18 มิ.ย. 2022 เวลา 11:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Metaverse: เหรียญสองด้านที่เราต้องตระหนักไว้
1
ตั้งแต่ปลายปี 2021 ที่ Facebook เปลี่ยนตัวเองไปเป็นบริษัท Meta คำว่า “metaverse” หรือที่ราชบัณฑิตยสภาฯ ได้บัญญัติไว้เป็นภาษาไทยอย่างโก้เก๋ว่า “จักรวาลนฤมิต” ก็โด่งดังเป็นพลุแตกในทุกวงการ ทั้งแวดวงธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ ศิลปะบันเทิง มิได้จำกัดแต่แวดวงเทคโนโลยีเท่านั้น สะท้อนจาก Google Search ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วปลายปีที่แล้ว ดังแสดงให้เห็นในรูปที่ 1
2
แม้กระแสจะตกลงไปบ้างในช่วงหลัง แต่ก็ยังคงเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่หลายบริษัททั้งยักษ์ใหญ่จนถึง startup ทั่วโลก กำลังเร่งพัฒนาไม่เว้นแม้ในประเทศไทย อาทิ Metaverse Thailand, T-Verse, Velaverse, Jakaverse, Translucia เป็นต้น
รูปที่ 1: ความสนใจในคำว่า “metaverse” สะท้อนจาก Google Search
อันที่จริง ผู้เขียนได้เคยเขียนเกี่ยวกับ metaverse ในบทความ “Metaverse โลกมายาเสมือนจริง” ไปแล้วตอนที่คำนี้โด่งดังมาก โดยได้ชี้ให้เห็นว่า metaverse ก็เหมือนทุกสิ่งในโลก
1
นั่นคือ เป็นเหรียญสองด้าน มีทั้งด้านบวก อาทิ ในแง่การเป็นระบบนิเวศใหม่ (ecosystem) ทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจและผู้คนมากมาย และด้านลบ อาทิ ในแง่มุมทางจิตวิทยาที่อาจทำให้ผู้คนตกอยู่ในโลกเสมือนจนลืมวันลืมคืน
1
มาวันนี้ ผู้เขียนจึงขอขยายความเพิ่มเติมจากผลการศึกษาในงานวิจัยใหม่ ๆ เพื่อทำให้เหรียญทั้งสองด้านชัดขึ้น โดยเฉพาะในด้านลบที่ผู้คนไม่ค่อยพูดถึงกันใน วันนี้ครับ
3
งานวิจัย เช่น Lee et al. (2021) ชี้ให้เห็นว่า การมี metaverse จะช่วยสร้าง ecosystem ใหม่ ซึ่งเป็นโลกเสมือนที่จะมีมูลค่าเพิ่มจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันที่เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนนี้ โดยจะมีผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ คู่ขนานไปกับผู้ผลิตและนักพัฒนาที่จะเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ มากมาย และจะเข้ามาสร้างนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ
อาทิ การต่อยอดระบบการเงินในโลก DeFi การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบดิจิทัล ตลอดจนการสร้างที่พักผ่อนหย่อนใจรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับผู้คนแบบเสมือนจริง เช่น การชมภาพยนตร์ คอนเสิร์ต หรือแม้แต่การสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ที่อยู่อีกฟากโลกหนึ่งแบบสามมิติก็เป็นได้ และยังอาจทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ เช่น นักกฎหมาย smart contract วิศวกร blockchain นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้จัดงานในโลก Metaverse
2
เพื่อคว้าโอกาสใหม่ ๆ ดังกล่าว ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องปรับตัวและโอบรับประโยชน์ให้มากที่สุดในเทคโนโลยีใหม่นี้ ที่จะเห็นได้ชัด เช่น การฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ หรือเปลี่ยนแปลงทักษะ (upskill/reskill) เพื่อรองรับอาชีพใหม่ ๆ ที่จะเกิดข้างต้น
ขณะที่บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ก็ควรวางกลยุทธ์ไว้ให้ดีว่าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี metaverse ได้อย่างไร เพราะยังสามารถนำเทคโนโลยี metaverse มาใช้ควบคู่กับการทำธุรกิจในโลกจริงได้ หรือจะลงทุนซื้อที่ดินในโลกเสมือนเพื่อการทำธุรกิจเองเลยก็ย่อมได้
3
อย่างไรก็ตาม มองไปในระยะยาวที่ metaverse พัฒนาอย่างเต็มที่และเป็นที่นิยมในสาธารณชนทุกหมู่เหล่าแล้ว metaverse ก็จะสร้างความท้าทายได้เช่นกัน นอกจากความท้าทายด้านบุคคลและสังคม เช่น ด้านจิตวิทยา ด้านสุขภาพกาย ดังที่ผู้เขียนได้เขียนในบทความครั้งก่อนแล้ว ยังสามารถส่งผลในอีก 2 ประการสำคัญ ได้แก่
1
  • ด้านจริยธรรมและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
1
ทุกวันนี้ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา ๆ ท่าน ๆ หรือที่เรียกกันว่า digital footprint เป็นดั่งขุมทรัพย์ของโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว และไม่แตกต่างกันสำหรับ metaverse เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเจ้าของ metaverse ในการดึงดูดให้คนเข้าไปใช้งานมากและนานที่สุด
2
