จิตนั้นยึด ไปหยิบไปจับเกิดขึ้น
เหมือนว่าอยากได้เพชรที่ตนไม่มี เมื่ออยากได้มากเข้าๆ มีความโลภอยากได้ มันก็รู้ว่าวิธีที่จะได้เพชรมาต้องทำอย่างไร ทำงานเก็บเงิน แทงหวย ..หรือ ว่าไปหาวิธีแผลงๆ คิดฉกชิงวิ่งราว มันก็อยู่ที่นิสัยสันดาน คิดดีทำดี คิดชั่วทำชั่ว เรื่องพวกนี้มันก็เลย ต่อเนื่องมาถึงไปถึงว่าสมปรารถนา หรือ ไม่สมปรารถนาเกิดขึ้น ได้มาก็ทุกข์ ไม่ได้ก็ทุกข์
หากได้เพชรมา ก็เป็นทุกข์อีก ต้องคิดหาที่เก็บ หาที่ซ่อน จิตปุถุชนย่อมคอยมอง คอยนึกเฝ้าถึงเพชร จะหายไปไหน ยังอยู่มั้ย จิตมันเฝ้ามันยึดของมันเอง บางครั้งก็บอกว่าไม่ยึดหรอก แต่ถ้าใครไปหยิบฉวย ก็โกรธโมโห อารมณ์พวกนี้ความโกรธความโมโห ก็พร้อมรับใช้ให้บริการแก่จิตที่ไปยึดถือวัตถุนั้น
เรื่องราวพวกนี้ มันก็เป็นเรื่องที่เค้าเรียกว่า โลกธรรม ที่จิตผู้ใดไปยึดถือเรื่องโลกธรรม ด้วยความอยาก เป็นบ่วงคล้องจิตให้ตกอยู่ในโลกธรรม เรื่องตัณหา ภาวะตัณหา วิภาวะตัณหา ย่อมเกิดขึ้น ทะเยอทะยานไปอยู่วงจรโลกธรรม ที่ล้วนเป็นอารมณ์ทั้งนั้น
สิ่งต่างๆ นั้นไหลมาแต่เหตุ เหตุที่เราไปยึดไปถือ นำเข้ามาสู่จิต จิตมันก็มีภาระต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ..เมื่อหยุดเหตุ เหตุที่จิตไปยึดถือ..นั้นออกไป ..จิตก็ไม่มีภาระ..ไม่มีอารมณ์ ที่พัวพันอยู่ในวัตถุสิ่งของ ..โลกธรรม คือ จิตที่สามารถหยุดยั้งความอยาก ละมันออกไป จิตก็เป็นสุข
เมื่อทำได้ ..จิตก็ไม่มีกรรมไม่มีภาระ..ไม่เป็นทุกข์ที่จะต้องมีอารมณ์โกรธโมโห หรือ ไปเฝ้าวิตกกังวลในเรื่องราวของความอยาก ที่จริงก็เรื่องความโลภความยึดถือของเรานั้นเอง ที่เราไม่เคยหยุดยั้งได้เลย มักก็วนเวียนดึงจิตให้อยู่ในห่วงอบายมีแต่ทุกข์ เหมือนวิ่งวนอยู่รอบเขา หาทางออกไม่ได้เลย
เมื่อจิตเรานั้นมันมีความยึดถือในทรัพย์สมบัติสิ่งของ ลาภยศ จิตมันแคบ เค้าจึงบอกกล่าวให้สละวัตถุปัจจัยที่เราหามาด้วยความเหนื่อยยาก จิตมันยึดวัตถุปัจจัย เราก็ฝึกสละแบ่งปันปัจจัยที่หามาได้ สละเล็กๆน้อยๆให้เป็นทานเป็นบุญกุศล จิตจะได้กว้างขวาง ไม่คับแคบ..จิตจะได้ไม่ไปเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์
เรื่องราวตัณหา ภาวะตัณหา วิภาวะตัณหา เราก็ไปดูในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพิ่มเติม แล้วเราก็เอามาเปรียบเทียบ เรื่องราวของความอยาก ..อยากมี อยากไป.ก็ไปหาตัวช่วย เช่น ท่องเวทมนต์คาถา หาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ….อะไรมากมาย มันทำให้ละตัณหา ภาวะตัณหา วิภาวะตัณหาได้มั้ย เค้าบอกให้ปล่อยวาง ..แล้วที่ไปเอามาท่อง..เอามายึดนั้น จิตมันปล่อยวางตรงไหน ..มันก็เลยมีแต่กรรมมากขึ้น
มีผู้พูดให้ฟัง ว่า..คำว่า พระ..มาจากคำว่า พอละ เมื่อพอละ..จิตก็จะเป็นพระ..จิตก็อาศัยเรือนกายของคุณบิดามารดา อยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (สงฆ์พระอัครสาวก สังโฆโพธิญาณ) เป็นที่พึ่ง
พระพุทธเป็นพ่อธรรม พระธรรมเป็นแม่ธรรม พระสงฆ์ เป็นพี่เลี้ยง..เป็นผู้ให้เราเห็นแนวทางสร้างบุญกุศลบารมีเดินตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ชำระสะสาง ลดละอารมณ์ต่างๆ ในจิตนี้พ้นทุกข์
โฆษณา