โดย metaverse แต่ละแห่งก็จะมีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเช่นกัน และอาจเกิดการใช้ข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นในทางที่เราไม่ได้ยินยอมได้ เช่น เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาไปข้างหน้าอีก อาจมีหลักฐานทางชีวภาพอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีแต่ลายนิ้วมือหรือการสแกนใบหน้าแบบในปัจจุบัน
นอกจากนี้ “การขโมยตัวตน (identity theft)” ก็เป็นประเด็นท้าทายที่ต้องตระหนักไว้อย่างยิ่ง เพราะลองจินตนาการดูว่า ลำพังการทำธุรกรรมใด ๆ ระหว่างตัวตนสมมติบน metaverse ก็ตรวจสอบได้ยากอยู่แล้วว่า คนที่เราทำธุรกรรมด้วยเป็นคนที่ใช้บัญชีนั้น ๆ อยู่จริงหรือไม่
การใช้เทคโนโลยี เช่น VR deep fake avatars ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างตัวตนสมมติบนตัวตนสมมติของเราอีกทอดหนึ่ง ย่อมเปิดโอกาสให้เกิดการขโมยตัวตนกันได้ง่ายขึ้นไปอีก และเอื้อให้มิจฉาชีพสวมรอยเพื่อการทำธุรกรรมบางอย่างที่อาจต้องใช้ credibility ของผู้ขาย เช่น การปลอมตัวเป็น avatar ของศิลปินชื่อดังเพื่อขายงานศิลปะในโลก metaverse เป็นต้น
1
  • ความเสี่ยงในการลงทุนและเกิดภาวะฟองสบู่แตก
1
ดังที่ ผศ. ดร.วรประภา นาควัชระ และ รศ. ดร.คณิสร์ แสงโชติ ได้อธิบายไว้ใน PIER Research Brief ครั้งที่ 1/20226 ว่า เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น คนจะสนใจและตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนั้น ๆ มาก ตลอดจนการสร้างความคาดหวังที่เกินจริง ตาม Gartner Hype Cycle
1
เพราะในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีใครสามารถทราบถึงศักยภาพที่แท้จริงของเทคโนโลยีนั้น ๆ ได้ ต้องรอให้เวลาผ่านไปสักช่วงหนึ่งก่อน ให้เทคโนโลยีนั้น ๆ ได้รับการสร้างและมีการใช้งานจริงไปสักพัก ผู้คนจึงจะเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเทคโนโลยีนี้ใช้ทำอะไรได้ดี และใช้ทำอะไรไม่ได้ดี มีโอกาสและความเสี่ยงที่แท้จริงอย่างไร เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว ศักยภาพที่แท้จริงของเทคโนโลยีนั้น ๆ จึงจะเกิดขึ้นได้ตามความเป็นจริง
ทั้งนี้ เราสามารถนำ Gartner Hype Cycle นี้มาพิจารณาการลงทุนในที่ดินของ metaverse เช่น การสร้างดัชนีราคาที่ดิน (LAND NFT) ใน The Sandbox โดยใช้ราคาที่ดินทั้งหมด (All-Sales Index) และวัดให้แม่นยำขึ้นโดยใช้ดัชนีราคาที่ดินแบบใช้ราคาของที่ดินผืนเดิมที่มีการซื้อขายซ้ำ (Repeat Sales Index) ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2019 ถึงมกราคม 2022 พบว่า ราคาที่ดินเพิ่มสูงถึงกว่า 12 เท่า
ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของที่ดินในโลกจริง และมีข้อสังเกตสำคัญว่าจากข้อมูลที่เผยแพร่เราไม่สามารถทราบได้เลยว่ามีการปั่นหรือสร้างราคาอันเกินจริงหรือไม่ นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของ Metaverse เมืองใหม่ ๆ อาจทำให้ราคาของที่ดินในเมืองที่สร้างมาก่อนปรับลดลง และราคาที่ดินที่สูงเกินไปอาจมีความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่แตกได้
2
ผู้เขียนยอมรับว่ามีโอกาสมากมายที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี metaverse ดังที่ได้กล่าวข้างต้น เราไม่ควรปิดกั้นและควรใช้เทคโนโลยีนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเตรียมพร้อมพัฒนาตนเองไว้ให้ดี
แต่ขณะเดียวกัน นอกจากมนุษย์เราต้องเป็นผู้พัฒนา ควบคุมและใช้เทคโนโลยี ไม่ให้เทคโนโลยีมาควบคุมชีวิตเราแล้ว ในแง่ของการเป็นนักลงทุนก็จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนจะลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุนเสมอครับ!
1
ผู้เขียน
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
2
*ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์*
1
หมายเหตุ: จักรวาลนฤมิตรเป็นการผสมคำระหว่าง “จักรวาล” ที่แปลว่า ขอบเขตหรือปริมณฑล กับ “นฤมิต” ที่แปลว่า สร้างหรือทำ ซึ่งโดยส่วนตัว ผู้เขียนชื่นชอบคำบัญญัติใหม่นี้มากเพราะทำให้เห็นภาพชัดเจน นั่นคือ จักรวาลหรือโลกที่มนุษย์อย่างเรา ๆ สร้างขึ้น หรือโลกเสมือนนั่นเอง
2
บทความดัดแปลงและขยายความเพิ่มเติมจาก
Mystakidis, S. (2022). Metaverse. Encyclopedia, 2(1), 486-497.;
1
Nakavachara, V., & Saengchote, K. (2022) Is Metaverse LAND a Good Investment? It Depends on Your Unit of Account! (Discussion Paper No. 172). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
1
Wang, Y., Su, Z., Zhang, N., Liu, D., Xing, R., Luan, T. H., & Shen, X. (2022). A survey on metaverse: Fundamentals, security, and privacy. arXiv preprint arXiv:2203.02662.
1
โฆษณา